เนื้อหาวันที่ : 2006-11-07 21:09:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 854 views

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ SMEs ก.ย.ลดฮวบอยู่ที่ 41.0

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนไตรมาส 3 ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.0 ผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ฉุดให้ผู้ประกอบการลดความกังวล

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนไตรมาส 3 ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.0 ผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ฉุดให้ผู้ประกอบการลดความกังวล

.

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกันยายน 2549 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 41.0 จากระดับ 41.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.7 จากระดับ 30.4 แต่ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเองของ SMEs ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 34.6 จากระดับ 36.6

.

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นประจำเดือนกันยายน 2549 นี้ สาขาธุรกิจที่มีระดับความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงสูงสุด คือ ภาคบริการ โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.1 จากระดับ 49.1 ส่วนค้าส่งสินค้าเกษตร ก็มีระดับความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในระดับสูง คือ อยู่ที่ระดับ 39.5 จากระดับ 44.1 ขณะที่ค้าปลีกสมัยใหม่ มีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุด คือ อยู่ที่ระดับ 38.3 จากระดับ 40.2 ส่วนสาขาธุรกิจที่ดัชนีเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ บริการด้านการขนส่ง อยู่ที่ระดับ 46.1 จากระดับ 38.4 รองลงมาคือ ค้าส่งวัสดุก่อสร้าง อยู่ที่ระดับ 42.1 จากระดับ 37.5

.

ในส่วนความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีภาคการค้าและบริการ ภาคค้าส่งและค้าปลีก และภาคบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.6 48.1 และ 49.3 จากระดับ 45.1 43.9 และ 46.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ เกือบทุกสาขาธุรกิจมีระดับความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นเพียงภาคบริการสันทนาการที่ปรับตัวลดลง สำหรับสาขาธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าปลีกดั้งเดิม สินค้าอุปโภค/บริโภค โรงแรม การขนส่ง เป็นต้น

.

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในครั้งนี้ พบว่า เหตุการณ์ปฏิรูปการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไม่มากนัก เนื่องจากการดำเนินการเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว ในส่วนได้รับผลกระทบก็คือ กิจการด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่เข้าใจสถานการณ์ จึงมีการยกเลิกการเข้ามาท่องเที่ยว รวมทั้งลดระยะเวลาท่องเที่ยวในประเทศไทย

.

นางจิตราภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของไตรมาสที่ 3/2549 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2549 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 40.0 จากระดับ 39.3 สาขาธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน สันทนาการ วัสดุก่อสร้าง ท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของดัชนีด้านต้นทุน พบว่าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากความเชื่อมั่นต้นทุนรายเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย.49) ฉุดให้ดัชนีด้านต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยมีผลมาจากการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลด้านต้นทุนไปได้ระดับหนึ่ง.