เนื้อหาวันที่ : 2009-06-30 14:03:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2774 views

นักวิชาการประสานเสียงเงินเฟ้อ มิ.ย.ดิ่งต่อ เป็นแค่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค

นักเศรษฐศาสตร์คาดเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.52 ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เหตุฐานเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงมากจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงสุด มั่นใจไทยไม่เดินเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

.

นักเศรษฐศาสตร์หลายสถาบันคาดเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.52 จะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับจากต้นปี และอาจติดลบหนักกว่าเดือน พ.ค.เนื่องจากฐานเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันของปีก่อน(มิ.ย.51)สูงมากจากผลของราคาน้ำมันกลางปีที่พุ่งสูงสุดเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

..

ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน แต่มั่นใจเศรษฐกิจไทยไม่เดินเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ติดลบต่อเนื่องครึ่งปีและยังน่าจะติดลบต่อไปอีกในเดือนหน้า เพราะสาเหตุมาจากปัจจัยเทคนิค รวมทั้งทิศทางราคาน้ำมันเริ่มเป็นขาขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

..

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ในเดือน พ.ค.52 ที่ -3.3% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.)อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ -1.1% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.อยู่ที่ -0.3% เฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ 1.1%

..

สถาบัน                                  อัตราเงินเฟ้อ มิ.ย.52(YoY)
สถาบันวิจัยนครหลวงไทย                      -4.1%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                              -3.7%
นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย          ติดลบ     

..

นายกิตติพงษ์ กังวานเกียรติชัย นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อ(CPI)ในเดือน มิ.ย.52 น่าจะติดลบมากกว่าเดือน พ.ค. โดยมาอยู่ที่ -4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) จะอยู่ที่ -1.1%

..

"เหตุที่มองว่าเงินเฟ้อจะติดลบมากขึ้น เนื่องจากฐานการคำนวณในปีนี้กับปีก่อนต่างกันมาก ทั้งราคาน้ำมัน รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลที่เพิ่มเรื่องการเรียนฟรี เสื้อผ้าชุดนักเรียนฟรี ตรงนี้จึงเป็นน้ำหนักที่ทำให้เงินเฟ้อปีก่อนกับปีนี้ต่างกันเยอะขึ้น" นักเศรษฐศาสตร์ กล่าว

..

นายกิตติพงษ์ เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังติดลบต่อเนื่องกันไปอีก 2 เดือน คือ มิ.ย.-ก.ค.และจะเริ่มปรับตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป คือ อยู่ที่ระดับ 0.6% เนื่องจากรัฐบาลเริ่มใช้ 6 มาตรการ 6 เดือนลดค่าครองชีพตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.ซึ่งจะทำให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อในปีที่แล้วและปีนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่การคิดฐานเงินเฟ้อเดียวกันที่มีการคำนวณจากปัจจัยมาตรการเรื่องค่าครองชีพไว้ด้วย 

..

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 คาดว่าจะอยู่ที่ -0.5 ถึง 0.5% ภายใต้สมมติฐานที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 36 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 45 ดอลลาร์/บาร์เรล

..

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.นี้จะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -3.7% เป็นผลจากฐานเงินเฟ้อของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง(อัตราเงินเฟ้อ มิ.ย.51 อยู่ที่ 8.9%) ในขณะที่ระดับราคาสินค้าพบว่าปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.52 เพราะในเดือน มิ.ย.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ประมาณ 3 บาท/ลิตร 

.

แม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องถึงครึ่งปี แต่เชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจของไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเหตุที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีเกิดจากฐานเงินเฟ้อในปีก่อนที่สูงมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยทางเทคนิค แต่หากดูปัจจัยพื้นฐานแล้วจะพบว่ามีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดเงินฝืด เพราะจากสมมติฐานที่หลายประเทศต่างมองว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องด้วย 

..

"เงินเฟ้อที่ติดลบปีนี้มาจากทางเทคนิคที่เทียบกับปีก่อนที่ราคาน้ำมันสูงมาก พอปีนี้ราคาน้ำมันลด เงินเฟ้อจึงติดลบหนัก แต่มองว่าความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดคงเป็นไปได้ไม่มาก เพราะแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบสูง แต่ราคาสินค้าอยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น...สัญญาณเศรษฐกิจโลกถ้าเห็นว่าค่อยๆ ฟื้นตัว ราคาน้ำมันก็จะขยับขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขนี้โอกาสเกิดเงินฝืดคงน้อย ขณะที่ทางการหลายประเทศกลับเริ่มกังวลถึงภาวะเงินเฟ้อกันแล้ว"ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว 

..

อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึง ก.ค. จากนั้นจะค่อยๆ ขยับเป็นบวก และคาดว่าไตรมาส 4/52 อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากผลของฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในปลายปีก่อน โดยทั้งปี 52 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 0-1% 

.

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.จะยังติดลบต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวลดลงมาก ประกอบกับ การเปรียบเทียบกับฐานเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง 

.

"เงินเฟ้อ มิ.ย.คงยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะติดลบมากน้อยแค่ไหน เพราะเงินเฟ้อช่วงครึ่งแรกของปีก่อนอยู่ในระดับสูง ตอนนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงานทุกตัวสูงหมด นอกจากนั้นการบริโภคในช่วงนี้ลดลงมาก CPI จึงไม่น่าจะขยับตัวขึ้นเพิ่มขึ้น" นายสมภพ กล่าว 

.

ทั้งนี้ มองว่าหากอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน ก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกันพบว่าราคาพลังงานในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จึงน่าจะพยุงให้เงินเฟ้อคงไม่ติดลบลงไปมากนัก