เนื้อหาวันที่ : 2006-03-10 14:53:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2370 views

ติ้วเข้มกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตสีและสารเคลือบผิวหวังเชิงพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่กลุ่ม SMEs ผู้ผลิตสีและสารเคลือบผิว เพื่อนำไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์

 

 โครงการ ITAP (สวทช.)เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่กลุ่ม SMEs ผู้ผลิตสีและสารเคลือบผิว  เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ และเป็นรากฐานสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึก ด้านผู้ประกอบการขานรับ นำความรู้ไปปรับใช้ได้จริง แนะควรจัดอย่างต่อเนื่อง

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Technology Assistance Program-ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology  Management Center-TMC)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการอบรมสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตสีและสารเคลือบผิว” (Technological Capability Improvement in Coating Industrial) แก่ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน และผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสีและเคลือบผิว โดยได้เชิญ Mr.Horst Falkenau ผู้เชี่ยวชาญด้าน paint. colour . และ adhesive จากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผลงานในด้านการพัฒนาสูตรสีที่ประสบผลสำเร็จให้กับเอกชนหลายบริษัทในต่างประเทศ และ ดร.นันทนา จิรธรรมนุกูล อาจารย์ภาควิชาวัสดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีงานวิจัยด้านโพลีเมอร์ที่มีผลงานการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง เป็นวิทยากรบรรยาย   โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 60 บริษัท

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า ตามที่โครงการ ITAP ได้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมสีและเคลือบผิวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทราบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมสีต้องการการพัฒนาทักษะ และความรู้ให้กับบุคลากรในด้านการผลิตและพัฒนาสูตรให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน และมีศักยภาพในด้านการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทันต่อการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น จึงได้จัดโครงการ การพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตสีและสารเคลือบผิวโดยเริ่มจากการจัดอบรมสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูงมาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อนำมาสู่การผลิตจริงในเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึกต่อไป

.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความรู้และทักษะในด้านการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นในต้นทุนที่แข่งขันได้ อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสีและเคลือบสีให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือการเกิดเครือข่ายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยร่วมมือกันในด้านการให้ความรู้และสามารถเกิดการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน

.

ด้าน นายสุชาติ เตียนโพธิทอง นายกสมาคมผู้ผลิตสีไทย กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตสีและสารเคลือบผิวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการคนไทยไม่ค่อยได้รับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กระทั่งปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการแข่งขันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมในการขายทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก

.

ITAP  คือ หน่วยงานหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งด้านการเงินและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการให้หมดไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ตลอดจนการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด การใช้กลยุทธ์ในการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุดคือการมีพันธมิตรหรือเครือข่ายทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้อยู่รอดได้ในเส้นทางธุรกิจนี้

.

ขณะที่ นายหาญเพียร มาคะสิระ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ซิค จำกัด ให้ทรรศนะว่า การอบรมครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก ในแง่ของผู้ที่ยังไม่มีพื้นฐานในเรื่อง Coating เลยเป็นการปูพื้นเพื่อจะนำไปสู่การทำงานซึ่งช่วยให้เข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ได้ความรู้เพิ่มขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาเป็นวิทยากรเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปีในบริษัทสีชั้นนำ จึงสามารถที่จะให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ดี

.

ส่วนในแง่ของบริษัทได้อย่างมากในเรื่องของการพัฒนาสูตรใหม่ๆ เพื่อแข่งขันทางด้านการตลาด เนื่องจากในส่วนที่บริษัททำตลาดอยู่คือสีซ่อมรถยนต์นั้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง

.

ก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญจาก ITAP เข้ามาดูแลให้คำปรึกษาในส่วนของการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของของคุณภาพสินค้าที่มีอายุสั้นเกินไป ตลาดไม่ค่อยยอมรับ หลังจากผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล้วได้แนะนำในเรื่องของเทคนิคในการใช้สารเคมีบางตัวที่เราไม่รู้จักขั้นตอนวิธีการใช้งาน เมื่อนำคำแนะนำมาปรับปรุงใช้งานแล้วก็มีผลดีขึ้น อายุการใช้งานยาวนานขึ้น

.

สำหรับ นางอุบลณี อังคศิริมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท นทีทองโพลีเมอร์ จำกัด  กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับ paper coating หรือการเคลือบเงา และลามิเนต ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาในเรื่องการผลิตลามิเนต ที่ผลิตออกมาแล้วเกิดการแยกชั้น คุณภาพไม่ได้ตรงตามที่ต้องการ จึงติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังITAP ซึ่งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลให้คำปรึกษาในระดับหนึ่ง ในที่สุดก็ทราบถึงสาเหตุของปัญหา และจัดการแก้ไขปัญหานั้นจนหมดไป กระทั่งบริษัทสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

.

การอบรมครั้งนี้เป็นการสร้างพื้นฐานเบื้องต้นให้ทราบถึงปัญหาและตัวแปรต่าง ๆ สามารถนำความรู้กลับไปพัฒนาปรับปรุง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พื้นฐานดีขึ้น หลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนด้านเทคโนโลยีนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม แต่จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ยังช่วยสร้างเครือข่ายให้ได้รู้จักกับผู้ประกอบการอื่น ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิด ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน