เนื้อหาวันที่ : 2009-07-08 22:14:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1262 views

กอร์ปศักดิ์ ชี้ศก.ไทยยังไม่ดึ่งสุด มีคลื่นขึ้น-ลงตลอดชง ครม.เคาะระเบียบใช้เงินกระตุ้น

รัฐบาลอภิประชานิยม กลับคำเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เปรียบเหมือนลูกคลื่นมีขึ้น-ลงตลอด ชี้เดือนก่อนที่ดีขึ้นแค่ผงกหัวเท่านั้น อาจจะดิ่งลงอีก กอร์ปศักดิ์ เสนอครม.เคาะระเบียบใช้เงินกระตุ้น ศก. ก๊อกสอง วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท

"กอร์ปศักดิ์" บอกเองเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เปรียบเหมือนลูกคลื่นมีขึ้น-ลงตลอด ชี้เดือนก่อนที่ดีขึ้นแค่ผงกหัวเท่านั้น อาจจะดิ่งลงอีก เสนอ ครม.เคาะระเบียบใช้เงินกระตุ้น ศก.รอบสอง วงเงิน 2.3 แสนล้าน

.

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ

.

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 กรกฎาคม จะเสนอระเบียบการใช้จ่ายเงินตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ให้ที่ประชุมพิจารณา สาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ โดยระบุให้เจ้ากระทรวงที่เสนอโครงการขึ้นมาต้องตรวจสอบโครงการของตนเอง และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานให้เรียบร้อยก่อนจะส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อตรวจสอบราคาว่าถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกประการ ซึ่งการลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ขณะนี้จัดโครงการที่มีความพร้อมในการลงทุนเป็นวงเงินรวม 2.3 แสนล้านบาท (จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท)

.

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจัดโครงการใช้เม็ดเงินภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เกินความจริงนั้น นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงของการทำงานมันไม่มีอะไรที่ลงตัว ถ้าเราจัดไว้แค่ 2 แสนล้านบาท เราไปดูรายละเอียดปรากฏว่าโครงการที่ส่งมามันใช้ไม่ได้ ยังไม่ได้ออกแบบ แต่อยากทำโครงการก็แอบยัดไส้เข้ามา สุดท้ายทำไม่ได้ ก็เลยมีเพียงแค่ 1.7-1.8 แสนล้านบาท มันก็เหลือน้อย ทางออกที่ดีที่สุดก็คือทำเกินไว้ เพราะยังไงในทางปฏิบัติจริง โครงการทั้งหมดมันต้องมีอยู่ประมาณ 10% ที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว เผลอๆ อาจจะถึง 15-20% ด้วยซ้ำ สูงสุดประเมินว่าการลงทุนอาจจะทำได้ 1.8-1.9 แสนล้านบาท คิดว่ามันคงไม่ถึง 2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นที่เรามีงบฯ 2 แสนล้านบาทมันก็พอดี

.

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ส่วนเงินอีก 2 แสนล้านบาท (จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท) หรือที่เรียกกันว่า งบฯปิดหีบงบประมาณ มาจากการประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่วันนี้มันดูดีกว่าที่คิดเยอะ ถ้าเราทำตามแผนที่วางเอาไว้ คือ กู้เงินมา 1.2 แสนล้านบาท เพื่อมาปิดหีบงบประมาณภายในเดือนกันยายน เงินคงคลังของเราก็จะมีสูงกว่าในอดีต หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็อยู่ที่สถานการณ์ในปี 2553 ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเดิมเงินคงคลัง ปีงบประมาณ 2552 เดิมคิดว่าจะเหลืออยู่ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่เวลานี้เกินกว่าที่คิดไว้ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท

.

"ถ้าถามว่ามันมากเกินไปหรือไม่ ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทประเทศไทย ผมก็จะบอกว่ามันมากเกินไป เพราะมันเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าคนที่ทำเป็นรัฐบาล เราก็ต้องต้องเซฟไว้ก่อน เพราะหากมีอะไรฉุกเฉิน จะได้ป้องกันไว้ได้ แต่ถ้าเหตุการณ์ปกติ ไม่มีเหตุความวุ่นวาย ไม่มีใครออกมาอาละวาดกันอีก เหตุการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกไม่มีอะไร ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก เงินอีก 8 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะไม่ต้องกู้ก็ได้ เพราะเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เงินที่มีอยู่ก็พอแล้ว ที่สำคัญความสามารถในการใช้เงินเรามันก็มีเท่านี้ จะให้กู้มาอีกมันก็ไม่ได้" นายกอร์ปศักดิ์ระบุ 

.

เมื่อถามว่า ประเมินจีดีพีปี 2553 จะบวกมากกว่า 3% หรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า "ยังไม่ทราบ แต่ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขแบบปีต่อปีแล้ว มันต้องดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ตัวเลขติดลบค่อนข้างเยอะ แต่ตัวเลขส่งออก 2 เดือนต่อจากนี้การันตีได้เลยว่าติดลบ 20% ขึ้น เนื่องจากตัวเลขปีที่แล้วมันดีเวอร์เกินไป"

.

