เนื้อหาวันที่ : 2006-11-09 10:48:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2439 views

ความโกรธ : ความรู้สึกส่วนตัวทีอาจทำลายส่วนรวม

เราคงรู้จักว่าความโกรธคืออะไร และก็คงเคยรู้สึกโกรธแบบนี้กันมาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่รู้สึกโกรธขึ้นมาในช่วงเวลาสั้น ๆ

เราคงรู้จักว่าความโกรธคืออะไร และก็คงเคยรู้สึกโกรธแบบนี้กันมาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่รู้สึกโกรธขึ้นมาในช่วงเวลาสั้น ๆ จากความรำคาญหรือการถูกรบกวนแล้วก็หาย หรืออาจเคยรู้สึกโกรธจนตัวสั่น ดังนั้นไม่ว่าใคร ๆ ก็คงเคยรู้สึกแบบนี้หรือใกล้เคียง ซึ่งความจริงแล้วความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นส่วนตัวของแต่ละคน แต่เมื่อเป็นความโกรธที่เกิดขึ้นในองค์กร ระหว่างกระบวนการทำงาน การติดต่อสื่อสารกัน หรือการอยู่และทำงานร่วมกัน ความรู้สึกนี้อาจเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงได้ไม่ยากเลย

..

..
รู้จักกับความโกรธ

ความโกรธก็คือ อารมณ์ปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา แต่เมื่อเราไม่สามารถควบคุมความโกรธของตัวเองได้ ผลที่ตามมาจะเป็นตัวทำลายอะไรได้หลายอย่าง ความโกรธอาจกลายเป็นสาเหตุของปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาในการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือสามารถสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตของเราได้เลยทีเดียว ซึ่งคุณเองก็อาจจะตกอยู่ในอารมณ์แบบนี้เช่นกัน

..

ธรรมชาติของความโกรธ ความโกรธคือ สภาพอารมณ์ที่มีความผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงตามระดับความรุนแรงตั้งแต่การรู้สึกฉุนเฉียวหงุดหงิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงความเดือดดาลหรือโมโหอย่างรุนแรง แพทย์ทางจิตวิทยาบอกว่า ความโกรธก็เหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ นั่นคือมันจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาและชีววิทยา เพราะเมื่อคุณรู้สึกโกรธ ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นและชีพจรก็จะเต้นเร็วขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ฮอร์โมนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานในร่างกาย เช่น อะดรีนาลินก็จะเพิ่มขึ้น

..

สาเหตุของความโกรธนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน คุณอาจจะรู้สึกโกรธเพราะใครคนใดคนหนึ่ง เช่น เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน หรืออาจจะโกรธเพราะเหตุการณ์บางอย่าง เช่น รถติดหรือการถูกยกเลิกนัดหมาย นอกจากนี้ความโกรธอาจจะมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลหรือเคร่งเครียดกับปัญหาส่วนตัว หรือความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ซึ่งทำให้โกรธหรือฝังใจก็สามารถเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกขัดเคืองใจเช่นกัน

...

การแสดงออก ตามธรรมชาติและตามสัญชาติญาณของคนเราแล้ว เมื่อรู้สึกโกรธจะมีการตอบสนองหรือมีปฏิกิริยาในทางก้าวร้าว ความโกรธคือ ปฏิกิริยาธรรมชาติและมีอาการที่ปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโต้กับความรู้สึกถูกคุกคาม ซึ่งความโกรธจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกและพฤติกรรมที่มีอำนาจและมักจะเป็นไปในทางก้าวร้าว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่รู้สึกโกรธ ต่อสู้หรือปกป้องตัวเองเมื่อถูกกระทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่การมีความรู้สึกโกรธด้วยระดับที่แน่นอนไม่พลุ่งพล่าน ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เรารู้จักป้องกันตัวเองและเอาตัวรอด

..

แต่ในทางกลับกันนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงและทันทีต่อคนหรือสิ่งของที่ทำให้เรารู้สึกขัดเคืองหงุดหงิดและรำคาญ เพราะการอยู่ในสังคมนั้น จะมีทั้งกฎหมาย, วิถีการอยู่ร่วมกัน และความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่บอกเราเองว่า ความโกรธของเราจะมีข้อจำกัดสูงที่สุดในระดับใด

.

วิธีหรือกระบวนการที่คนเรานำมาใช้จัดการกับความโกรธนั้นมีทั้งแบบที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว 3 กระบวนการหลัก ๆ ที่มักจะใช้กันก็คือ การแสดงออก, การอดกลั้น และการทำให้ความโกรธสงบลง การแสดงออกซึ่งความรู้สึกโกรธของตัวเองอย่างชัดเจนแต่ไม่ก้าวร้าวนั้น ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดหากคุณจะเลือกใช้วิธีการแสดงออก และถ้าจะเลือกใช้การแสดงออกคุณก็ต้องเรียนรู้ว่าจะแสดงความต้องการของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน แล้วจะสามารถทำให้ได้สิ่งที่ต้องการตามนั้นได้อย่างไร โดยที่ไม่ทำร้ายผู้อื่น การแสดงความโกรธออกมาอย่างชัดเจนไม่ได้หมายความว่า คุณจะชอบระรานหาเรื่องคนอื่นหรือเอาแต่ใจตัวเอง แต่มันหมายถึงคุณมีความเคารพต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะการแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสมและไม่ได้ทำร้ายใคร ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าอายอยู่แล้ว

.

คุณสามารถเก็บกลั้นความโกรธเอาไว้ แล้วเปลี่ยนหรือมีแสดงความรู้สึกออกมาอีกอย่างหนึ่ง กระบวนการนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณเก็บความโกรธเอาไว้ แล้วเลิกนึกถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึกโกรธและนึกถึงแต่สิ่งที่ดี ๆ การกระทำแบบนี้ต้องการจะยับยั้งและระงับความโกรธของคุณไว้ แล้วเปลี่ยนให้เป็นพฤติกรรมที่สร้างสรรค์มากขึ้น แต่กระบวนการเก็บกลั้นยับยั้งความโกรธก็ยังคงมีอันตรายอยู่ เพราะการตอบสนองความโกรธด้วยกระบวนการนี้ ที่ความโกรธไม่สามารถแสดงออกมาได้ ความโกรธนั้นจะย้อนกลับเข้าหาตัวคุณเอง ซึ่งจะทำให้คุณเกิดความตึงเครียดในระดับที่สูงกว่าปกติ, ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น และจะเกิดความรู้สึกเก็บกด

.

ความโกรธที่ไม่ได้ระบายออกมาอาจเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นได้อีกมากมาย การเก็บความโกรธเอาไว้ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความโกรธออกมา เช่น การเลือกใช้วิธีแก้แค้นคนที่ทำให้รู้สึกโกรธทางอ้อม โดยที่ไม่ให้เหตุผลด้วยว่าเพราะอะไร แทนที่จะเผชิญหน้าแสดงออกโดยตรงว่ารู้สึกอย่างไร หรือการมีนิสัยที่ชอบเยาะเย้ยถากถางและไม่เป็นมิตรกับคนอื่น คนที่มักจะทำให้คนอื่นขายหน้า, วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ และคอยจะถากถางคนอื่นอยู่บ่อย ๆ นั้น คนเหล่านี้จะไม่สามารถเรียนรู้ที่จะระบายหรือแสดงความโกรธออกมาอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่คนลักษณะนี้จะไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและประสบความสำเร็จกับคนรอบข้าง

.

และสุดท้ายคือการเลือกใช้วิธีที่จะลดระดับความโกรธและระงับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านภายในของตัวเอง วิธีนี้นอกจากจะเป็นการควบคุมพฤติกรรมภายนอกแล้ว ยังเป็นการควบคุมการโต้ตอบหรือการมีปฏิกิริยาภายใน, เป็นการลดระดับความดันโลหิตไปอีกขั้น, การสงบอารมณ์โกรธของตัวเองลง และทำให้ความรู้สึกโกรธค่อย ๆ ลดลง

.
การจัดการความโกรธ เป้าหมายการจัดการกับความโกรธก็เพื่อลดทั้งความรู้สึกทางอารมณ์และสิ่งเร่งเร้าที่จะเป็นสาเหตุของความโกรธคุณจะไม่สามารถขจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งรอบกายและคนรอบข้างที่จะทำให้คุณรู้สึกโกรธ หรือเปลี่ยนสิ่งรอบตัวเหล่านั้น แต่คุณจะเรียนรู้ได้ว่าจะควบคุมปฏิกิริยาของตัวเองอย่างไร

 .

เหตุใดคนบางคนถึงรู้สึกโกรธรุนแรงกว่าคนอื่น ๆ มีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการกับความโกรธบอกไว้ว่า คนบางคนจะมีความหุนหันพลันแล่นมากกว่าคนอื่น ๆ โดยพวกเขาจะโกรธง่ายและโกรธรุนแรงกว่าที่คนทั่วไปรู้สึก และพวกเขาก็จะยังเป็นคนที่ไม่แสดงความโกรธออกมาในทางที่ชัดเจนแต่จะแสดงออกเป็นความรู้สึกขัดเคืองอยู่เนือง ๆ และมีอารมณ์บูดบึ้งอยู่บ่อย ๆ คนที่มักจะรู้สึกโกรธง่าย ๆ ไม่ได้แสดงออกด้วยการด่าทอหรือขว้างปาสิ่งของอยู่ตลอดเวลา เพราะบางครั้งพวกเขาก็จะแยกตัวเองออกจากสังคม รู้สึกหม่นหมองโดยไม่ปริปากพูดอะไรเลย หรืออาจจะแสดงออกมาทางการเจ็บป่วยทางกาย

 .

คนที่โกรธง่ายมักจะมีสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความอดทนต่อปัญหาอุปสรรคและความผิดหวังในระดับต่ำ หรือพูดง่าย ๆ คือ พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องยอมรับกับปัญหา ความผิดหวัง ความรู้สึกอึดอัด หรือความรำคาญ พวกเขาจะไม่สามารถอดทนกับอะไรได้ในระยะเวลานาน และพวกเขามักจะรู้สึกขัดเคืองถ้าต้องพบกับสถานการณ์ที่คิดว่าไม่ค่อยจะเหมาะจะควรสักเท่าไหร่

.

แล้วอะไรเล่าที่ทำให้คนบางคนเป็นเช่นนี้ สาเหตุของพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นจากหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเรื่องของกรรมพันธุ์และหรือทางร่างกาย เพราะมีการศึกษาบางอย่างที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เด็กบางคนเกิดมาเป็นคนที่ฉุนเฉียว, ขี้โมโห, และอารมณ์ร้อน ซึ่งสัญญาณของนิสัยเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนอีกสาเหตุที่น่าจะเป็นที่มาของความโกรธคือ วัฒนธรรมทางสังคม เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า ความโกรธ เป็นเรื่องไม่ดี เรามักได้รับการสั่งสอนมาว่า การแสดงออกถึงความกระตือรือร้น, ความกดดัน หรืออารมณ์อื่น ๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่การแสดงความโกรธออกมาเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยได้เรียนรู้ว่าจะจัดการกับความโกรธของตัวเองอย่างไรจึงจะเป็นทางที่สร้างสรรค์

.

นอกจากนี้แล้วยังมีการวิจัยที่ระบุว่า ความเป็นมาของครอบครัวเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในเรื่องนี้ด้วย คนบางคนที่โกรธง่ายมักจะมาจากครอบครัวที่แตกแยก, วุ่นวาย และไม่มีการสื่อสารด้านอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันอย่างมีทักษะที่ถูกต้อง

.
การแสดงอารมณ์ออกมาอย่างที่เราต้องการเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ นักจิตวิทยาบอกว่าการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างที่ใจเราต้องการนั้นเป็นเรื่องอันตราย เพราะบางคนจะนำความคิดนี้ไปใช้และการแสดงออกของพวกเขาก็จะทำร้ายผู้อื่นได้ มีงานวิจัยพบว่า การระบายอารมณ์โกรธของตัวเองออกมาจะทำให้ความโกรธและความก้าวร้าวนั้นยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากนั้นวิธีนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คุณหรือคนอื่นที่คุณรู้สึกโกรธอยู่แก้ไขสถานการณ์ได้
.

ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ การพิจารณาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของความโกรธที่เกิดขึ้น รวมทั้งอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้อารมณ์พลุ่งพล่านมากขึ้น จากนั้นจึงหาหนทางที่จะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์กำจัดสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นไม่ให้เป็นตัวเร่งอารมณ์ของคุณให้เดือดจนเกินขีดความอดทน

.
กลยุทธ์หยุดโกรธ

ความผ่อนคลาย         วิธีการผ่อนคลายง่าย ๆ อย่าง การหายใจลึก ๆ หรือการเลิกคิดในสิ่งที่ทำให้เราขัดเคือง คิดถึงแต่สิ่งที่ดีงามและสบายใจ เป็นต้น ซึ่งวิธีง่าย ๆ อย่างนี้สามารถลดอุณหภูมิความเดือดดาลของคุณลงมาได้แล้ว หรือถ้าจะหาหนังสือที่รวบรวมวิธีผ่อนคลายอารมณ์ขุ่นมัวมาอ่านบ้างก็ได้ ซึ่งถ้าคุณได้เรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายหรือควบคุมอารมณ์โกรธได้แล้ว คุณก็จะสามารถนำวิธีเหล่านั้นออกมาใช้เมื่อใดก็ได้ ถ้าคุณต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องติดต่อกับคนที่อารมณ์ร้อนเหมือนกัน การเรียนรู้วิธีขจัดอารมณ์ร้อน ๆ ไว้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะถ้าคุณต้องเสียงานเสียการไปเพียงเพราะอารมณ์ชั่วขณะของคนสองคน คงเป็นเรื่องที่คุณจะต้องกลับมาคิดเสียดายภายหลัง

.
ขั้นตอนง่าย ๆ ที่คุณลองทำดูได้

- หายใจลึก ๆ จากกระบังลม เพราะถ้าหายใจแค่จากตรงหน้าอกแล้วจะไม่ช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย นึกภาพตัวเองหายใจออกมาจากภายในลึก ๆ

- พูดกับตัวเองช้า ๆ ด้วยคำพูดเพื่อสงบอารมณ์ตัวเองลงมา อย่าง เย็นไว้ ๆหรือ ใจเย็น ๆเป็นต้น คุณควรพูดแบบนี้กับตัวเองขณะที่หายใจลึก ๆ

- ใช้จินตนาการ ลองนึกภาพประสบการณ์ที่ทำให้คุณผ่อนคลาย ไม่ว่าจะมาจากความทรงจำหรือจินตนาการของตัวเอง

- ทำกิจกรรมที่มีความผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังที่ไม่เร่งร้อนมากนัก คล้าย ๆ กับการเล่นโยคะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย และคุณเองก็จะรู้สึกสงบลงจากอารมณ์หงุดหงิดต่าง ๆ

- ลองทำสิ่งเหล่านี้ทุก ๆ วัน และค่อย ๆ หันมาใช้กิจกรรมเหล่านี้อย่างอัตโนมัติ เมื่อคุณต้องเจอกับสถานการณ์ที่เคร่งเครียดและเต็มไปด้วยความกดดัน

.

ปรับเปลี่ยนอย่างเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงความคิดบางอย่างของเรามีส่วนสำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ คนที่มีอารมณ์โกรธมักจะด่าทอ สาปแช่ง หรือพูดด้วยอารมณ์รุนแรงที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกภายใน ซึ่งเมื่อคุณมีอารมณ์โกรธเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความคิดของคุณมักจะเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก ลองใช้ความคิดใหม่ ๆ ที่มีเหตุผลกว่าเข้าไปแทนที่ อย่าง แทนที่คุณจะบอกตัวเองว่า ทำไมมันแย่อย่างนี้” “พังหมดเลยหรือ หมดกันก็บอกตัวเองเสียใหม่ว่า แย่จริง ๆ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าโลกจะแตกนี่นา แล้วโกรธไปก็ไม่ได้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นมาด้วยถึงแม้ว่าคุณจะคิดว่าความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุให้ต้องโกรธจริง ๆ ก็ตาม

.

พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดที่มีความหมายว่า ไม่เลยหรือ ”…ตลอดเลยอย่างพูดว่า ไอ้เครื่องนี้มันไม่ได้เรื่องเลยหรือ คุณลืมเรื่องสำคัญ ๆ ตลอดเลยเพราะคำพูดอย่างนี้นอกจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังจะทำให้คุณรู้สึกว่าความโกรธของคุณเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณแก้ปัญหาอะไรได้ด้วย

.

เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ความโกรธ ไม่ได้ช่วยแก้ไขให้ปัญหาอะไรดีขึ้น แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น ซ้ำจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกแย่ลงไปเสียด้วยซ้ำ

.

ความโกรธอาจเอาชนะเหตุผลได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมควรที่คุณจะโกรธ แต่มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล ดังนั้นคุณต้องใช้เหตุผลที่แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อเอาชนะอารมณ์โกรธ คิดเสียว่าคุณเพียงแค่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ราบเรียบในชีวิตเท่านั้น พยายามเตือนให้ตัวเองคิดแบบนี้เมื่อรู้สึกโกรธ เพราะความคิดนี้จะช่วยสร้างสมดุลให้ทัศนคติของตัวเราเอง

.

คนที่มีอารมณ์โกรธจะต้องการความยุติธรรม, การตระหนักยอมรับ, ความคิดเห็นในทางเดียวกัน และความเต็มใจที่จะทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ความจริงแล้วใครก็อยากจะได้สิ่งเหล่านี้กันทั้งนั้น และแทบจะทุกคนที่รู้สึกแย่และผิดหวัง เมื่ออะไร ๆ ไม่ได้อย่างที่คิด แต่คนที่มีอารมณ์โกรธเมื่อไม่ได้อย่างที่คิด ความผิดหวังที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนเป็นความโกรธ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ หรือถ้าเปรียบเทียบเป็นคำพูดง่าย ๆ คือ พูดว่า ฉันอยากจะได้…” แทนที่จะพูดว่า ฉันต้องได้…” หรือ ฉันต้องให้ได้เพราะการเปลี่ยนความคิดแบบนี้จะช่วยเปลี่ยนความผิดหวังเมื่อคุณไม่ได้ตามต้องการ คุณจะได้รับเพียงประสบการณ์ที่เป็นปฏิกิริยาธรรมดา คือ ความรู้สึกผิดหวังและความรู้สึกแย่ แต่จะไม่ถึงกับสร้างความโกรธให้กับพวกเขา เพราะคนที่มีอารมณ์โกรธเกรี้ยวบางคนจะใช้ความโกรธของตัวเองเพื่อเป็นวิธีหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกนั้นจะหายไป

.

การแก้ไขปัญหา บางครั้งความโกรธและผิดหวังจะเกิดขึ้นจากปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการดำเนินชีวิตของเรา แต่ไม่ใช่ว่าความโกรธจะเป็นเรื่องไม่ดีไปเสียหมด เพราะบางทีการตอบสนองเรื่องที่เป็นปัญหาอุปสรรคด้วยอารมณ์โกรธก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ต้องเก็บไว้จนทำร้ายตัวเอง ตามความเชื่อที่มีมาเรามักจะคิดว่าทุกปัญหามีทางออก ซึ่งความคิดนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำความผิดหวังของเราว่า ความเชื่อนั้นอาจไม่จริงเสมอไป ทัศนคติที่ดีที่สุดในการมองสถานการณ์เมื่อต้องเจอกับปัญหาให้ขัดอกขัดใจ คือ อย่ามัวไปนั่งคิดเลยว่าปัญหาที่เจอมีทางออกหรือไม่ แต่รู้จักจัดการสิ่งที่เจอตรงนั้นและเผชิญปัญหาอย่างเหมาะสมจะดีกว่า

.

วางแผนและคอยตรวจสอบด้วยว่าคุณได้ทำตามที่คิดไว้หรือไม่ คุณต้องแน่วแน่ที่จะเอาชนะปัญหา แต่ก็อย่าทำโทษตัวเองถ้ามีบางอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ถ้าคุณรู้จักจัดการปัญหาด้วยความตั้งใจและความบากบั่นที่แน่วแน่ที่สุด และพยายามที่จะเผชิญหน้าอย่างเต็มที่ โอกาสที่คุณจะหมดความอดทนก็จะน้อยลง ถึงแม้ปัญหาที่เจอไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ควร

.

พูดกันดีๆ หน่อย หากคุณกำลังอยู่ในการเจรจาหรือการประชุมที่เผ็ดร้อน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ใจเย็น ๆ และคิดถึงปฏิกิริยาตอบโต้ของตัวเอง อย่าพูดในสิ่งที่คุณคิดเป็นสิ่งแรกออกมาทันที แต่ต้องใจเย็นและคิดทบทวนสิ่งที่คุณต้องการจะพูดอย่างระมัดระวัง และในเวลาเดียวกันก็ต้องฟังคนอื่นอย่างตั้งใจว่าใครพูดอะไร และดึงเวลาให้กับตัวเองเพื่อคิดก่อนที่จะตอบโต้ออกไป

.

ฟัง แล้วคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธ บางครั้งคำพูดของคนรอบข้างอาจทำให้คุณรู้สึกไม่ดี แต่อย่าตอบโต้แบบไม่ได้ไตร่ตรอง การปกป้องตัวเองเมื่อถูกคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เราก็ไม่ควรแรงกลับเมื่อคนอี่นแรงมา เนื่องจากบางครั้งการที่คนอื่นพูดเหมือนทำร้ายความรู้สึกของคุณ เพราะพวกเขาอาจกำลังน้อยใจและต้องการความใส่ใจจากคุณ เลยต้องหาคำพูดมาเหน็บแนมเพื่อเรียกร้องความสนใจกันบ้าง เพราะฉะนั้นคุณต้องใจเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นการบ่อนทำลาย

.

อารมณ์ขัน การใช้อารมณ์ขันเพื่อดับอารมณ์พลุ่งพล่านเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยคุณได้ดีทีเดียว คิดอะไรให้เป็นภาพที่มันง่ายและสบายอารมณ์มากขึ้น เพราะอารมณ์ขันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เหตุการณ์บนกองไฟกลายเป็นอยู่ในตู้เย็นได้ แทนที่คุณจะด่าว่าคนที่โกรธว่าเขาเป็นอะไร ก็นึกภาพไว้ในใจแทนว่าคุณคุยกับสิ่งหรือตัวอะไรสักอย่างอยู่แทน ไม่ต้องพูดออกมา แต่มีสิ่งที่ต้องระวังอยู่ด้วย คือ อย่าหัวเราะเยาะปัญหาของตัวเอง เพียงแต่ใช้อารมณ์ขันเผชิญปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และอย่าใช้อารมณ์ขันอย่างเชือดเฉือนหรือเสียดสี เพราะนั่นจะเป็นเพียงการระบายอารมณ์โกรธอย่างไม่สร้างสรรค์อีกทางหนึ่งเท่านั้น

.

เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม บางทีสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นกระทันหันเป็นสาเหตุให้เกิดความโกรธและอารมณ์หงุดหงิด ปัญหาและหน้าที่รับผิดชอบอาจเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเหมือนติดกับดัก และคนรอบข้างดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สร้างกับดักเหล่านั้นขึ้นมา ดังนั้นลองให้เวลาตัวเองเพื่อสำรวจว่าอะไรคือต้นเหตุของอารมณ์บูด ๆ ของคุณกันแน่

.

วิธีอื่น ๆ ปลีกย่อย การหาเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยเป็นวิธีง่าย ๆ ที่คุณควรใส่ใจ เช่น แทนที่คุณจะพูดคุยเรื่องหนัก ๆ กับสมาชิกในบ้านที่เพิ่งจะกลับมาจากทำงาน ก็ให้เวลาพวกเขาได้ดื่มน้ำ อาบน้ำ นั่งพักดูเสียก่อน แล้วค่อยคุยกัน, การหลีกเลี่ยงสาเหตุของความโกรธ ถ้าเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่มักจะทำให้เราโกรธและหัวเสีย ก็พยายามอย่าเข้าไปยุ่ง เช่น การเห็นห้องลูกไม่เป็นระเบียบ ก็ลองปล่อยว่างเรื่องเล็กของเด็ก ๆ เขาดูบ้าง หรือการหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง เช่น การเปลี่ยนเส้นทางไปทำงาน ถ้าเส้นทางที่ใช้อยู่ทุกวันมันรถติดจนหัวเสียแต่เช้า ก็ลองใช้ทางอื่นดูบ้าง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ดีต่างกันสักเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ได้หาอะไรที่ต่างออกไปให้กับตัวเอง

.
ความโกรธกับความอยู่รอดขององค์กร
จัดการกับพนักงานขี้โมโห          อารมณ์โกรธเป็นปัจจัยที่อาจทำลายความก้าวหน้าขององค์กร ทำให้ไม่สามารถทำตามเป้าหมายงานที่ตั้งไว้ได้ หัวหน้างานหรือผู้ที่อยู่ในระดับบริหารจะมีส่วนช่วยจัดการเรื่องนี้ และจะเป็นผู้ที่จะสร้างบรรยากาศอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับพนักงาน
.

มีสถานการณ์เกี่ยวกับอารมณ์โกรธและความขัดแย้งอยู่หลายแบบที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรของคุณ ซึ่งแต่ละสถานการณ์ก็มีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องการทักษะในการจัดการที่ไม่เหมือนกัน เช่น พนักงานโกรธหรือขัดแย้งกัน, พนักงานโกรธหรือขัดแย้งกับหัวหน้างาน หรือพนักงานโกรธหรือขัดแย้งกับคนในองค์กรอื่น เป็นต้น

.

คุณหรือไม่ว่า ความโกรธที่คุณมองเห็นสามารถจัดการได้ง่ายกว่าความโกรธที่พนักงานไม่ได้แสดงออกมาให้คุณรับรู้ได้ และถึงแม้พนักงานส่วนใหญ่จะแสดงออกมา การแสดงออกนั้นก็ไม่ได้แสดงออกมาให้หัวหน้างานเห็นโดยตรง และความโกรธประเภทนี้เองที่จะทำลายองค์กร เพราะจะทำให้เกิดการกระทำลับ ๆ ด้านลบในองค์กร เช่น แทงกันข้างหลัง, ความไม่ร่วมมือกันทำงาน, การปล่อยข่าวทำร้ายกัน และการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ

.

งานของหัวหน้างาน คือต้องตี่นตัวเพื่อระบุให้ได้ว่ามีอารมณ์ขุ่นมัวของพนักงานแอบซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของคนในองค์กรแล้วไม่ได้แสดงออกมาหรือไม่ ถึงแม้คุณอาจรู้สึกท้อแท้อยู่บ้างที่ต้องรับผิดชอบในการค้นหาและแก้ไขอารมณ์ขึงเครียดแบบนี้ แต่มันก็เป็นหน้าที่ที่มีส่วนสำคัญเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีที่ความขัดแย้งสามารถคลี่คลายได้ เพราะถ้าคุณรอจนพนักงานเป็นคนชี้ให้เห็นเสียเอง คุณอาจต้องเสียประโยชน์ขององค์กรไปมากแล้ว

.
หลักการพื้นฐานเพื่อรับมือ

1.   ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่มีแต่ความโกรธเคืองจะกลายเป็นปัจจัยลบและสามารถทำลายองค์กรได้ เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขรับมืออย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายแก้ไขไปในทางที่ดี ก็มีแนวโน้มว่าทีมงานจะเข้มแข็งและมีคุณภาพมากขึ้น

.

2.  เมื่อพนักงานแสดงออกมาว่าต้องการให้คุณรับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ พวกเขาก็ต้องการปฏิกิริยาที่มีความสำคัญเท่า ๆ กับหรือมากกว่าเรื่องของตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้รับการเอาใจใส่ พวกเขาต้องการให้มีคนรับรู้ ถ้าคุณไม่มีการเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ไว้ พวกเขาก็จะเลือกใช้วิธีที่ไม่น่ารักเท่าไรเพื่อให้มีคนรับฟัง

.

3.  พนักงานจะคอยมองดูคุณอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่าคุณจะจัดการกับความโกรธที่แสดงออกโดยตรงกับคุณอย่างไร แม้ว่าคุณจะพูดคุยกับพนักงานเป็นการส่วนตัว แต่เรื่องนี้ก็ต้องกระจายออกไป ความสามารถในการเป็นผู้นำของคุณจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรม

.

4.  คนส่วนใหญ่ตอบโต้ความโกรธเคืองของผู้อื่นโดยการไม่หนีก็สู้ อาจมีการตอบโต้กันด้วยการตาต่อตาฟันต่อฟัน, ปกป้องตัวเอง หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการปะทะกัน แต่มีคนไม่มากนักที่คนเราจะมีปฏิกิริยาที่มาจากภายในที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์

.
กลยุทธ์และเทคนิคเพื่อจัดการพฤติกรรม

1.  เมื่อคุณเห็นแล้วว่าพนักงานแสดงความโมโหโกรธเคืองออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน รีบหาทางจัดการกับสิ่งที่คุณเห็นให้เร็วที่สุด แต่อย่าคิดว่า 2 สัปดาห์เป็นระยะเวลาที่ถือว่าเร็ว คุณต้องทำให้เร็วกว่านั้นอีก การที่คุณแสดงออกว่าต้องการหาเวลาเพื่อพูดคุยกับพนักงานที่มีปัญหา ก็เท่ากับว่าคุณกำลังแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณห่วงใยและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของพวกเขาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่สร้างปัญหาให้ ปัญหาประสิทธิภาพการทำงานที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่ใส่ใจเพื่อรับรู้และแก้ไขปัญหาความโกรธหรืออารมณ์ขุ่นมัวของพนักงาน

.

2.  สถานการณ์บางอย่างต้องการความเป็นส่วนตัวในการเจรจาและพูดคุยกัน เพราะบางคนอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะต้องพูดความรู้สึกของตัวเองต่อหน้าคนอื่น ๆ ในที่ประชุม แต่ถ้ามีพนักงานบางคนแสดงความโกรธออกมาในที่ประชุม สิ่งที่คุณต้องทำคือการทำให้บรรยากาศอันร้อนระอุในองค์กรผ่อนคลายลงโดยการจัดการเรื่องนี้อย่างเฉียบคมในภาวะที่เป็นสาธารณะแบบนั้น วิธีหนึ่งคือการถามพนักงานคนนั้นว่า เขาหรือเธอต้องการพูดคุยเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจตอนนี้ในที่ประชุมเลย หรือว่าต้องการจะคุยกันส่วนตัว ให้พนักงานเป็นคนเลือกทางที่พวกเขาพอใจ

.

3.  ให้โอกาสพนักงานได้แสดงความคิดความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ โดยคุณต้องไม่ขัดจังหวะด้วย แต่ถ้าพนักงานของคุณลังเลใจที่จะพูด ก็พยายามกระตุ้นพวกเขาด้วยคำพูด น้ำเสียง และท่าทีที่ใส่ใจและไม่ใช่เตรียมจะตั้งรับฝ่ายตรงข้าม และก็ควรเลือกใช้คำถามที่สุภาพไม่ขวานผ่าซากด้วย

.

4.  หากพนักงานปฏิเสธที่จะพูดคุยปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ลองให้โอกาสพวกเขากลับไปตัดสินใจกันอีกครั้ง แต่ในกรณีที่พนักงานจะพูดคุยกับคุณเลย ก็ควรใช้การเจรจาดังต่อไปนี้

.

5.  มีการตอบสนองต่อความรู้สึกของพนักงานเป็นอย่างแรก ไม่ใช่จะเจาะเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหา เพราะคุณต้องใส่ใจในความรู้สึกซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อนก่อน และพนักงานก็จะรับรู้ถึงสิ่งนี้ได้ชัดเจนด้วย

.

6.  ก่อนที่คุณจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องของพนักงานออกไป ต้องแน่ใจก่อนว่าคุณได้รับฟังพนักงานอย่างเข้าใจดีแล้ว และก็เริ่มต้นคำพูดของตัวเองด้วยการทวนความเข้าใจของคุณว่าตรงกับสิ่งที่พนักงานบอกออกมาหรือไม่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า คุณได้รับฟังพวกเขาอย่างดีแล้ว

.

7.  ถ้าคุณมีความคิดเห็นหรือมุมมองต่อปัญหาแตกต่างกับพนักงาน ก็พยายามอธิบายสิ่งที่คุณคิดให้เสมือนว่าอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา เพราะสิ่งที่คุณต้องทำนั้น ไม่ใช่พิสูจน์ว่าพนักงานของคุณนั่นแหละที่ผิด (ถึงแม้ว่าความจริงแล้วพวกเขาจะผิดก็เถอะ) การที่คุณทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นคนผิดเสียเองนั้นจะยิ่งทำให้พวกเขามีความโกรธเคืองยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม

.

8.  เทคนิคของนักต่อรองมืออาชีพใช้คือ การสร้างความเห็นที่ตรงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นหลัก คุณควรหาปัจจัยแวดล้อมที่คุณและพนักงานมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณอยู่ข้างพวกเขา

.

9. เมื่อจบการพูดคุยกันแล้ว ต้องตรวจสอบด้วยว่าพนักงานรู้สึกอย่างไร โดยเริ่มตรวจสอบที่ความรู้สึก แล้วก็ตรวจสอบประเด็นการแก้ปัญหา จากนั้นย้อนกลับมาตรวจสอบความรู้สึกอีกรอบหนึ่ง

.

ถามพนักงานของคุณว่าพวกเขารู้สึกพอใจกับทางออกของปัญหาที่พูดคุยกันหรือไม่ หรืออาจถามด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น คุณรู้สึกดีขึ้นหรือยัง แต่คุณอาจไม่ได้รับคำตอบที่แท้จริงนัก ดังนั้นคอยสังเกตน้ำเสียงและกิริยาอาการของพวกเขาด้วย หากคุณเห็นว่าพวกเขายังรู้สึกไม่ดีหรือมีอารมณ์โกรธอยู่ คุณอาจปล่อยให้มันผ่านไปก่อน ให้พวกเขาได้มีเวลาคิดเองเป็นการส่วนตัว จากนั้นวันหรือสองวันค่อยติดตามผล ที่ต้องทำแบบนี้เพราะบางคนอาจรู้สึกเสียหน้าถ้ายอมหายโกรธทันที และบางคนก็อาจจะต้องการเวลาเพื่อคิดถึงเรื่องที่ได้พูดคุยไป