เนื้อหาวันที่ : 2009-06-29 09:07:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3113 views

2,000,000 ชั่วโมงโรงแยกก๊าซ กับความหวั่นวิตกของคนจะนะ

ข้อความเชิญร่วมฉลอง "2,000,000 ชั่วโมง กับการทำงานอย่างปลอดภัย" ของบริษัททรานส์ไทย - มาเลเซีย ประเทศไทยซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย พยายามบอกเล่าถึงความรับผิดชอบ ตระหนักถึงความปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หากแต่ในความเป็นจริงชาวจะนะยังคงเป็นทุกข์ และวิตกกังวลต่อการดำเนินงานของโรงแยกก๊าซที่ไม่ได้เป็นดั่งคำโฆษณาที่สวยหรู

สุรัตน์ แซ่จุ่ง

.

.

ห้วงเวลายามหัวค่ำหลายวันก่อน ขณะที่ฉันเดินทางจะกลับเข้ามาบ้านในพื้นที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ ฉันสังเกตเห็นคัทเอาท์ขนาดใหญ่ติดอยู่ตรงสี่แยกไฟแดง สีสันสดใสกับการ์ตูนยิ้มร่าเริงดีใจ ข้อความบนป้ายมีใจความว่า "บริษัททรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศ) ไทย จำกัด ขอเชิญร่วมฉลอง 2,000,000 ชั่วโมง การทำงานอย่างปลอดภัย 25 - 26 มิถุนายน 2552 ณ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

.

รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ทิ้งท้ายด้วยคำขวัญ สร้างคุณภาพ ตะหนักความปลอดภัย ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม" หัวสมองฉันทำงานโดยอัตโนมัติ "โรงแยกก๊าซสร้างภาพลวงโลก" นึกในใจที่นี่เป็นตำบลหนึ่งที่แนวท่อก๊าซผาดผ่านเพื่อส่งก๊าซจากอำเภอจะนะไปยังประเทศมาเลย์

.

ระหว่างทางขณะนั่งอยู่บนรถสองแถวสายหาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปยังอำเภอจะนะ สายตาทอดมองธรรมชาติสองข้างทาง คิดอะไรเพลินๆ อยู่ๆ สายตาหยุดสะดุดกับคัทเอาท์ประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ของโรงแยกก๊าซ ข้อความเดียวกับที่ฉันเห็นที่ไฟแดงหน้าบ้านฉัน

.

เมื่อเห็นข้อความนั้นซ้ำๆ หลายครั้ง หลายวันต่อมาฉันเริ่มคิดว่า จะทำอะไรดีหนอกับคำว่า "2,000,000 ชั่วโมง กับการทำงานอย่างปลอดภัย" ที่ติดค้างในใจ เพราะความเป็นจริงที่ฉันรับรู้มา 2,000,000 ชั่วโมง กับการทำงานที่ผ่านมาของบริษัททรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) หรือชื่อย่อเรียกสั้นๆ ว่า "ทีทีเอ็ม" ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพไว้

.

จากที่ฉันได้ลงพื้นที่ร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นกลไกหนึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เสียงสะท้อนถึงผลกระทบและความวิตกกังวลจากพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย มีมากมายหลายประเด็น อาทิ…

.
ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่ว

คิดว่าทางบริษัททีทีอ็มยังจำเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่ว ณ สถานีควบคุมก๊าซที่ 1 เมื่อประมาณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ดี วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "จะนะหนีวุ่นท่อก๊าซแตกพุ่งสูง 1 เมตร ชี้วาล์วขัดข้อง" (คมชัดลึก 8 กุมภาพันธ์ 2552) "แตกตื่นท่อส่งก๊าซจะนะ" รั่ว เผยงูเข้าหม้อแปลงไฟช็อร์ต (มติชน 8 กุมภาพันธ์ 2552) "ตื่นท่อก๊าซจะนะ" รั่วสูง 1 เมตร เหตุหม้อไฟระเบิดดันวาล์วเปิด (กรุงเทพธุรกิจ)

