เนื้อหาวันที่ : 2009-07-03 15:17:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1242 views

SCRI คาด กนง.ยังตรึงดบ.ไว้ที่ 1.25% แต่ส่อเค้าปรับขึ้นก่อนปลายปี

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาด กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนปลายปี เหตุอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น บวกกับเงินเฟ้อขยายตัวช่วงปลายปี ชี้เงินเฟ้อหลุดกรอบไม่ใช่แรงกดดันให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

.

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 15 ก.ค. นี้ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 1.25% ขณะที่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี จากแรงกดดันของระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อช่วงปลายปี  อาจทำให้ กนง. ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนช่วงปลายปี  

..

โดยระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้หลุดกรอบของทาง ธปท. ที่กำหนดที่ 0-3.5% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ยังไม่ใช่แรงกดดัน ให้ กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มการหดตัวลงจะเป็นเพียงแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น 

..

นอกจากนี้ ภาพรวมตลาดการเงิน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกมากนัก เนื่องจากมองว่าปัจจัยที่กำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างสูญเปล่า กนง. จึงยังคงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ท่ามกลางสถานการณ์ด้านตลาดการเงิน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น 

.

อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินว่า หลัง กนง. ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เมื่อ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการลดลงในระดับใกล้จุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว  และมองแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี กนง. อาจตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนช่วงปลายปี

.

เนื่องจากภาพรวมสภาพคล่องในตลาดการเงิน เริ่มมีความตึงตัวมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาล ออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. เพื่อเตรียมการกู้เงินจากตลาดในประเทศ มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งได้ส่งผลให้ระดับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ       

.

อีกทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ไม่มีผลต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยในตลาด ช่วงเศรษฐกิจยังคงผันผวนสูง ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มมีแรงส่งมากขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ จากในปัจจุบัน SCRI ได้ใช้สมมติฐานระดับราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ยทั้งปี 2552 ที่ 58.0 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล               

.

ซึ่งทำให้ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีการปรับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถ้าระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวเร่งขึ้นในช่วงปลายปี ตามการคาดการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับราคาสินค้าอาหารที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง 

.

โดยที่ SCRI ประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2552 จะลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.7% ถึง 0.2% โดยระดับอัตราเงินเฟ้อใน 2H/52 จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงเดือน ก.ย. -  ต.ค. 2552 โดยในเบื้องต้นแล้วจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเตรียมต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลออกไปอีกจนถึงช่วงต้นปี 2553    

.

ส่งผลให้ SCRI คาดการณ์แนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ มีโอกาสสูงที่จะเป็นการเลื่อนระยะเวลาไปจนถึงในช่วงปลาย Q3 ถึงช่วงต้น Q4 ปี 2552 จากที่ในเบื้องต้นได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงเดือน ส.ค. 2552 

.

สรุปแล้ว SCRI ได้ประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2552 จะลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.7% ถึง 0.2% ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการณ์ลง จากระดับประมาณการณ์ในช่วงก่อนหน้า ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2552 จะอยู่ที่ระดับ -0.5% ถึง 0.5% ขณะที่ในด้านของระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน SCRI ประเมินแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มสูงที่การเคลื่อนไหวจะเป็นการทรงตัวติดลบในระยะสั้นๆ จนถึงในช่วง Q3/52 เท่านั้น

.

และหลังจากนั้นแนวโน้มน่าจะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยที่ SCRI ได้ปรับลดคาดการณ์ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 ลงในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าโดยเฉลี่ยในปี 2552 ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.25% ถึง 0.75% ชะลอตัวจากในปี 2551 ที่ระดับ 2.4%

.

แต่อย่างไรก็ตามในภาพโดยรวมของการคาดการณ์ทั้งในด้านของระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และพื้นฐาน ต้องถือได้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เนื่องจากสมมุติฐานในด้านของการต่ออายุนโยบายลดค่าครองชีพของทางรัฐบาลยังคงขาดความชัดเจน  

.

ทั้งนี้ จากปัจจัยในหลายๆส่วนอาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญ ที่อาจจะส่งผลต่อทิศทางระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี ให้มีปรับเพิ่มขึ้นก่อนช่วงปลายปี 52