เนื้อหาวันที่ : 2009-07-14 10:11:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2956 views

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า (3) : เขาทำอะไร อย่างไร ที่แม่เมาะ

ไม่ว่าใครจะมอง "กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า" อย่างไร มันก็ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ปัจจุบันมีกองทุนที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด 72 กองทุน การตั้งเงินกองทุนเป็นสิ่งที่โรงไฟฟ้าทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน แต่นั่นจะเป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ

มุทิตา เชื้อชั่ง

.

.

ไม่ว่าใครจะมอง "กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า" อย่างไร มันก็ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ปัจจุบันมีกองทุนที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด 72 กองทุนทั่วประเทศ 

.

กฟผ. เก็บเงินจากค่า Ft

ล้านบาท 

หมายเหตุ 

ก.ค.-ธ.ค.50  (6 เดือน) 

887.60  

ค่า Ft เฉลี่ย 0.017 บาท/หน่วย 
ม.ค.-ธ.ค.51 (12 เดือน) 

1,778.19 

ค่า Ft เฉลี่ย 0.0126 บาท/หน่วย 
ม.ค.-มี.ค.52 (3 เดือน) 

425.26

ค่า Ft เฉลี่ย 0.0129 บาท/หน่วย 
ก.ค.50-มี.ค.52 (21 เดือน) 

3,091.06  

ค่า Ft เฉลี่ย  0.0126 บาท/หน่วย 
โอนเงินให้กองทุนที่จัดตั้งแล้วเสร็จ

2,497.23
 
2,497.26

เฉพาะเงินต้น
 
รวมดอกเบี้ย หักภาษี1%และค่าโอน  
ที่มา: http://www.eppo.go.th/cdf/data_name_list.html  เมื่อเดือนกรกฎาคม2552
.
พูดง่ายๆ ว่า ยิ่งโรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่ ขายไฟให้ กฟผ.ได้เยอะ เงินในกองทุนก็ยิ่งมาก  
.

กรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงนับเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2,400 เมกกะวัตต์ และเป็นกองทุนฯ ที่มีเงินก้อนโตที่สุดเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้วมีเงินเข้ากองทุนถึงปีละราว 300 ล้านบาท  

.

5 อันดับกองทุนฯ ที่ใหญ่ที่สุด ยอดเงินนำส่งในช่วงเดือน ก.ค.50 - มี.ค.52

ลำปาง กองทุนฯ จังหวัดลำปาง 577,834,111.48 
ระยอง กองทุนฯ นิคมฯมาบตาพุด    452,014,249.10 
ราชบุรี   กองทุนฯ บ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จก. และ บ. ราชบุรีเพาเวอร์ จก. 366,855,684.16 
ฉะเชิงเทรา กองทุนฯ บางปะกง 186,936,477.24 
อยุธยา   กองทุนฯ วังน้อย 172,967,605.65

ที่มา: http://www.eppo.go.th/cdf/data_name_list.html  เมื่อเดือนกรกฎาคม2552

.

กองทุนฯ นี้เพิ่งก่อตั้งมาได้ปีกว่าๆ ขณะที่โรงไฟฟ้าก่อตั้งมาแล้ว 30 กว่าปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้าที่จะมีความพยายามประนีประนอมระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับโรงไฟฟ้าในรูปของเงินกองทุนมาบ้างแล้ว เช่น ราวปี 2541 หลังสิทธิของประชาชนและชุมชนได้รับการรองรับในรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ก่อตัวชัด ทำให้โรงไฟฟ้าต้องตอบสนองความต้องการดังกล่าวโดยตั้งกองทุนและให้เงินอุดหนุนปีละ 50 ล้านบาท ต่อมาปี 2548 ได้มีการเปลี่ยนเป็นสมาคมพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร 

.

อนุพงษ์ สุริยวงศ์ ชาวบ้านที่นั่นเล่าว่า การใช้เงินในกองทุนค่อนข้างเป็นไปอย่างจับฉ่าย แม้จะเน้นที่การส่งเสริมอาชีพและให้ประชาชนกู้ปีต่อปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 เมื่อมีการแปรสภาพเป็นสมาคมก็ได้กำหนดให้ชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิก และเสียค่าบำรุงสมาคมรายปีอีก โดยที่กรรมการนั้นได้รับการเลือกตั้งเพียงปีแรกปีเดียวและต่อมาไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย 

.
ความยืดหยุ่นในการจัดโครงสร้าง-สรรหากรรมการกองทุน

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2550 มีการตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีคณะกรรมการ 19 คน ตามระเบียบการจัดตั้งกองทุนกำหนดไว้ว่า กรรมการภาคประชาชนต้องมากกว่ากึ่งหนึ่ง ภาคประชาชนจึงมีกรรมการ 10 คน เป็นของอำเภอแม่เมาะ 7 คน อำเภอแม่ทะ 1 คน อำเภอเมือง 1 คน และที่เหลืออีก 10อำเภอคัดสรรกันมาอีก 1 คน

.

