เนื้อหาวันที่ : 2006-11-13 19:01:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 895 views

ธุรกิจฮัลโหลเดือด ร้อง ก.ไอซีที รื้อสัมปทานหลังเสียเปรียบคู่แข่ง

รมว.ไอซีที รับลูก ประกาศแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของธุรกิจมือถือทั้งระบบภายในรัฐบาลชุดนี้ หลังเกิดเรื่องวุ่น ทรู-ดีแทค จับมือร้องเรียนสัมปทานเสียเปรียบเอไอเอส ย้ำหากไม่แก้อาจถึงขั้นล้มละลาย ด้านเอไอเอสเรียกร้องดีแทค-ทรู หยุดให้ข่าวทำเอไอเอสเสื่อมเสีย ชี้สัญญาในอดีตต่างยอมรับเงื่อนไขกันเอง

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว รมว.ไอซีที รับลูก ประกาศแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของธุรกิจมือถือทั้งระบบภายในรัฐบาลชุดนี้ หลังเกิดเรื่องวุ่น ทรู-ดีแทค จับมือร้องเรียนสัมปทานเสียเปรียบเอไอเอส ย้ำหากไม่แก้อาจถึงขั้นล้มละลาย  ด้านเอไอเอสเรียกร้องดีแทค-ทรู หยุดให้ข่าวทำเอไอเอสเสื่อมเสีย ชี้สัญญาในอดีตต่างยอมรับเงื่อนไขกันเอง  ร้องสังคมตรวจสอบดีแทคได้สัมปทานคลื่นความถี่ 50 เมกะเฮิรตซ์ มากที่สุดในโลก แนะ 3 ทางออก แปรสัมปทาน รวมเจ้าของสัมปทานเป็นหนึ่งและโอนสัญญามาไว้ที่ทีโอที

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวภายหลังผู้บริหารของดีแทคและทรูมูฟเข้าร้องขอความเป็นธรรมในสัญญาสัมปทานที่เสียเปรียบเอไอเอสว่า จะตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมของธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั้งระบบให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานต้องดำรงอยู่ได้ หากปล่อยไว้จนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ยอมรับเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละสัญญาเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งจะตรวจสอบความไม่เป็นธรรมทั้งหมด เพื่อให้วงการสื่อสารไทยไม่ล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำสมุดปกขาวเปิดเผยข้อมูลสัมปทานให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริงด้วย

ทั้งนี้ ในข้อร้องเรียนของดีแทคและทรูมูฟ มีทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วยเอไอเอสได้รับการเอื้อประโยชน์ปรับลดส่วนแบ่งรายได้ของบริการมือถือแบบเติมเงินที่ไม่เท่าเทียม เอไอเอสไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมวงจรหรือแอ็คเซสชาร์จ การไม่ประกาศใช้เลขหมายเดียวใช้ได้กับทุกโครงข่าย หรือนัมเบอร์พอร์ทาบิลิตี้ และเอไอเอสลดอัตราค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำให้รายเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ 

ด้าน นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอ็ดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส  หรือเอไอเอส ซึ่งรับสัมปทานจาก บมจ.ทีโอที เปิดแถลงข่าวตอบโต้ข้อกล่าวหาว่า เอไอเอสไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือสัญญาสัมปทาน แต่ถูกกล่าวหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อเอไอเอส จึงขอให้ดีแทคและทรูมูฟยุติการให้ข่าวที่ทำให้เอไอเอสเสื่อมเสียชื่อเสียง ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ พร้อมระบุว่า ดีแทคให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จงใจปิดบังข้อมูลที่ตนได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการรับสัมปทานกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ทำให้ได้คลื่นความถี่สูงถึง 75 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมากที่สุดในโลก จุดนี้สังคมควรตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่  เพราะต่อมาได้แบ่งคลื่นความถี่ให้กับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัทดิจิตอลโฟน รายละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งสองรายก็สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเพียงพอแล้ว  ดังนั้น หากรัฐจะยึดคลื่นคืนเพื่อจัดสรรอีกครั้ง ก็จะสนับสนุนเต็มที่

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนที่เท่าเทียมจนมีการประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงเครือข่าย หรืออินเตอร์คอนเนคชั่น ชาร์จ ในต้นปีหน้า จะทำให้ดีแทคเสียหายถึงขั้นล้มละลาย เพราะต้องจ่ายค่าเชื่อมเครือข่ายแบบเดิมแก่ทีโอทีด้วย จึงเรียกร้องให้ทีโอทียกเลิกการจัดเก็บค่าเชื่อมเครือข่ายร้อยละ 18 สำหรับมือถือเติมเงิน และเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน สำหรับมือถือจดทะเบียน เพื่อใช้เงื่อนไขของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ในรูปแบบเดียวกัน

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรูฯ กล่าวหลังจากยื่นข้อร้องเรียนต่อ รมว.ไอซีที ว่า ได้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลชุดนี้ ที่ตั้งใจแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ส่วนผลจะออกมาอย่างไรไม่ได้คาดหวังมากนัก เพราะปัญหานี้พยายามมาหลายรัฐบาลแล้ว

ทั้งนี้ดีแทคได้แจงต้นทุนให้เห็นว่า เอไอเอส มีค่าใช้จ่ายคืนให้รัฐประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ ขณะที่ดีแทคและทรูมูฟ ต้องจ่ายถึงร้อยละ 40 รายได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดเอไอเอสมีอยู่ร้อยละ 52 ดีแทค ร้อยละ 30 และทรูมูฟ ร้อยละ 15 ทำให้เห็นว่าเอไอเอสมีอำนาจเหนือตลาด เมื่อใช้โปรโมชั่นราคาถูก ขณะที่ผู้บริหารเอไอเอสระบุการออกโปรโมชั่น ก็เพื่อรักษาฐานลูกค้า หลังจากถูกรายเล็กทำโปรโมชั่นราคาถูกก่อน.