เนื้อหาวันที่ : 2009-07-09 10:30:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2665 views

Google Economy เศรษฐกิจแบบกูเกิล

ทุกวันนี้เว็บไซต์ประเภท Search Engine ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเว็บของกูเกิล "กูเกิล" นับเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในเศรษฐกิจแบบดิจิตอล (Digital Economy) ตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา "กูเกิล" ได้กลายเป็นหนึ่งในสามบริษัทชั้นนำของโลกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต

รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 6)
Google Economy เศรษฐกิจแบบกูเกิล

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ 

.

ซีรีส์ "รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21" ฉบับนี้ ผู้เขียนขอแนะนำคำว่า "Google Economy" ครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้เว็บไซต์ประเภท Search Engine ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเว็บของกูเกิล (www.google.com) นะครับ

.

"กูเกิล" นับเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในเศรษฐกิจแบบดิจิตอล (Digital Economy) โดยตลอดช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา "กูเกิล" ได้กลายเป็นหนึ่งในสามบริษัทชั้นนำของโลกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะไปรู้จัก "Google Economy" เรามารู้จักที่มาที่ไปของเว็บไซต์แห่งนี้กันก่อนดีกว่าครับ  

.
จาก Googol สู่ Google

ท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าที่มาของชื่อ กูเกิล (Google) ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนั้นมันมาจากความผิดพลาดโดยบังเอิญในการสะกดคำว่า Googol ครับ

.

Googol มีความหมายว่าหนึ่งตามหลังด้วยศูนย์ร้อยตัวหรือสิบยกกำลังร้อยนั่นเองครับ ตัวเลขจำนวนนี้อย่าว่าแต่เขียนให้เมื่อยเลยครับ แค่คิดจะอ่านเนี่ยยังไม่รู้ว่าจะอ่านถูกหรือเปล่า 

.

"กูเกิล" เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากมันสมองของ "ลาร์รี่ เพจ" (Larry Page) และ เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) สองคู่หูนักศึกษาปริญญาเอกด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดครับ โดยทั้งสองได้พยายามพัฒนา PageRank ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการอ้างอิงหรือ Citation ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ Google นั้นแตกต่างจาก Search Engine เว็บอื่น ๆ

.

จริง ๆ แล้ว Search Engine นั้นมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 แล้วนะครับโดย Search Engine เว็บแรก คือ Aliweb ซึ่งย่อมาจาก Archie Like Indexing for the WEB และในเวลาต่อมาได้มี Search Engine เกิดขึ้นมากมายหลายเว็บไซต์แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร  สำหรับ "กูเกิล" เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1997 ครับก่อนที่จะมาจดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทอย่างจริงจังในหนึ่งปีต่อมา       

.

ลาร์รี่ เพจ (ซ้าย) และ เซอร์เกย์ บริน (ขวา)
สองนักศึกษาหนุ่มผู้สร้างตำนาน Google
Search Engine ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

.

ความพิเศษของกูเกิลอยู่ที่จำนวนเว็บลิงก์ที่มีเป็นจำนวนมากและยังมีความรวดเร็วในการค้นหาข้อมูลอีกด้วย นอกจากนี้การค้นหาข้อมูลก็ทำได้ไม่ยากเพียงแค่ "คีย์" คำใดคำหนึ่งลงไปในช่อง Search กูเกิลก็จะค้นหาคำที่เกี่ยวข้องและเว็บที่สัมพันธ์กับคำที่ผู้ใช้กำลังหาอยู่

.

ปัจจุบันกูเกิลมีผลิตภัณฑ์อยู่หลายประเภทนะครับ ไล่ตั้งแต่ไปวางบนเดสก์ทอป (Desktop) อย่าง Google Earth และ Google Map หรือไปปรากฏอยู่บนโทรศัพท์มือถืออย่าง iGoogle Google News เปิดให้บริการอีเมล์อย่าง Gmail ให้บริการอัพโหลดและดาวน์โหลดวีดีโอบนเว็บไซต์ Youtube มีพื้นที่ให้คนมาเขียนบล็อกเล่นอย่าง Blogger แถมยังสามารถขายโฆษณาบนบล็อกตัวเองผ่าน Adsense และ Adword เป็นต้น

.

ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ของกูเกิลได้จากการวิจัยและพัฒนา (R&D) จาก GoogleLab ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทดลองไอเดียใหม่ ๆ ของชาวกูเกิล ด้วยเหตุนี้เองกูเกิลจึงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา 

.

จะเห็นได้ว่ากูเกิลได้ลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเป็นหลักนอกจากนี้ยังขยายฐานไปสู่การเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ป้อนให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างธุรกิจให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกด้วย

.

ความสำเร็จของกูเกิลทำให้กูเกิลสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้ในเวลาอันสั้นโดยใช้ชื่อในการซื้อขายว่า GOOG นอกจากนี้หุ้นของกูเกิลยังมีซื้อขายกันที่ตลาดหลักทรัพย์ London Stock Exchange โดยใช้ชื่อในการซื้อขายว่า GGEA  

.

"กูเกิล" อีกหนึ่งตำนานความสำเร็จของธุรกิจดอตคอม

.
Google Economy: เศรษฐกิจแบบกูเกิล

เศรษฐกิจแบบกูเกิล หรือ Google Economy เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าให้กับเว็บเพจ (Web Page) ผ่านกระบวนลิงก์จากเว็บหนึ่งไปสู่อีกเว็บหนึ่งซึ่งการสร้างมูลค่าดังกล่าวนี้มีมากกว่าการเป็น Search Engine ของกูเกิล

.

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านไปแล้วนะครับว่า กูเกิลนั้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยมีฐานที่มั่นในการเป็น Search Engine อย่างไรก็ตามกูเกิลได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถหารายได้ สร้างธุรกิจตัวเอง โชว์ผลงาน หรือแม้แต่ทำการตลาดให้กับตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ ซึ่งทั้งหมดที่กูเกิลกำลังทำอยู่นี้เราเรียกว่า Network Effect ครับ        

.

ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลที่ได้สร้าง Google Economy ขึ้นมา

.

Network Effect หรือ Network Externality เป็นผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการที่เราได้มีโอกาสติดต่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายกับบุคคลอื่น ๆ โดยอาศัยเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา “โทรศัพท์” คือ เครื่องมือสื่อสารที่สร้าง Network Effect จนทำให้มนุษย์เราสามารถทำธุรกรรมการค้าขายและทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้

.

ปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารมีหลากหลายทำให้ธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันบทบาทของกูเกิลเองได้เข้ามาในฐานะเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถเชื่อมโยงสื่อสารค้นหากันได้โดยมีต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลต่ำมาก ๆ

.

ท่านผู้อ่านลองนึกภาพวันวานที่เรายังไม่มีกูเกิลดูสิครับว่า เวลาที่เราต้องการจะหาข้อมูลอะไรสักอย่างเราต้องเสียเวลามากมายขนาดไหน เราอาจจะต้องไปเปิดสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองเพื่อหาผู้ให้บริการกำจัดปลวก หรือเราอาจจะต้องเสียเวลาในการค้นหนังสือหรือบทความวิชาการตามห้องสมุด แต่เมื่อมีกูเกิลแล้วเราสามารถค้นหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้สะดวกรวดเร็วแถมมีแหล่งข้อมูลให้เลือกเปรียบเทียบมากมาย 

.
จะว่าไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้อาจหาได้โดยใช้ "กูเกิล" ไม่เว้นแม้แต่การหา "คู่" ด้วย นะครับ… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. The Google Economy by Joe Griffin จากhttp://www.webpronews.com/insiderreports/2004/11/01/the-google-economy
2.
www.wikipedia.org