การได้มาของกรรมการภาคประชาชน 7 คนในอำเภอแม่เมาะนั้นได้มาจากการตั้งกรรมการสรรหาของแต่ละตำบล ซึ่งมีอยู่ 5 ตำบล โดยมีผู้นำชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลนั้นๆ เป็นกรรมการสรรหา ส่วนวิธีการสรรหาก็ค่อนข้างยืดหยุ่นสูง แล้วแต่วิธีการของแต่ละพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีก 2 คน คนหนึ่งมาจากกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอ เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่มอาชีพ ตัวแทนทั้งหมดมาประชุมกันแล้วเลือกตัวแทนกลุ่มมา 1 คน อีกคนหนึ่งจะมาจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านของอำเภอ 

.

ขณะที่คณะกรรมการภาครัฐ มีนายอำเภอ 1 คน ซึ่งได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกด้วย ปลัดอำเภอ 1 คน พัฒนาการจังหวัด 1 คน พลังงานจังหวัด 1 คน ซึ่งเป็นเลขานุการด้วย ผู้แทน กฟผ.  1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วย ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากการสรรหาของคณะกรรมการภาคประชาชนนั่นเอง และทั้งหมดนี้คัดสรรประธานกันเองซึ่งก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

.

เสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะ ระบุว่า เมื่อกระทรวงพลังงานให้งบประมาณลงมา ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนใหญ่ 70% หรือราว 200 ล้านบาทจะมาอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ อีก 30% หรือราว 100 ล้านบาทจะลงไปตามอำเภอต่างๆ รอบนอก 

.

ในการจัดการกองทุนแม่เมาะ จะมีอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการและแผนงานของกองทุน โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการชุดนี้ เรียกว่าเป็น "ชุดใหญ่" ของระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ส่วนในระดับตำบลก็มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของตำบล ในระดับหมู่บ้านก็ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน ที่จะจัดทำประชาคมหมู่บ้าน แผนชุมชน เพื่อนำเสนอโครงการต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการตำบล และคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป 

.

"ดังนั้น ของแม่เมาะนี้แบ่งเป็นหลายชั้น โครงการต่างๆ จึงมาจากระดับหมู่บ้านจริงๆ ทางราชการ หน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่เพียงแค่ประคับประคองให้ดำเนินการกันไปตามระเบียบ วัตถุประสงค์ของกองทุนให้ได้ ส่วนการจัดการอยู่ที่หมู่บ้านทั้ง 42 แห่ง ซึ่งจะต้องจัดทำแผนโครงการขึ้นมา" 

.

"เชื่อไหมว่างบเราแต่ละปีมีแค่ประมาณ 200 ล้าน แต่ช่วงจัดทำแผนแต่ละหมู่บ้านที่เสนอระดับตำบล แล้วเอาเข้าแผนรวมของอำเภอ งบประมาณรวม 2,000 กว่าล้าน ต้องคัดสรรให้เหลือ 200 ล้าน มันยากที่จะไปกระจายให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ผมคิดว่าไม่เกิน 5 ปีก็น่าจะลงตัว" นายอำเภอแม่เมาะกล่าว

.

สำหรับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีกองทุน นายอำเภอระบุว่า มีลักษณะ "มั่ว" พอสมควร เพราะไม่มีแผน มีเพียงแนวทางกว้างๆ แล้วต่างคนก็ต่างเสนอมา 

.
"แต่ประเมินแล้วก็เห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ จะถูกจะผิดยังไงก็แล้วแต่เขาจะบริหาร"
.

เสริมศักดิ์ระบุว่า ปีนี้ทางอำเภอมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอไว้ และได้ประสานกับคณะกรรมการกองทุน ให้ใช้แนวทางของแผนการนี้ในจัดการกองทุนมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงานจะได้มีกรอบ ทิศทาง ที่ถูกต้อง โดยให้ประชุมประชาคม แล้วรวบรวมเป็นแผนงานเสียก่อน รวมทั้งทำการประมาณการคร่าวๆ งบประมาณเอาไว้ 

.
สารพันโครงการ 2,000 ล้าน คัดเหลือ 200 ล้าน 

แผนดังกล่าวมีการกำหนดลักษณะโครงการที่จะดำเนินการไว้ว่า โครงการต้องสอดคล้องตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนฯ คือ ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนในเรื่องดังต่อไปนี้

1)    สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ
2)    สนับสนุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา และดนตรี
3)    สนับสนุนการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
4)    สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต
5)    บรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า
6)    อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด 
.

