เนื้อหาวันที่ : 2006-11-07 14:07:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5809 views

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องน้ำมัน

น้ำมันถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ปัจจุบัน น้ำมัน ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และค่าขนส่งสูงขึ้นรวมไปถึงส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า และนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ในที่สุด ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ว่า Inflation by Cost Push สำหรับคอลัมน์ในครั้งนี้คณะผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวของน้ำมันในฐานะที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี่ยงระบบอุตสาหกรรมทั้งหมดของโลกทุกวันนี้

.
น้ำมัน : ปฐมบทของการแย่งชิงทรัพยากรโลก

กระบวนการวิเคราะห์สินค้าและบริการเชิงเศรษฐศาสตร์มักพิจารณาใน 2 ด้าน คือ ด้านอุปสงค์ (Demand) และด้านอุปทาน (Supply) เช่นเดียวกันเมื่อเราวิเคราะห์น้ำมันในฐานะเป็นสินค้าชนิดหนึ่งเราจะพบว่า อุปสงค์ของน้ำมันส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เพราะน้ำมันเป็นปัจจัยในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดพลังงาน โดยเฉพาะเป็นปัจจัยสร้างพลังงานให้กับยานยนต์ทุกชนิด    ดังนั้นทุกคนบนโลกใบนี้จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมัน   อย่างไรก็ตามน้ำมันมิใช่เป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายดั่งเช่น    น้ำธรรมดา น้ำมันจึงจัดเป็นทรัพยากรที่หายาก บริโภคแล้วหมดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้อุปทานของน้ำมันมีอยู่อย่างจำกัด ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันมีเพียงไม่กี่รายจึงมีอำนาจในการควบคุมการผลิตและการค้าน้ำมันของโลกได้

.

แน่นอนว่าเวลาเราเอ่ยถึงผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมัน เราจะนึกถึงกลุ่มประเทศ OPEC (Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิรัก อิหร่าน คูเวต เป็นต้น นอกเหนือจากกลุ่ม OPEC แล้วยังมีบริษัทน้ำมันจากอเมริกาและยุโรปที่มีอิทธิพลต่อการค้าน้ำมันโลก บริษัทเหล่านี้รวมตัวกันและขนานนามตัวเองว่า Seven Sisters

.

กลุ่ม Seven Sisters ประกอบด้วยบริษัทน้ำมันจากอเมริกา 5 แห่ง และจากยุโรป 2 แห่ง ได้แก่ Exxon หรือ Standard oil of Newjersy (US)  Mobil หรือ Standard oil of New York (US) Chevron หรือ Standard oil of California (US) Caltex บริษัทร่วมทุนระหว่าง Texaco กับ Chevron  Gulf oil (US) Royal Dutch Shell บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฮอลแลนด์ และB.P. (British Petroleum)

.

กลุ่มบริษัทในเครือ Standard Oil นับเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดประกอบไปด้วย Exxon, Mobil และ Chevron เป็นบริษัทน้ำมันของตระกูล Rockyfeller ซึ่งแทบจะผูกขาดการผลิตการค้าน้ำมันของอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

.

ประวัติศาสตร์การแย่งชิงทรัพยากรน้ำมันเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามจบลงอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ  ในยุโรปเริ่มขยายตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการแสวงหาแหล่งน้ำมันราคาถูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นและในปี 1920 อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลง San Remo ขึ้นโดยมีสาระสำคัญคือให้ทั้งสองประเทศสามารถถืออภิสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันบริเวณดินแดนเมโสโปเตเมีย (ซึ่งปัจจุบันคือ อิรัก คูเวต และ ซาอุดิอาระเบีย) ทั้งนี้หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราคาน้ำมันจากบ่อน้ำมันในตะวันออกกลางตกบาร์เรลละ 10 เซนต์ เท่านั้น (1 บาร์เรลเท่ากับ 158.98 ลิตร) ซึ่งนับว่าถูกมากและเหลือเฟือเพียงพอสำหรับอังกฤษและฝรั่งเศส        ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงกีดกันห้ามมิให้ประเทศอื่นเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในดินแดนแถบนี้

.

ต่อมาในปี 1928 กลุ่ม Standard Oil ได้ขยายอิทธิพลการค้าน้ำมันมากขึ้นโดยทำสัญญาตกลงร่วมมือกับบริษัทน้ำมันจากยุโรป เช่น B.P. และ Shell เพื่อจัดตั้งกลุ่ม Seven Sisters ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการผลิตและการค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันและอังกฤษอีกทางหนึ่ง

.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการผลิตน้ำมันของโลกแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศสที่เสื่อมทรุดไปเพราะภาวะสงคราม จนกระทั่งปี 1950 บริษัทน้ำมันของอเมริกา เริ่มตระหนักว่าการผลิตน้ำมันจากบ่อภายในประเทศมีต้นทุนสูงจึงลดการผลิตลง และหันไปนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางมากขึ้นจนทำให้อเมริกากลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก  ด้วยเหตุนี้เองรูปแบบการล่าอาณานิคมแบบใหม่จึงปรากฏขึ้นหลังจากสงครามโลกสิ้นสุด ลัทธิจักรวรรดินิยมมิได้เข้ามาโดยใช้นโยบายเรือปืนเหมือนแต่เดิม  หากแต่เข้ามาโดยอาศัยการค้าการลงทุนข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อเข้ามาดูดซับทรัพยากรราคาถูกจากประเทศอาณานิคมแล้วไปขายเอากำไรสูง ๆ

.

กรณีน้ำมันก็เช่นกัน เมื่ออังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกาเข้ามาครอบครองแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง โดยอาศัยบริษัทน้ำมันบังหน้าและมีรัฐบาลของประเทศเหล่านี้หนุนหลัง ผลที่ตามมาคือ การขูดรีดเอารัดเอาเปรียบประเทศเจ้าของทรัพยากรและนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสชาตินิยม ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน

.

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเติบโตขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาและการไม่พัฒนาของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักที่อธิบายเรื่องนี้นักคิดสาย Neo Marxist กลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านระบบทุนนิยมแบบตลาดเชื่อว่าประเทศจักรวรรดินิยมเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการด้อยพัฒนา โดยประเทศเหล่านี้ได้ขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของประเทศอาณานิคม แนวคิดสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ ได้แก่ แนวคิดเรื่อง Center –Periphery (เมืองศูนย์กลาง-เมืองบริวาร) ของ Gunder Frank     นักเศรษฐศาสตร์ชาวเดนมาร์กและแนวคิดเรื่อง Dependency Theory ของ Dos Santos

.

GunderFrank เชื่อว่าความด้อยพัฒนามาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองศูนย์กลางกับเมืองบริวาร เมืองศูนย์กลางก็คือประเทศจักรวรรดินิยมทั้งหลายซึ่ง Frank เรียกมันว่า Center หรือ Metropolist ประเทศเหล่านี้จะควบคุมการผลิต และดูดซับทรัพยากรจากเหล่าประเทศบริวาร ดังนั้นยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศศูนย์กลางกับประเทศบริวาร ยิ่งแน่นแฟ้นเท่าไรประเทศบริวารก็จะยิ่งไม่พัฒนามากขึ้นเท่านั้น เพราะจะถูกดึงทรัพยากรไปสู่ประเทศจักรวรรดินิยม ในทางกลับกันหากความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นไปอย่างหลวม ๆ แล้ว ประเทศบริวารก็จะสามารถพัฒนาตนเองได้  ขณะที่ Dos Santos ได้อธิบายทฤษฎีการพึ่งพาของเขาไว้ว่าความสัมพันธ์แบบพึ่งพา ทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งขึ้นอยู่กับการพัฒนาหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแยกออกเป็นทางการค้าและทางการเงิน โดยทางการค้าผู้ผูกขาดจะมีอำนาจควบคุมตลาดประเทศที่พึ่งพาได้และ  จะดึงดูดทรัพยากรของประเทศเหล่านั้นกลับสู่ประเทศตนเอง  ส่วนทางการเงินจะอาศัยวิธีการให้กู้ยืมหรือเคลื่อนย้ายเงินทุนและดึงดูดส่วนเกินทางเศรษฐกิจกลับในรูปของดอกเบี้ย

.

หากเราย้อนกลับไปดูเรื่องราวเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมัน เราจะเห็นได้ว่าประเทศจักรวรรดินิยม เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกาล้วนแล้วแต่เป็น Metropolist ดังที่ Frank อธิบายไว้ว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าไปดูดใช้ทรัพยากรน้ำมันจากประเทศบริวารในดินแดนตะวันออกกลาง โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลักซึ่ง Dos Santos ได้กล่าวไว้ในเรื่องของการพึ่งพา ดังนั้น ยิ่งประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันยิ่งแน่นแฟ้นกับประเทศศูนย์กลางมากเท่าไร ประเทศเหล่านี้ก็จะมีแต่ถูกขูดรีดถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ร่ำไป

.

จนกระทั่งในทศวรรษที่ 50 ซาอุดิอาระเบีย เริ่มมองเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทน้ำมันข้ามชาติล้วน  เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแหล่งน้ำมันราคาถูกในตะวันออกกลาง จึงเริ่มเจรจาต่อรองกับบริษัทน้ำมันเหล่านี้เพื่อขอเพิ่มค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโดยมีเงื่อนไขว่าทั้ง 2 อย่าง เมื่อรวมกันต้องเป็นครึ่งหนึ่งของกำไรที่บริษัทน้ำมันได้รับซึ่งในที่สุดบริษัทน้ำมันก็ต้องยินยอม ผลการเจรจาต่อรองครั้งนี้ทำให้ประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันเริ่มมองเห็นความสำคัญของน้ำมันในอนาคตว่าสามารถเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองได้

.

ในปี 1960 กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ซาอุฯ อิหร่าน อิรัก คูเวต และ เวเนซูเอล่า ได้รวมตัวกันก่อตั้ง องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ หรือ OPEC โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขอแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทน้ำมันรวมทั้งใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองกับเหล่าประเทศจักรวรรดินิยมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเอง ปัจจุบัน OPEC มีสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ มีปริมาณส่งออกคิดเป็นร้อยละ 85 ของน้ำมันที่ส่งออกทั้งโลกและกลายเป็นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันที่มีอิทธิพลต่อการค้าน้ำมันโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

.

การก่อตั้งกลุ่ม OPEC นอกจากจะเป็นการรวมกลุ่มของประเทศเจ้าของทรัพยากรแล้วยังถือได้ว่าประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมทั้งหลายได้สลัดพ้นซึ่งความสัมพันธ์ในฐานะที่เคยเป็นเมืองบริวารออกจากเมืองศูนย์กลาง และได้สร้างอำนาจต่อรองใหม่โดยใช้ทรัพยากรเป็นเครื่องมือ  OPEC เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับตนเองเริ่มต้นจาก ลิเบีย ขอต่อรองเพิ่มส่วนแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทขุดเจาะน้ำมันของอังกฤษและฝรั่งเศสโดยขอปรับราคาประเมินราคาน้ำมันดิบ   ซึ่งทำให้ลิเบียมีรายได้จากภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น วิธีการดังกล่าวทำให้ประเทศในกลุ่มสมาชิก OPEC ตระหนักว่าการจะเพิ่มรายได้จากน้ำมันให้แก่ประเทศตนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เพิ่มการส่งออกเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเพิ่มราคาประเมินที่ใช้อ้างอิงในการเก็บภาษีด้วยและการเพิ่มราคาประเมินนี้เองที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ค้าน้ำมันสามารถผลักภาระต้นทุนเหล่านี้มายังผู้บริโภคน้ำมันได้  ตามหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเราถือว่าถ้าสินค้าประเภทใดมีความยืดหยุ่นต่อราคาสินค้าต่ำ กล่าวคือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณ พูดง่าย ๆ ก็คือ แม้ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากแต่ปริมาณการบริโภคหาได้ลดลงมากเท่าใดนัก  ดังนั้นเมื่อรัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้นผู้ผลิตสินค้าจึงสามารถผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคได้

.

ในช่วงทศวรรษที่ 70 OPEC ใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่นความสำเร็จในการขอเพิ่มราคาประเมินจากบริษัทน้ำมันตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทขุดเจาะน้ำมันด้วย แม้ว่าบริษัทน้ำมันจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการควบคุมตลาดแต่อิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ยังมิได้หมดไปเสียทีเดียว กล่าวคือบริษัทยังเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน เจ้าของแท่นขุดเจาะ เจ้าของโรงกลั่นน้ำมัน และ เจ้าของเรือขนส่ง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมาได้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันหรือ Oil Shock มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี 1973 และครั้งที่สองปี 1979 1980 ผลพวงของ Oil Shock ทำให้เศรษฐกิจโลกซวนเซไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

.
เอกสารประกอบการเขียน

- ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(2547) , น้ำมัน  สถานการณ์พลังงานกับกระบวนการทัศน์ใหม่ด้านพลังงานทางเลือก

- เบญจพร ทังเกษมพัฒนา , การพัฒนาเศรษฐกิจเบื้องต้น