เนื้อหาวันที่ : 2009-07-10 09:20:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1089 views

อัดรัฐหมดนํ้ายาปลุกเศรษฐกิจ

ธนวรรธน์ สวดยับรัฐบาลอภิสิทธิ์ไร้น้ำยาปล่อยไข้หวัดมรณะลุกลาม จนกลายเป็นปัญหาฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดิ่งลงอีก จี้เร่งหามาตรการหยุดการระบาดภายใน ก.ค. หวั่นคนไม่กล้าออกนอกบ้านกระทบการบริโภคและท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นว่า จะกลายเป็นปัจจัยลบฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังให้ลดลง โดยประเมินว่าหากการระบาดยังยืดเยื้อมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตถึงเดือน ก.ย. ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสสี่ลดลง 1% จากเดิมที่คาดว่าโต 1-2% เหลือ 0-1% และทำให้จีดีพีทั้งปีติดลบเพิ่มจาก-3.5% ถึง-4.5% เป็น -3.8%ถึง-4.8% นอกจากนี้ยังกระทบต่อการบริโภคและการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าลงอีก   

.

"หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถาน การณ์ได้ภายใน ก.ค.คงไม่มีปัญหา และเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวตามกรอบเดิม-3.5% ถึง-4.5% แต่ถ้าทำไม่ได้จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจแย่ลงอีก โดยคนจะลดการบริโภคเพราะไม่กล้าออกนอกบ้านไปเที่ยว ดูหนังหรืออยู่ตามสถานที่ชุมชน และที่สำคัญหากการตายเพิ่มจาก 0.2% เป็น 0.4% จนชาวต่างชาติวิตกก็จะกระทบให้ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าจากต้นปี 53 เป็นกลางปี 53 แทน ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวหายไป 500,000 ถึง 1 ล้านคนจะสูญเสียรายได้ 15,000-30,000 ล้านบาททันที โดยคิดจากค่าใช้จ่ายคนละ 30,000-34,000 บาทต่อทริป" 

.

ทั้งนี้ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการหยุดการระบาดอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ควรใช้วิธีรุนแรงจนประชาชนและชาวต่างชาติวิตกหวาดกลัว เช่น การปิดสนามบิน ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อภาพลักษณ์การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเห็นด้วยหากรัฐจะฉีดวัคซีนช่วยประชาชน เพราะมีต้นทุนเพียง 300 บาทต่อเข็ม ถ้าฉีดยาให้ประชากร 60 ล้านคน จะใช้งบเพียง 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าปล่อยให้เชื้อแพร่ระบาดเพราะจะสูญเสียมากกว่านี้

.

นายธนวรรธน์กล่าวว่าผลการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,245 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยประจำ เดือน มิ.ย. 52 พบว่าดัชนีผู้บริโภคทุกรายการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกรอบ  5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.เท่ากับ 72.5 เพิ่มขึ้นจาก พ.ค. 71.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน 61.8 เพิ่มจาก 61.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 74.7 เพิ่มจาก 73.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 65.4 เพิ่มจาก 64.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ 64.7 เพิ่มจาก 63.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 87.4 เพิ่มจาก 86.2 

.

"แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่เปราะบาง เพราะทุก รายการยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 ที่สำคัญการสำรวจในเดือน มิ.ย. ยังไม่รวมปัจจัยการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 หากเดือนหน้ามีระบาดเพิ่ม จะเป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีเชื่อมั่นเดือน ก.ค."

.

ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่เพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้นรอบ 5 เดือน เป็นผลจากรัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน รวม 8 แสนล้านบาท เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลในการกู้ยืมเงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2553-2555 การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 1 ช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยใช้งบประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท สำหรับลงทุนช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 ส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกของผู้บริโภค และดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือน มิ.ย.ปรับตัวดีขึ้นจาก พ.ค. 37.07 จุด

.

ส่วนผลสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้ บริโภคเดือน มิ.ย. โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์คันใหม่ บ้านหลังใหม่ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว มองว่ายังไม่มีความเหมาะสม รวมถึงการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบันสะท้อนว่า คนยังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์