"เราคำนวณว่าปีหนึ่งจะมีกองทุนตกมาที่อำเภอจริงๆ โดยประมาณ 200 ล้าน เราก็เอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง แล้วจัดสรรงบประมาณในพื้นที่อำเภอต่างๆ ให้เขานำเสนอแนวทาง เอาศักยภาพของหมู่บ้าน ปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง มาทำเป็นแผน แล้วนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ โดยเน้นในเรื่องของปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนยังขาด เช่น แหล่งน้ำ ถนน สุดท้ายดูปัญหาที่กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยที่เรียกร้องให้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ" นายอำเภอแม่เมาะกล่าว

.

เขาบอกด้วยว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีการเร่งรัดการจัดทำแผนของชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จึงโชคดีได้เอาแผนของชุมชนมารวมกัน โครงการไหนที่ดูล้าสมัยไปแล้วก็ประชุมประชาคมกันใหม่ ใช้เวลาเกือบ 3-4 เดือนจึงนำมารวมกันเป็นเล่มใหญ่ (ขนาดน้องๆ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542)

.

ถ้าดูสถิติปีที่แล้วจะเห็นว่าโครงการส่วนใหญ่มุ่งไปในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในปีนี้ก็เช่นกันนายอำเภอระบุว่าถึงอันดับโครงการยอดฮิตที่ถูกนำเสนอในแผนรวม 3 ปี ของอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ว่าคือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากร การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพขององค์กรของรัฐ  การพัฒนาศักยภาพของประชาชน การแก้ปัญหายาเสพติด การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาศึกษา ฯลฯ 

.
ที่เป็นเช่นนี้ นายอำเภอให้เหตุผลว่า ไม่ว่าอย่างไรเรื่องอาชีพ เรื่องเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่ยังขาดแคลนกันในหลายพื้นที่ และเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากที่สุด 
.

"งบประมาณมันไม่เคยตกมาในพื้นที่หมู่บ้าน เช่น แม่สร้าง บ้านกลาง ถึงเวลาหน้าฝนทีเขาเข้าอำเภอไม่ได้ เขาก็อยากให้ทำที่มันจำเป็นเร่งด่วนก่อน งบประมาณอย่าว่าแต่ 200 ล้านเลยในระดับอำเภอ ต่อให้เป็นพันล้านก็ไม่พอ ปีสองปีที่จะถึงนี้ งบประมาณที่จะลงโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่า แหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ การขุดลอก การดูแลทรัพยากร ถนนหนทาง งบประมาณมีเท่าไรก็ไม่พอ เพราะมันขาดอีกเยอะเท่าที่ทำกันมา แต่ถ้าจะลงตรงนั้นไปหมด เรื่องอื่นๆ จะทำอย่างไร เช่น การศึกษา สาธารณสุข ดังนั้น เราก็ต้องลงพร้อมกันทุกด้าน แล้วจัดลำดับว่าแต่ละด้านอันไหนสำคัญกว่ากัน" 

.

"ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้า แม่เมาะเป็นเมืองผลิตไฟฟ้าแต่จ่ายเงินเท่าคนอื่นทุกอย่าง เขาก็เรียกร้องว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่แหล่งผลิตไฟฟ้า ทำไมจ่ายเงินเท่าคนอื่น เราก็ต้องเอาเงินตรงนี้จัดสรรลงไปทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท" เขากล่าว

.

แผนปฏิบัติการปี 2552-2554 ที่ตำบลสบป้าดเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ

ลำดับ

ประเภทแผนงาน

จำนวนโครงการ

งบประมาณ 3 ปี / ล้านบาท

1

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 

204

279.62

2

ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ

100

80.67

3

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต

96

73.22

4

ด้านการพัฒนาอาชีพ 

192

67.02

5

ด้านศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี 

80

48.47

6

ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรฯ

32

31.16

7

ด้านการศึกษา

90

23.18

8

ด้านสาธารณสุข 

103

23.24

9

ด้านกีฬา และดนตรี 

32

15.11

10

ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

15

6.14

11

ด้านอื่นๆ 

18

4.24

12

ด้านบรรเทาสาธารณภัย

3

3.00

13

ด้านการเพิ่มศักยภาพองค์กรภาครัฐ

-

-

14

ด้านการเพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาชน

-

-

15

ด้านการจัดทำผังเมืองรวมชุมชน

-

-

16

ด้านพลังงานหมุนเวียน

-

-

ที่มา: สรุปแผนปฏิบัติการปี 2552-2554 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง อำเภอแม่เมาะ

.

เมื่อถามว่า ทำไมการเยียวยาผู้ป่วย ผู้ได้รับผลกระทบจึงอยู่ลำดับท้ายๆ นายอำเภอแม่เมาะตอบว่า เรื่องนี้ต่างคนก็ต่างคิดเห็น หากถามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็มักได้คำท้วงติงเช่นนี้ 

.

"ถ้าถามคนส่วนใหญ่คนบ้านดง จางเหนือ นาสัก เขาบอกเขาคนแม่เมาะเหมือนกันก็มีสิทธิมีส่วนเหมือนกัน ในขณะที่เขาก็เรียกร้องอพยพ เขายังไม่ได้นะ ทำไมคนบางส่วนได้รับการอพยพแล้ว ต้องดูแลกันต่อเนื่องกันไม่รู้จักจบจักสิ้นหรืออย่างไร  เราหน่วยงานกลางก็ต้องกระจายให้เท่าเทียมกัน"

.

สำหรับความกังวลว่าจะซ้ำซ้อนกับบทบาทขององค์กรปกครองส่าวนท้องถิ่นนั้น นายอำเภอฟันธงว่า ตัดทิ้งไปได้ "ท้องถิ่นไม่มีตังค์เลย อบต.ลึกๆ ข้างใน ถนนยังไม่มีปัญญาสร้างเลย มีก็น้อย แล้วที่สำคัญคือ กองทุนฯ กับ อปท. ต้องเอาแผนทั้งหมดมารวมกัน แล้วแยกสัดส่วนกันไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน"

.

ในด้านการตรวจสอบ แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับที่นายอำเภอส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล  2.มีฝ่ายตรวจสอบภายใน โดยขอผู้มีความชำนาญจากภาครัฐมาช่วย 3.มีผู้ตรวจบัญชี โดยจ้างมืออาชีพเข้ามาตามมาตรฐาน ทั้งหมดเป็นหน่วยงานอิสระไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการกองทุน ส่วนการบริหารจัดการภายใน ซึ่งนายอำเภอยืนยันว่าได้ตั้งคณะทำงานควบคู่ขึ้นมาด้วย เป็นคณะทำงานกำกับดูแลติดตามและให้การสนับสนุนอนุกรรมการระดับตำบลด้วย โดยในปีนี้นายอำเภอจะออกมาเป็นฝ่ายตรวจสอบ กำกับดูแลอย่างชัดเจน ผิดจากปีที่แล้วซึ่งนายอำเภอลงไปทำงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาโครงการด้วย 

.

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของกรรมการกองทุนคนหนึ่งที่เป็นภาครัฐ เขาได้ประเมินกองทุนไว้ว่า ในด้านของจุดแข็งคือเม็ดเงินที่เข้ามาเยอะพอสมควร และยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาบริหารจัดการอย่างสะดวก 

.

ในขณะที่จุดอ่อน คือ การที่ระเบียบยังไม่ชัด ต่างคนก็ต่างมุ่งมากองทุนโดยไม่มองส่วนอื่นๆ เลย ยกตัวอย่าง เช่น ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะสะดวกกว่าภาคราชการเยอะ แต่ก็มีโอกาสที่ภาคประชาชนที่บริหารเงินกันเองจะพลาดได้ ทางอำเภอจึงแก้ไขโดยให้ใช้ระเบียบการพัสดุเพื่อความถูกต้อง โปร่งใส แม้จะได้รับเสียงโวยจากประชาชนว่า ราชการเข้ามาควบคุมอีกแล้ว!

.

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนในมุมมองของนายอำเภอแม่เมาะ คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ของการจัดทำแผนอย่างชัดเจน ในพื้นที่แม่เมาะเพิ่งเอาจุดอ่อนมาจัดทำแผนปีนี้ให้มีทิศทางการใช้งบประมาณมากขึ้น ส่วนการสรรหากรรมการอาจมีข้อบกพร่องบ้าง ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกองทุนจึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการมาปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนให้ชัดเจนขึ้น โดยกำลังดำเนินการอยู่ เช่น เรื่องที่มาคณะกรรมการกองทุน จะให้เป็นอย่างไร ให้เป็นการเลือกตั้งทั้งหมดไหม หรือจะเป็นคณะกรรมการสรรหาแบบการสรรหาองค์กรอิสระ 

.

ท้ายสุดคือ การประชาสัมพันธ์นี่อ่อนมากทั้งกับประชาชนในพื้นที่และกับสังคมโดยรวม 

.

ทั้งหมดนี้คือมุมมองของนายอำเภอแม่เมาะที่เข้าไปมีบทบาทในการจัดระบบเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างสำคัญ ในตอนหน้าเราจะมาฟังเสียงคนในพื้นที่แม่เมาะจากมุมต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาการเข้าถึง รับรู้เรื่องราวของกองทุนที่แตกต่างกันไป

.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

รายงาน: กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เครื่องมือใหม่แก้ไขความขัดแย้ง? (1)
รายงาน กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า(2): มุมมอง "เดชรัตน์ สุขกำเนิด"

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท