เนื้อหาวันที่ : 2009-07-24 17:48:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1074 views

อภิสิทธิ์เผยรัฐบาลเตรียมเพิ่มสัดส่วนงบวิจัยเป็น 1% ของจีดีพี

อภิสิทธิ์ สั่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งจัดระเบียบการทำงานวิจัยในประเทศไทย เตรียมจัดงบสนับสนุนกว่า 1 แสนล้านบาท หวังต่อยอดให้ใช้ประโยชน์ได้จริง

นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี

.

นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งจัดระเบียบการทำงานวิจัยในประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเตรียมจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศให้สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.25-0.26% ของจีดีพี ให้เป็น 1% ของจีดีพี หรือราว 1 แสนล้านบาท

.

"ปัญหาสำคัญคือระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ ยังมีการทำวิจัยที่กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อนกัน ทำให้ขนาดงานวิจัยเล็กไม่สามารถต่อยอดหรือขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบที่ชัดเจนถึงโครงสร้างการจัดการงานวิจัยของประเทศ ที่จะผลักดันให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฯ ก้าวหน้าต่อไป" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 8 

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในเชิงพาณิชย์และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญขณะนี้ประเทศกำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจ การเมืองและวิกฤติอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาทางออกในการแก้วิกฤติเหล่านี้ 

.

ปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประการแรก ต้องพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มพูนนักวิทยาศาสตร์ในการจัดการปัญหาต่างๆ โดยต้องเพิ่มแรงจูงใจให้แก่นักวิจัย ประการที่สอง ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ภายในประเทศ ลดการนำเข้า และประการสุดท้าย ด้านกฏกติกา โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องดำเนินไปพร้อมกับค่าตอบแทนของนักวิจัย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้   

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังอยากให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการคือ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านการเกษตร ต้องมีการส่งเสริมศักยภาพทั้งในด้านการผลิต และการส่งออกให้สูงขึ้น รวมทั้งหากมีการปฏิวัติเขียวได้ยิ่งดี หมายถึงการปฏิรูปการเกษตรเสียใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารก็ต้องให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาพลังงานทดแทน