เนื้อหาวันที่ : 2009-07-20 13:59:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1027 views

ศูนย์วิจัยฯ คาดแบงก์ไทยผ่านจุดต่ำสุดเข้าสู่การฟื้นตัว H2/52

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อเศรษฐกิจจะหดตัวน้อยลงและพลิกเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52 อานิสงส์จากภาคการส่งออกเริ่มฟื้น และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

.

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตขึ้นจากครึ่งปีแรก ภายใต้มุมมองที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะหดตัวน้อยลงและพลิกเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก ตลอดจนความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ                  

.

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตในอัตราเร่งถึงประมาณ 1.5-3.0 แสนล้านบาท เทียบกับครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะหดตัว 1.0-1.5 แสนล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจ ครัวเรือน รวมถึงภาครัฐ ประกอบกับช่วงครึ่งปีหลังมักเป็นช่วงฤดูกาลที่ธนาคารพาณิชย์มักจะเร่งผลักดันสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายรายปี ซึ่งรายได้ค่ธรรมเนียมก็มีโอกาสเติบโตตามธุรกรรมที่จะคึกคักขึ้นด้วย 

.

ขณะที่การระดมเงินฝากอาจจะเข้มข้นมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยจะเผชิญกับการแข่งขันจากการออมในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉฉพาะการออกตราสารหนี้ของภาครัฐและเอกชน ขณะที่คาดว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาศปรับตัวลดลง แต่ก็ยังอาจจะสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะเผชิญข้อจำกัดด้านอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไรหรือการเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ตสินทรัพย์ในภาพรวม คงขึ้นกับความก้าวหน้าในการขยายสินเชื่อเป็นหลัก 

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ช่วงไตรมาส 2/52 ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/25 และมีโอกาสจะพลิกกับมาเป็นบวกได้จากที่ติดลบไป 2.7% ในไตรมาส 1/52 ที่เชื่อว่าจะเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักรธุรกิจในรอบนี้แล้ว ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2/52 อาจไม่ลดลงจากในไตรมาส 1/52 ที่ 3.29% และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

.

ปัจจัยหนุนความสามารถในการทำกำไรดังกล่าวทั้งสำหรับในไตรมาส 2/52 และในช่วงที่เหลือของปี 52 ที่สำคัญมาจากโอกาสการฟื้นตัวของสินเชื่อ ตามสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นอกจากนี้ การทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากที่ต่ำลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงก่อนหน้านี้ ยังเป็นผลดีต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน 

.

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจหลักดังกล่าวยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ทำให้ยังคงมีความเปราะบาง ขณะที่สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจก็ยังมีความซับซ้อนอีกหลายประการที่เป็นโจทย์ในการดำเนินงานที่สำคัญในระยะถัดไป 

.

ปัจจัยแรก ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ทั้งจากความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัจจัยที่สอง การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในด้านสินเชื่อที่มักนำมาสู่การแข่งขันด้านราคา อันจะสร้างข้อจำกัดด้านรายได้ในระยะต่อไป 

.

ปัจจัยที่สาม ปัญหาด้านคุณภาพหนี้ที่อาจยังไม่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีแล้ว ก็ยังจะมีผลกดดันรายได้ดอกเบี้ยรับแท้จริงจากเงินให้สินเชื่อในภาพรวมได้ ปัจจัยที่สี่ แนวโน้มการระดมเงินฝากอาจเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การแข่งขันออกผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่นำเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป อันจะเพิ่มภาระด้านต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ 

.

ปัจจัยที่ห้า คือ อัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องส่วนเกินที่แม้ว่าปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็อาจยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เข้าสู่จังหวะขาขึ้น ทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมต้องฝากความหวังไว้ที่การขยายสินเชื่อเป็นสำคัญ