เนื้อหาวันที่ : 2009-07-10 12:17:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2378 views

มหันตภัยไวรัสกลายพันธุ์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1)

หลังจากที่มวลมนุษยชาติได้เผชิญกับการระบาดของโรคซารส์ และไข้หวัดนกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่งอีกทั้งต้องสังเวยชีวิตไก่เป็นจำนวนกว่าหลายล้านตัว ซ้ำยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่เหมือนเคราะห์กรรมของมวลมนุษยชาติยังไม่จบง่าย ๆ มหันตภัยตัวใหม่ก็มาปรากฏโฉมหน้าให้ต้องผวากันอีกครั้ง เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2552 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนลุกลามไปทั่วโลก

ศิริพร วันฟั่น            

. 

หลังจากที่มวลมนุษยชาติได้เผชิญกับการระบาดของโรคซารส์ (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยมีชะมดเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ) และไข้หวัดนกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่งอีกทั้งต้องสังเวยชีวิตไก่เป็นจำนวนกว่าหลายล้านตัว ซ้ำยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่เหมือนเคราะห์กรรมของมวลมนุษยชาติยังไม่จบง่าย ๆ    

 .

และแล้วมหันตภัยตัวใหม่ก็มาปรากฏโฉมหน้าให้ต้องผวากันอีกครั้ง เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งการระบาดของโรคได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนเมษายน ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย.52 พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 59 ราย   

 .

ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า ป่วยด้วยโรคเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน ที่มีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย จำนวน 18 ราย ต่อมามีการพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 20 ราย ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเดียวกัน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 มลรัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก มลรัฐนิวยอร์ก  8 ราย แคนซัส 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต        

 .

แต่เนื่องจากเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ และข้อมูลการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดเป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดครั้งใหญ่ขยายไปสู่ประเทศอื่น องค์การอนามัยโลกจึงส่งผู้เชี่ยวชาญไปดำเนินการประสานงานป้องกันควบคุมโรคร่วมกับรัฐบาลเม็กซิโก รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 .

ต่อมา ข่าวการระบาดหนักของโรคไข้หวัดใหญ่ในหมู หรือไข้หวัดหมู (Swine Flu) สายพันธุ์ใหม่ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก และบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็แพร่สะพัดทำให้ผู้คนทั้งโลกตระหนกตกใจเข้าไปอีก โดยนาย โฮเซ่ อังเคล คอร์โดวา รัฐมนตรีสาธารณสุข ของเม็กซิโกออกมาระบุว่า    

 .

โรคระบาดตัวใหม่คร่าชีวิตผู้คนที่นั่นไปแล้ว 81 ราย จากผู้ที่ป่วยทั้งสิ้นมากกว่า 1,300 ราย นับตั้งแต่ วันที่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นมา (ตัวเลขเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าอันตราย เพราะโรคนี้มีลักษณะเหมือนโรคระบาดครั้งร้ายแรงในอดีตซึ่งมีอัตราของผู้เสียชีวิตที่อยู่ในวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงสูง 

 .

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องประชุมฉุกเฉินออกประกาศเตือนอันตรายเนื่องจากเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ และข้อมูลการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดเป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต องค์การอนามัยโลกจึงได้ออกประกาศเตือนประเทศสมาชิก ตามลำดับ ดังนี้คือ

 .

* วันที่ 25 เม.ย.52 ประกาศให้ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) ถือเป็นการส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมในทุกประเทศให้รับมือกับการระบาดของโรค ซึ่งแม้จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่หากวินิจฉัยโรคได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาได้ทัน โดยให้เน้นในเรื่องของการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดในแต่ละพื้นที่ และเตือนว่าโรคไข้หวัดหมูอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว 

 .

* วันที่ 27 เม.ย.52 ประกาศปรับระดับการระบาดจากเดิม ระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในระดับชุมชน (จากระดับความรุนแรงสูงสุด  6 ระดับ)

 .

* วันที่ 29 เมษายน 2552 ประกาศยกระดับการเตือนการระบาดเป็นระดับ 5 คือมีการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดเชื้อ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกประเทศเริ่มปฏิบัติการตามแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น การค้นหาโรคได้รวดเร็ว การรักษาพยาบาล และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข 

 .

ในระยะแรก การรายงานโรคนี้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Swine Flu" หรือไข้หวัดใหญ่หมู ซึ่งโดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่หมูเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นกับหมู มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1, H3N2 และแต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในหมู บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากหมูและป่วยซึ่งไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดจากการที่ คนหายใจเอาละอองฝอยที่หมูไอ หรือจามเข้าไป หรือการสัมผัสกับหมู หรือสิ่งแวดล้อมที่หมูอาศัยอยู่  

 .

