เนื้อหาวันที่ : 2009-07-02 11:29:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1215 views

กำลังซื้อวูบเงินเฟ้อ6เดือนลบ1.6%

ปลัด ก.พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 52 เท่ากับ 104.7 ลดลง 4.0% เป็นการลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน ยันยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด คาดครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะสูงขึ้น บวกกับเงินบาทอ่อนค่า ดันเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

.

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมิ.ย. 52 เท่ากับ 104.7 ลดลง 4.0% เทียบกับเดือนมิ.ย.51 เป็นการลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน และต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เป็นต้นมา ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 52 เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น 0.4% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

..

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 4.0% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 9.4% มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงลด 26.5% ค่าโดยสารสาธารณะลด 10.8%   ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุปกรณ์ลด 10% หมวดเคหสถาน ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาลด 5%

.

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.8% โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้น 7.3% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 5.4% ผักและผลไม้ 8.9% เครื่องประกอบอาหาร 0.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.8% อาหารบริโภคในบ้าน 2.0% อาหารบริโภคนอกบ้าน 1.6%  มีเพียงข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์รายการเดียวเท่านั้นที่ลด 8.3% 

..

ส่วนสาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.4% เมื่อ เทียบต่อเดือน เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.0% เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นตามภาวะน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการให้เงินอุดหนุนสาธารณูปโภคลงในพื้นที่บางจังหวัด ประกอบกับบุหรี่และเครื่องดื่มมีแอล กอฮอล์ปรับราคาขึ้น จากการขึ้นภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.4%

..

นายศิริพลกล่าวว่า แม้เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.จะติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อลดลงหรือดิสอินเฟลชั่นเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นผลจากราคาน้ำมันในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนมาก และมีมาตรการพิเศษจากภาครัฐในการช่วยเหลือลดค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยดัชนีราคาสินค้าขณะนี้ยังมีการปรับขึ้นลงที่ต่างกัน ไม่ได้ปรับลงพร้อมกันหมดถึงจะน่าห่วงว่าเกิดเงินฝืด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่น่ากังวล ถือว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะมีเงินจับจ่ายใช้สอยถูกลง แต่หากเงินเฟ้อพื้นฐานลบติดกันมากจะน่าห่วงกว่า

..

สำหรับเงินเฟ้อครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันภายในประเทศสูงขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจาก 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมาตรการที่รัฐบาลนำ มาช่วยเหลือประชาชนเริ่มหมดระยะเวลา ทำให้เงินเฟ้อทั้งปียังอยู่ในกรอบประมาณการณ์ที่ 0.-0.5% ภายใต้สมมุติฐาน ราคาน้ำมันดิบ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อทั้งปีอาจต่ำกว่ากรอบอยู่ในแดนลบได้  หากน้ำมันลดลงมากกว่าระดับสมมุติฐาน หรือมีการขยายเวลาช่วยเหลือค่าครองชีพจากรัฐเพิ่มเติม

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์