เมื่อถามย้ำว่า เศรษฐกิจของไทยขณะนี้ถึงจุดต่ำสุดหรือยัง นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า "เชื่อว่ามันยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เดือนที่แล้วหลายคนอาจจะคิดว่ามันถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เท่าที่ติดตามข้อมูลทั้งในส่วนของสหรัฐ ที่งานบางเรื่องยังมีปัญหา และข้อมูลจากธนาคารโลก จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจขณะนี้มันเป็นเหมือนกับลูกคลื่น มีขึ้นมีลง ในช่วงที่มันขึ้น เราก็คิดกันว่าเศรษฐกิจมันฟื้นแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงมันแค่ผงกหัวเท่านั้นและอาจจะตกลงได้อีก" 

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง 2555 พ.ศ.... ที่จะนำเสนอประชุม ครม.วันที่ 9 กรกฎาคม มีการกำหนดว่าการดำเนินงานตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 แบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ 1.กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการรับภาระไปลงทุนเอง เช่นกรณีรัฐวิสาหกิจที่จะใช้รายได้ หรือเงินกู้ ให้จัดหาแหล่งเงินไปลงทุนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2.กรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดหาเงินกู้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 3.กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน หรือโครงการที่ ครม.มีมติให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและกิจการของรัฐและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

.

ส่วนการจัดหาแหล่งเงินกู้ ให้ สบน.จัดหาตามกฎหมาย และนำเข้าคลัง ในบัญชีนอกงบประมาณที่กรมบัญชีกลางใช้ชื่อว่า บัญชีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รวมถึงเงินที่เหลือจ่ายจากการดำเนินโครงการต่างๆ ด้วย สำหรับการติดตามประเมินผลและความคืบหน้าโครงการ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ สบน. และประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดตามแผนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อรายงานภาพรวมต่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ และรายงานผลให้ ครม.รับทราบเป็นระยะๆ 

.

สำหรับการบริหารโครงการในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิสาว สงขลา และสตูล ให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้มีอำนาจ โอนเปลี่ยนแปลงโครงการ หรือเบิกจ่ายเงินได้ตามความเหมาะสม

.

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะรายงานความคืบหน้าการกลั่นกรองโครงการ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง เพิ่มเติมให้ที่ประชุม ครม.รับทราบด้วย โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การขอขยายระยะเวลาการพิจารณาโครงการที่มีความเหมาะสม ตามกรอบวงเงิน 1.556 ล้านล้านบาท ที่ล่าสุดมีการอุมัติโครงการไปแล้วรวมวงเงิน 1.06 ล้านล้านบาท แต่ยังมีงบประมาณที่เหลืออยู่อีกกว่าแสนล้านบาท เบื้องต้นมีการกำหนดให้หน่วยงานราชการ ส่งโครงการเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมภายในเดือนมิถุนายน แต่เนื่องจากมีหน่วยงานราชการส่งโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้พิจารณาไม่แล้วเสร็จ จึงต้องขอขยายเวลาพิจารณาเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

.

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสงานเลี้ยงอาหารค่ำการประชุมและนิทรรศการเกี่ยวกับระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ เอเชียแปซิฟิค 2009 (Intelligent Transport System Asia Pacific 2009) ภายใต้หัวข้อ "Smart Move" ว่า การจัดสัมมนาและนิทรรศการในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการจราจรระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การจัดประชุมเกี่ยวกับระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะขึ้นที่ประเทศไทย ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะประเทศไทยมีการเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน มีรถยนต์กว่า 10 ล้านคัน

.

"นอกจากนี้ ยังมีระบบรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่กำลังมีโครงการต่อขยาย การจัดระบบการขนส่งในกรุงเทพฯยังคงต้องการเทคโนโลยีด้านการขนส่งและการจราจรเป็นอย่างมาก รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติคส์ให้ครบวงจร กว่าร้อยะละ 40 ของงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 จะนำมาลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตามนโยบายไทยเข้มแข็ง เพื่อนำไปพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์ ถนน และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และมีการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีด้วย" นายอภิสิทธิ์กล่าว

.

วันเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็งของรัฐบาล กล่าวถึงการจำหน่ายพันธบัตร ที่จะเปิดจองวันที่ 13 กรกฎาคม ว่า สั่งให้สาขาของธนาคารห้ามเปิดจองล่วงหน้า (พรีเซลล์) ตามนโยบายนายกรณ์ จาติกวณิชรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งตามโควต้าของธนาคารมีสิทธิในการจำหน่ายประมาณ 7 พันล้านบาท แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะลูกค้าให้ความสนใจมาก เนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากตามปกติ ธนาคารกำลังหาแนวทางแก้ไขหากเกิดกรณีที่จำหน่ายให้ลูกค้าไม่เพียงพอ โดยมีผลิตภัณฑ์ของธนาคารเป็นทางเลือกเสริม

..

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่ายธนบดีธนกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำรวจตลาดบ้างแล้วพบว่าพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจค่อนข้างมาก คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเตรียมออกผลิตภัณฑ์การเงินอื่นเพื่อเสนอผู้ที่พลาดจากพันธบัตรรัฐบาล เช่น หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงเงินออมระยะสั้นของธนาคารที่ของเก่าครบกำหนดพอดี และกำลังจะเริ่มใหม่ในเดือนนี้ ถือว่าเป็นทางเลือกของลูกค้า

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์