 .

อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้จากผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรม พบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน ซึ่งยังไม่เคยพบในหมูมาก่อน และไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในหมูทั้งในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลจากการสอบสวนโรค ก็ไม่พบผู้ใดติดโรคจากหมู หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วจากคนสู่คน เชื้อนี้มีความไวต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และคาดว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของคน ซึ่งมีสายพันธุ์ H1N1 ประกอบอยู่ด้วย ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ได้ 

 .

ต่อมา นายดิค ทอมป์สัน โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวในวันที่ 1 พ.ค. 52 ว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารกำลังกังวลอย่างยิ่งว่า การเรียกชื่อโรคไข้หวัดหมู (Swine Flu) อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนัก ทั้งที่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อหมูแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนอันจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 

 .

ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงเห็นควรพิจารณาเปลี่ยนชื่อ "ไข้หวัดหมู" โดยประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่าโรค "ไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น 1 ชนิดเอ: Influenza A (H1N1)" ส่วนกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ตอบรับทันควันเช่นกันโดยเปลี่ยนการเรียกชื่อบ้างให้สอดคล้องกับประกาศขององค์การอนามัยโลก เป็น "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1"  หรือชื่อสั้น ๆ ว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 

 .

ขณะที่ นางมารี พอล คีนีย์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในวันที่ 4 พ.ค. 52 ว่า "โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ในการพัฒนาวัคซีนที่พร้อมฉีดป้องกันให้แก่มนุษย์ได้หลังทราบรายละเอียดของเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่วัคซีนป้องกันโรคหวัดที่มีอยู่ในขณะนี้ จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้"

 .

นายสก็อต ไบรอัน โฆษกศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) แถลงในวันที่ 5 พ.ค. 52 ว่า "มีความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสเอช 1 เอ็น1 ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจมีต้นตอการระบาดมาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะผลจากการสอบสวนพบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อหลายรายในรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนที่จะพบการแพร่ระบาดในเม็กซิโก

 .

โดยรายแรกที่ตรวจพบในแคลิฟอร์เนียเป็นเด็กชายวัย 10 ขวบ ในเมืองซานดิเอโกซึ่งมีพรมแดนติดกับเม็กซิโก เด็กคนนี้ล้มป่วยในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดการระบาดในเม็กซิโกเสียอีก ส่วนรายที่ 2 เป็นเด็กหญิงวัย 9 ขวบจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเข้ารักษาอาการไอ มีไข้สูง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม  

 .

ผลการตรวจสอบยืนยันเมื่อวันที่ 17 เมษายน ว่าเด็กสองคนนี้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยที่เด็กทั้งสองคนไม่เคยเดินทางไปเม็กซิโกหรือติดต่อสัมผัสกับหมูเลย" ดังนั้นจึงนับได้ว่าเด็กชายในแคลิฟอร์เนียเป็นรายแรกของโลกที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ที่พบและเป็นข่าวว่ามีการแพร่ระบาดมากในเม็กซิโกก็อาจเป็นเพราะสุขอนามัยและการควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐฯ ดีกว่า 

 .

และหลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น1 โดยในระยะแรกเริ่มนั้นมาจากประเทศเม็กซิโก ในราวกลางเดือนมีนาคม 52 แต่มาเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในปลายเดือนเมษายน 52

 .

จนกระทั่งมาถึงวันที่ 4 พ.ค. 52 ก็พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดได้บรรเทาลงพอสมควร แต่ นางมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้รีบออกมาเตือนว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจกลับมาระบาดใหม่เป็นระลอกสอง และจะมีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แม้จะดูเหมือนว่าการระบาดในปัจจุบันได้บรรเทาลงแล้วก็ตาม และว่าอัตราการตายจากหวัดมรณะที่ลดลงในขณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าการระบาดได้ยุติลงแล้ว

 .

หากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้งจะเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดขึ้นในโลก ในศตวรรษที่ 21 และแม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็อาจเพิ่มขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้าได้ เหมือนครั้งไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu) ระบาดในปี ค.ศ.1918 (พ.ศ. 2461) โดยช่วงแรกมีการระบาดมากในฤดูใบไม้ผลิ แล้วลดหายไปในช่วงฤดูร้อน และกลับมาระบาดหนักในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 40 - 50 ล้านคน

 .

