เนื้อหาวันที่ : 2009-07-14 14:15:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2525 views

อะไรๆก็โทษคอเลสเตอรอล

เมื่อได้ยินคำว่าคอเลสเตอรอล มีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักและยังทำให้หลายคนเกิดขยาดขึ้นมาทันที บางคนถึงกับเรียกมันว่า "ไขมันตัวร้าย"

สุกัญญา โกจันทึก  (chanel_korn@hotmail.com)   
.

เมื่อได้ยินคำว่าคอเลสเตอรอล มีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักและยังทำให้หลายคนเกิดขยาดขึ้นมาทันที บางคนถึงกับเรียกมันว่า "ไขมันตัวร้าย" ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยเริ่มจากทำให้ความดันโลหิตสูง และร้ายแรงขึ้นถึงกับเป็นตัวอุดตันเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจจนทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือที่เรียกว่า "หัวใจวาย" 

.

.

ซึ่งก็เป็นความจริงค่ะ แต่ความจริงที่จริงมากกว่าก็คือ คอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้หัวใจวาย และหากทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าคอเลสเตอรอลไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่คิด

.

คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีอยู่เกือบทุกส่วนในร่างกาย เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสำคัญ เช่น ฮอร์โมนเพศ ที่ทำให้ผู้หญิงมีเต้านม มีเสียงนุ่มอ่อนหวาน มีเอวคอด และทำให้ผู้ชายมีเสียงทุ้ม มีหนวดและกล้ามเนื้อกำยำสมชายชาตรี คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตวิตามินดีที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ผลิตกรดน้ำดีสำหรับย่อยอาหาร และยังเป็นส่วนประกอบหลักของเซลล์ทุกเซลล์ตั้งแต่เซลล์สมอง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตับ ลำไส้ และหัวใจ 

.

ด้วยความที่คอเลสเตอรอลเป็นสารที่จำเป็นมาก ร่างกายจึงไม่ค่อยรอคอเลสเตอรอลจากอาหาร แต่จะผลิตออกมาได้เองประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคอเลสเตอรอลที่ร่างกายต้องการทั้งหมด แหล่งผลิตคอเลสเตอรอลหลักๆอยู่ที่ตับ และจะลำเลียงไปยังอวัยวะเป้าหมายผ่านทางกระแสเลือด การที่ไขมันอย่างคอเลสเตอรอลสามารถลอยตัวอยู่ในกระแสเลือดได้ ต้องอาศัยตัวพาคือโปรตีน เมื่อคอเลสเตอรอลรวมกับโปรตีนจะเกิดเป็นสารประกอบที่เรียกว่าไลโปโปรตีน(lipoprotein) ซึ่งทำให้คอเลสเตอรอลมีคุณสมบัติเป็นทั้งชนิดดีและชนิดร้าย  

.

โดยตัวที่มีความหนาแน่นต่ำ(LDL) มีหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลออกจากตับไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นตัวที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันหากมีปริมาณมากเกิน เราจึงเรียกว่า "คอเลสเตอรอลชนิดร้าย" ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดที่มีความหนาแน่นสูง(HDL) ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลที่ตกค้างในส่วนต่างๆของร่างกายไปทำลายที่ตับ เรียกสารชนิดนี้ว่า "คอเลสเตอรอลชนิดดี" และคอเลสเตอรอลจะมีชนิดดีมากกว่าหรือร้ายมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตและกรรมพันธุ์ของแต่ละคนค่ะ

.

สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดคือเราเชื่อว่าอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงจะทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตามไปด้วย ทำให้อาหารบางชนิดซึ่งเป็นอาหารที่อุดมคอเลสเตอรอล เช่น ไข่ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล กลายเป็นของต้องห้าม ส่วนอาหารที่บนฉลากเขียนว่า "ไม่มีคอเลสเตอรอล" กลับให้ความรู้สึกปลอดภัยและได้รับความไว้วางใจ ทั้งๆที่อาหารชนิดนั้นอาจมีน้ำตาลสูงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคอ้วน มีเกลือปริมาณมากที่เป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยของการเกิดโรคหัวใจทั้งสิ้น

.

การสูบบุหรี่ การกระหน่ำกินแป้งขาวและน้ำตาล การไม่ออกกำลังกาย รวมถึงการดำเนินชีวิตแบบมีความเครียดเรื้อรังต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหัวใจและเป็นตัวแปรเปลี่ยนสารมากประโยชน์อย่างคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นไขมันตัวร้าย เมื่อเกิดความเครียดจะมีฮอร์โมนไปกระตุ้นเซลล์ไขมันให้ปล่อยไขมันเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้รับมือกับสถานการณ์ความเครียดที่เกิดขึ้น

.

นั่นก็คือกลไกการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดหนาแน่นต่ำหรือชนิดร้าย และความเครียดยังกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงอีกด้วย ส่วนการสูบบุหรี่เป็นการกระตุ้นการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งนักวิจัยยืนยันแล้วว่าปัจจัยนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าระดับคอเลสเตอรอลเสียอีก ดังนั้นบางคนมีระดับคอเลสเตอรอลสูงโดยกรรมพันธุ์และวัย แต่หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไม่เครียดมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอและไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไปค่ะ

.

แท้จริงแล้วคอเลสเตอรอลในอาหารมีผลต่อคอเลสเตอรอลในเลือดน้อยมาก หลายการวิจัยให้ผลสอดคล้องแล้วว่า สำหรับคนทั่วไปที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดปกติ สามารถกินไข่ได้ 4 ฟองต่อสัปดาห์โดยไม่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ส่วนคนที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว ก็ต้องระวังอาหารอย่างอื่น ไม่เพียงไข่และอาหารทะเล เนื่องจากวัตถุดิบที่ร่างกายใช้ผลิตคอเลสเตอรอลแหล่งใหญ่ๆ ไม่ใช่คอเลสเตอรอลจากอาหารแต่เป็นไขมันอิ่มตัวจากอาหารต่างหาก

.

ถึงอย่างไร ไข่ก็เป็นอาหารที่มีสารอาหารสูง ทั้งโปรตีน วิตามินบี12 ที่ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ส่วนอาหารทะเลก็เป็นแหล่งของแร่ธาตุทั้งสังกะสี ไอโอดีน หากเป็นห่วงสุขภาพหัวใจ แทนที่จะปฏิเสธการกินอาหารเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ลองเปลี่ยนมาปรับปรุงปัจจัยด้านอื่นที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจดีกว่าค่ะ