เนื้อหาวันที่ : 2006-11-11 12:57:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1277 views

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ร่วมกับเนคเทคพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับคนแรก

โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและความปลอดภัยของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องการใช้รถแต่ขับเองไม่ได้

 

10 พฤศจิกายน 2549 / ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โดย รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะผู้ประสานงานโครงการพัฒนารถอัจฉริยะ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่องานวิจัยอันจะสามารถขยายผลสู่เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งเพิ่งศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักวิจัยจาก 12 สถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้แก่ AIT, KMITL, KMUTT-FIBO, KMITNB, CU, TU, SIIT, KU, ม.กรุงเทพ มหิดล ม.นเรศวร, จปร. ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องของการสร้างเครือข่ายการทำงานวิจัยในสาขาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศให้เข้มแข็ง ประกอบกับการสร้างความร่วมมือของนักวิจัยไทยที่มีประสบการณ์ที่อยู่ในต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

a

สำหรับการวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนารถให้มีความเป็นอัจฉริยะ สามารถขับเคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่อีกแห่งหนึ่งได้ด้วยตัวเอง โดยปราศจากการบังคับของคน ผู้โดยสารเพียงแต่ทำการป้อนข้อมูลของสถานที่ที่จะไปเท่านั้น รถอัจฉริยะจะรับรู้ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์ เช่นอุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถ อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งของรถคันอื่นๆ ที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันหรือที่สวนทางมา อุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งกีดขวางบนเส้นทางการเคลื่อนที่ ทั้งที่อยู่กับที่ และเคลื่อนที่ อุปกรณ์ตรวจวัดเส้นแบ่งเส้นทางสัญลักษณ์ หรือสัญญาณจราจรอื่นๆ  อุปกรณ์การสื่อสารระหว่างรถอัจฉริยะด้วยกัน เป็นต้น แล้วนำข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้มาประมวลผลเพื่อกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ และควบคุมการเคลื่อนที่ของรถโดยอัตโนมัติอย่างปลอดภัย

a
โครงการวิจัยฯ นี้ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในส่วนการศึกษาต่างๆ ของระบบอัจฉริยะดังนี้

1.ส่วนบริหารโครงการรวม

2.ส่วนทางกล 

   -ระบบทางกลของรถอัจฉริยะ             

   -ระบบรองรับการสั่นสะเทือนแบบอัจฉริยะ

3.ส่วนทางไฟฟ้า

  -ระบบเครือข่ายแบบฉลาดและเชื่อถือได้สำหรับรถอัจฉริยะ
  -ระบบกำลังไฟฟ้าสำหรับรถอัจฉริยะ

4.ส่วนของอุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่าง 

   -ระบบการใช้สัญญาณภาพในการตรวจจับถนนและสิ่งกีดขวาง
  -ระบบนำทางบนรถอัจฉริยะ
  -ระบบการหลบหลีกและการแยกแยะ
5.ส่วนของระบบควบคุม
  -ระบบควบคุมของรถอัจฉริยะ
  -ระบบควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่
  -ระบบควบคุมเครื่องยนต์ และระบบควบคุมเบรกสำหรับรถอัจฉริยะ

6.ส่วนเชื่อมต่อกับผู้ใช้ในการแสดงผลและควบคุมทางไกล

a

รศ.ดร. มนูกิจ พานิชกุล สมาคมนักวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า จากปัญหาจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น การจราจรที่ติดขัดและอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้โครงการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับเกิดขึ้น โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและความปลอดภัยของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องการใช้รถแต่ขับเองไม่ได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังไปใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ และความมั่นคง โดยงบประมาณที่ต้องการจำนวน 27 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตรถต้นแบบได้ภายใน 3 ปี และภายในอีก 5 ปีจะสามารถผลิตมาใช้บนท้องถนนจริงๆ ได้

a

และเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านนี้จึงจัดการประกวดแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะ (Thailand Intelligent Vehicle Challenge) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก AIT, SEAGATE และ TRS งบประมาณของโครงการ 2.86 ล้านบาท ผู้ชนะจะต้องสามารถพัฒนารถไร้คนขับที่ขับไปบนเส้นทางที่กำหนด วิ่งได้ไกลที่สุด ทำเวลาที่ดีที่สุด และปฏิบัติตามกฎจราจรได้มากที่สุด ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ www.trs.or.th