รวมถึงอาจโผล่เป็นภัยคุกคามในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 หากไวรัสทั้งสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 กับสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 ผสมกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่า อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ได้ ส่วนวัคซีนต้านไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ก็ให้คงการผลิตต่อไป เพราะในแต่ละปีมีผู้ป่วย 2-3 ล้านคนและเสียชีวิตมากถึง 500,000 ราย"                   

 .
การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ครั้งสำคัญ ๆ ในอดีต

* พ.ศ.2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 ซึ่งยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ แต่มีการตรวจชนิดของเชื้อไวรัสในภายหลัง) ชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu)" เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด มีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐกว่า 500,000 คน

 .

* พ.ศ.2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H2 N2 ที่มีชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu)" ระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คน ส่วนในสหรัฐ การระบาดครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทันท่วงที จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก

 .

* พ.ศ.2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H3 N2 ที่มีชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu)" รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คน ในสหรัฐ เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2 N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว

 .

* พ.ศ.2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian Flu)" เริ่มระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตอนเหนือ แล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1 N1)

 .

 .

รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก   องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.- 8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย 

 .

ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ และถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อนี้

 .

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งรายงานให้องค์การอนามัยโลกที่เจนีวา และสมาชิกอาเซียน ทราบแล้วตามลำดับดังนี้ คือ

 .

* 12 พ.ค. 52 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .

* 30 พ.ค. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .

* 31 พ.ค. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 4 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .

* 2 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 5 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .

* 4 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 8 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 7 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย (ซึ่งรายที่ 7 เป็นลูกชายวัย 19 ปีที่ติดเชื้อมาจากแม่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯ จึงนับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ) 

 .

* 7 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 8 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย 

 .

* 8 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 10 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 9 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย

 .
แผนการตั้งรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาว่า "ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009      

 .

โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองประธาน ได้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการดูแลประชาชนในประเทศไม่ให้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางป้องกัน ส่วนลักษณะการเฝ้าระวังจะใช้รูปแบบเดียวกับที่เกิดไข้หวัดนก"

 .
มาตรการและการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข 
1. เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการเฝ้าระวังโรค  

เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการรายงานผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้กับหน่วยงานสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ กับ ทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,030 ทีม และ ครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ป่วย ตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และ ควบคุมได้ทันท่วงที 

 .
2. เตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ   

ขณะนี้ทั่วประเทศ มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถรายงานผลการตรวจได้ภายใน 4 ชั่วโมง จำนวน 14 แห่ง มีรถเคลื่อนที่ที่สามารถตรวจยืนยันเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 คัน เพราะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศิริราชพยาบาล รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข 

 .
3. เตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย 

เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและให้การรักษาได้ทันท่วงที กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาล โดยจัดทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล ส่งให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และขณะนี้ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์โรคเป็นระยะ ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีห้องแยกเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกแห่ง ไว้พร้อมแล้ว 

 .
4. สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ  

กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสและวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรสาธารณสุขไว้ เพื่อรักษาและป้องกันโรค โดยมีความมั่นใจว่าเพียงพอต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกของการระบาด ซึ่งหากการระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุด เพื่อให้ได้เป้าหมายเพียงพอต่อความต้องการ 

 .
5. ให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ 

เพื่อให้ข้อมูลประชาชน ให้รู้ถึงสถานการณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีในการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน โดยออกประกาศคำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (www.moph.go.th) และ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (http://beid.ddc.moph.go.th) และ ศูนย์บริการข่าวสารเบอร์ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 .
6. ตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 

กรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และ สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้ การเตรียมพร้อมที่จะใช้งานเมื่อมีความจำเป็นโดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมแจกคำเตือนสุขภาพสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ถึงความพร้อมของมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ 

 .

ตรวจการคัดกรอง: นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scanner) ร่างกายผู้โดยสารขาเข้า เพื่อคัดกรองผู้ป่วยจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ที่อากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา

 .

นอกจากนี้ ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ในระหว่างวันที่ 7- 8 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์เป็นประธานรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเข้าสู่อาเซียน และรับมือเร่งด่วนกรณีเกิดการระบาดในระดับภูมิภาค โดยสาระสำคัญของที่ประชุมนั้น ก็คือ มีมติให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิด 

 .

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันจัดตั้งระบบคลังยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นของภูมิภาคอาเซียน บวก 3 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 500,000 ชุด และจีนซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เป็นจำนวนมาก ได้ประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนยาชนิดนี้ให้กับภูมิภาคอาเซียน หากมีความต้องการและเกิดการระบาดใหญ่ของโรคนี้    

 .

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีบทสรุปในข้อตกลง 15 ข้อ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ในระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 193 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน

 .

ผนึกกำลังต้าน: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถ่ายรูปร่วมกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน + 3 หลังจากกล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีเปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน + 3 นัดพิเศษเพื่อหารือมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552

 .

และในวันที่ 21 พ.ค. 52 ที่สหประชาชาติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. และ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

 .

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพธราดล รองปลัด สธ. ฝ่ายไทย กับ ดร.แมรี่ พอล คีนีย์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยวัคซีน และ ดร.เดซี่ มาฟูบีลู รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ อภ.สามารถใช้สายพันธุ์เชื้อเป็น และข้อมูลในการพัฒนาการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากบริษัท โนบีลอน (Nobilon-Schering-Plough) ที่ได้รับจากประเทศรัสเซีย 

 .

ทั้งนี้ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน กล่าวว่า ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เข้าร่วมผลิตวัคซีนนำร่องในประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้ามากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ไทยได้ประกาศที่จะบริจาควัคซีนให้กับคลังวัคซีนโลก          

 .

นอกจากนี้ไทยยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นปีที่ 2  โดยครั้งนี้นับช่วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 เพื่อให้ อภ.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งมีโรงงานที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี งบประมาณ 1,400 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างเดือนกันยายนนี้ ใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จะเริ่มผลิตปี 2555 กำลังการผลิตรองรับได้ปีละกว่า 60 ล้านโดส และผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปีละ 10 ล้านโดส       

 .
คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับเจ้ามหันตภัยไวรัสกลายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1)
 .
1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้ คือโรคอะไร

ตอบ: โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากหมู เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1; Influenza A (H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในหมูและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่หมู และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย      

 .

โดยเริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า "โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก" และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1" และใช้ชื่อย่อว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009"

 .
2. เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าไข้หวัดหมู (Swine Flu)

ตอบ: เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในการรายงานโรคนี้ช่วงแรกในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Swine Flu" หรือไข้หวัดใหญ่หมู โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่หมูเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในหมู มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1 และ H3N2 แต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในหมูบางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากหมูและป่วยซึ่งเกิดไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดโดยคนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อหมูไอ หรือจาม เข้าไป หรือการสัมผัสกับหมู หรือสิ่งแวดล้อมที่หมูอาศัยอยู่       

 .

อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมพบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน และยังไม่เคยพบในหมูมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มีรายงานโรคนี้ระบาดในหมูทั้งในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากหมู หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนเท่านั้น 

 .

ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) และไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (A/California/04/2009 โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ตรวจแยกเชื้อได้ครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เดือนเมษายน ค.ศ.2009) เป็น "ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1" Influenza A (H1N1)      

 .

กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1"  และชื่อย่อว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" เพื่อสื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่สับสนกับไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่เกิดตามฤดูกาล (Seasonal Flu) ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่คนละตัวกัน

 .
3. เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศใดบ้าง

ตอบ: ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา เริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น 1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.-8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ           

 .

ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย                                

 .

นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต อาทิ เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า โปรตุเกส เดนมาร์ก คิวบา ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ จีน ออสเตรเลีย ไทย เป็นต้น โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ และถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อนี้

 .
4. เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่

ตอบ: สำหรับประเทศไทย จากระบบการเฝ้าระวังโรคของประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยและการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ไม่เคยพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวนี้ ข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ ตามฤดูกาล จำนวน 3,159 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551

 .
5. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร

ตอบ: มีอยู่ 2 ทาง คือ ทางแรก เกิดการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ หรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ส่วนทางที่สอง คือ เกิดจากการสัมผัสระหว่างคนกับคนที่ติดเชื้อ โดยพบว่าคนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น แต่ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู

 .
6. การแพร่เชื้อเป็นอย่างไร 

ตอบ: ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายแพร่เชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก  

 .

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ได้กล่าวว่า เหตุผลที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่จากคนสู่คนได้ดี เนื่องจากชิ้นส่วนพันธุกรรม ทั้ง 8 ท่อน ของไวรัสสายพันธุ์นี้ มีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ของคน หมู และสัตว์ปีก จุดสำคัญคือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ มีส่วนของโปรตีนฮีมแอกลูตินิน (Hemagglutinin) หรือ HA ที่อยู่บนผิวไวรัส เป็นชนิด H1 ซึ่งมีความคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทั่วไปในคน 

 .

ด้วยเหตุนี้โปรตีน H1 ของไวรัสจึงเข้าจับกับโปรตีนที่อยู่บริเวณผิวของเซลล์มนุษย์ได้อย่างดี และส่งผลให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว แม้การไอหรือจาม ที่แม้จะมีเชื้อไวรัสเพียงเล็กน้อย เชื้อไวรัสก็สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและเพิ่มจำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 .

ขณะที่ไข้หวัดนกยังไม่พบการแพร่จากคนสู่คน เนื่องจากชนิดของโปรตีนฮีมแอกลูตินินของไวรัสไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ไม่สามารถจับกับโปรตีนบริเวณผิวเซลล์มนุษย์ได้ ด้วยลักษณะบางประการที่แตกต่างระหว่างโปรตีนบนผิวเซลล์ของสัตว์ปีกและมนุษย์ เชื้อจึงทำได้เพียงแค่ก่อโรคในคน ส่วนการแพร่จากคนสู่คนนั้นยังคงเป็นไปได้ยาก

 .

                 รูปภาพแสดงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1) Viruses

 .

 .
7. ขณะนี้สามารถรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

ตอบ: การบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุกนั้นปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากไม่ใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่หมูตัวดั้งเดิมที่พบในหมู ซึ่งแม้เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่หมูตัวดั้งเดิม การติดต่อจากหมูก็เกิดได้น้อยมาก และติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูกน้ำลายหมูป่วยเป็นหลัก นอกจากนั้น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปด้วย

 .
8. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง

ตอบ: ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1–3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย  

 .

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5–7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

 .

ส่วนกรณีที่เชื้อแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต จะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 .

ส่วนความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดนกนั้น ก็คือ ไข้หวัดนกจะไปทุกระบบของร่างกาย แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะไปเฉพาะระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อระบบทางเดินหายใจล้มเหลวก็ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 .
9. การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

ตอบ: สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี 

 .

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้าน โดย

 .

-  รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น  และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
-  ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น 
-  พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานอาหารได้น้อย อาจต้องได้รับวิตามินเสริม

 .

-  นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
-  ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา

 .
10. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

ตอบ: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส (Antivirus Drug) ซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) เป็นยาชนิดพ่น นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังระบุอีกว่าไข้หวัดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสทามิฟลู (Tamiflu) และ รีเลนซา (Relenza) แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส คือ อะแมนตาดีน (Amantadine), ไรแมนตาดีน (Rimantadine) และ ฟลูมิดีน (Flumidine)

 .

สำหรับยาต้านไวรัส ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) นั้นพบว่าจะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้ และที่สำคัญที่เราพึงทำความเข้าใจก็คือ ยาต้านไวรัสไม่ใช่ยาที่ใช้ในการป้องกัน แต่ใช้เพื่อรักษาโดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 .

11. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่ 

ตอบ: ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาที่นี้ไว้พอเพียง เพื่อการควบคุมการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยสำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 3,250,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 325,000 ราย) และองค์การเภสัชกรรมกำลังนำวัตถุดิบที่สำรองมาผลิตยานี้ (GPO-A-Flu?) ได้สำหรับ 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย)                                                       

 .

นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดหากเกิดการระบาดใหญ่ ได้อีก 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ด้วย รวมถึงคณะรัฐมนตรียังอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 80 ล้านบาท เพื่อซื้อวัตถุดิบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยา จีพีโอ เอ ฟลู (GPO-A-Flu?) สำหรับเป็นสต๊อกจำนวน 2 ล้านเม็ด หากมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตยาดังกล่าวได้ถึงวันละ 250,000 เม็ด ซึ่งถือว่าเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

 .
12. มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้หรือไม่

ตอบ: ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้

 .

13. หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ตอบ:

1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม 

 .

3. ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ
4. หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์
5. ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด

 .
14. การเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu) ก่อนไปหรือไม่

ตอบ: ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น1 ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข ้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์

 .
15. ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
ตอบ:
 

1. หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดตามข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด 

 .

2. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด จะได้รับการแนะนำด้านสุขภาพจากทีมแพทย์ โดยให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และสังเกตอาการตนเองทุกวัน หากเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะอนุญาตให้รักษาตัวที่บ้านได้ ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น 

 .
3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย 

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา 

 .

- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
- ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

 .

- หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน หรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วและหน่วยงานรับผิดชอบเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที 

 .

- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ หากต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที

 .

รวมทั้งติดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด รวมทั้งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1994 และศูนย์ปฏิบัติการ ฯ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0–2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง

 .
16. กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ: มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น

 .

รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยง การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข  เป็นต้น

 .
17. หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่

ตอบ: หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยขณะไอจามได้ 

.
18. ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่ใด

ตอบ: ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน หากมีอาการอ่อน ๆ ควรขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน หรือขอรับคำแนะนำจากศูนย์ฮ็อตไลน์กรมควบคุมโรค

.

อย่างไรก็ดี... แม้ว่าวิทยาศาสตร์และประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในโลกปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่เราจะสังเกตได้ว่าช่วงเวลาการเริ่มต้นศตวรรษใหม่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มนุษย์กลับต้องเผชิญกับโรคร้ายแรงที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาแล้วถึง 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดนก, ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงที่มีศักยภาพในการคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในชั่วพริบตา ด้วยเหตุนี้ "ไวรัสกลายพันธุ์" จึงยังคงเป็นเชื้อมรณะที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังและจับตามองทุกขณะ

.

ลำดับความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

18 มี.ค. 52
- องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก
 .
24 เม.ย. 52

- พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 18 ราย ทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของคน ที่มีสารพันธุกรรมของหมูผสมด้วย

 .
25 เม.ย. 52

- นาย โฮเซ่ อังเคล คอร์โดวา รัฐมนตรีสาธารณสุข ของเม็กซิโกออกมาระบุว่า โรคระบาดตัวใหม่คร่าชีวิตผู้คนเม็กซิโกไป แล้ว 81 ราย มีผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดหมูแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 1,300 ราย (นับตั้งแต่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นมา)
-.องค์การอนามัยโลก ประกาศให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC)

 .
27 เม.ย. 52

- องค์การอนามัยโลก ประกาศปรับระดับการระบาดจากเดิม ระดับ 3 เป็นระดับ 4 จากระดับความรุนแรงสูงสุด 6 ระดับ

 .
28 เม.ย. 52
- ครม.ไทยเห็นชอบตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศไทย
 .
29 เม.ย. 52

- องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับการเตือนการระบาดเป็นระดับ 5

 .
1 พ.ค. 52

- องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า "ไข้หวัด เอช 1 เอ็น 1 ชนิดเอ"; Influenza A (H1N1)"
- กระทรวงสาธารณสุขไทย เปลี่ยนการเรียกชื่อโรคให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก เป็น "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 "หรือเรียกสั่นๆ ว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009"

 .
7-8 พ.ค. 52

- ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1

 .
8 พ.ค. 52

- ตัวแทนจากทั้ง 13 ประเทศ แถลงสรุปผลการประชุมว่า จะนำข้อตกลง 15 ข้อ นำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 18–22 พ.ค. นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 .
12 พ.ค. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันติดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .

- องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ไทยเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย โดยเป็นการติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศและถือว่าเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียน

 .
13 พ.ค. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทยขออนุมัติงบประมาณจากครม. จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อซื้อวัตถุดิบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสจีพีโอ เอ ฟลู (GPO-A-Flu?) สำหรับเป็นสต๊อกจำนวน 2 ล้านเม็ด

 .
18–22 พ.ค. 52

- การประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 18 – 22 พ.ค. ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 193 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน

 .
21 พ.ค. 52

- องค์การอนามัยโลกร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมไทย (อภ.) โดยไทยสามารถใช้สายพันธุ์เชื้อเป็น และข้อมูลในการพัฒนาการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็นที่ได้รับจากองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ไทยยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อให้ อภ.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น

 .
30 พ.ค. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .
31 พ.ค. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 4 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .
2 มิ.ย. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 5 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 .
4 มิ.ย. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 8 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 7 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย (ซึ่งรายที่ 7 เป็นลูกชายวัย 19 ปีที่ติดเชื้อมาจากแม่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯ จึงนับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ)

 .
7 มิ.ย. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 8 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย

 .
8 มิ.ย. 52

- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 10 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 9 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต และมีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 11 ราย

 .

- รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1  เอ็น1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลก รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. -  8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย

 .

นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต อาทิ เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ จีน ออสเตรเลีย ไทย เป็นต้น โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ 

.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

* เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
* เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
http://beid.ddc.moph.go.th
* เว็บไซต์กรมควบคุมโรค
www.ddc.moph.go.th
* เว็บไซต์กรมการแพทย์
www.dms.moph.go.th
* เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
www.dmsc.moph.go.th
* เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน ออนไลน์
http://www.matichon.co.th/matichon/
* เว็บไซต์ข่าวไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/watch