.
กรณีเสียงเครื่องจักรดังจนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาประท้วง

ตั้งแต่โรงแยกก๊าซเดินเครื่องได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากมาย "น้าพงษ์" หรือนายสมพงษ์ ประสีทอง ชาวบ้านตำบลตลิ่งชันเล่าว่า วันแรกที่โรงแยกก๊าซเปิดเดินเครื่อง น้าพงษ์พร้อมด้วยภรรยาและลูกหลาน พร้อมทั้งเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง ต้องวิ่งหนีออกจากบ้าน เพราะเสียงเครื่องจักรที่ดังสนั่นผิดปกติ ทุกคนต้องวิ่งออกมาดู เพราะตกใจและหวั่นกลัวว่าจะเกิดระเบิด

.

น้าพงษ์เล่าว่า เสียงดังเหมือนเวลาเครื่องบินขึ้นลง หลังโรงแยกก๊าซเปิดเดินเครื่องเสียงนั้น ยังดังอยู่ ชาวบ้านตำบลตลิ่งชันรวมตัวประท้วง จนโรงแยกก๊าซต้องจ่ายค่าชดเสียงกรณีเสียงดัง จริงเท็จอย่างไร โรงแยกก๊าซน่าจะรู้ดี ที่สำคัญกรณีที่เกิดจากการเดินเครื่องบริษัททีทีเอ็ม อธิบายในเวทีคณะกรรมการไตรภาคีว่า "เป็นเพราะชาวบ้านไม่ชิน อยู่ไปชาวบ้านจะชินเอง"

.

กรณีเสียงดังที่ว่ามา ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงไก่ ในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน ที่ต้องเลิกกิจการไปประมาณ 14 ราย หนึ่งในนั้น "นิคม คล้ายกุ้ง" มีอาชีพเลี้ยงไก่ฟาร์มมากว่า 11 ปี ลงทุนคอกละ 350,000 สองคอกรวมแล้ว 700,000 บาท แต่ต้องเลิก เพราะคอกอยู่ห่างจากโรงแยกก๊าซประมาณ 300 เมตร ทั้งเสียงและแสงส่งผลกระทบต่อไก่ที่เลี้ยง จนบริษัทไม่เอาไก่มาลง โดยในรายงานผลการตรวจประเมินโรงเรือน โครงการจ้างเลี้ยงไก่รุ่นไข่ ระบุไม่ผ่านการประเมินเรื่องฝุ่นละอองและเสียงดัง เพราะไก่ตกใจทับกันตายง่าย

.
จริงหรือที่โรงแยกก๊าซ "ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม"

กระอักกระอ่วนพอสมควร ที่โรงแยกก๊าซขึ้นป้ายใหญ่โตว่า ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ในเมื่อสิ่งที่ฉันเห็น คือ ปล่องไฟโรงแยกก๊าซปล่อยควันดำ และกลิ่นเหม็น ยามเมื่อพูดถึงเรื่องกลิ่น คนในชุมชนที่เคยได้กลิ่นยากที่จะอธิบาย หรือให้คำนิยามให้คนที่ไม่เคยได้กลิ่นเข้าใจได้ว่า เป็นกลิ่นอย่างไร บ้างว่าเหมือนกลิ่นก๊าซหุงต้มรั่ว

.

หลายฝ่ายคาดว่ากลิ่นนั้น เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อกระแสความห่วงใยที่ได้รับรู้มา ชุมชนเริ่มมีเป็นห่วงถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น เริ่มมีผื่นคัน ชุมชนใกล้โรงแยกก๊าซ เริ่มมีอาการภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย และใช้ระยะเวลาหลายวันจึงจะหาย หลังจากที่โรงแยกก๊าซเดินเครื่อง

.

ล่าสุดเพิ่งได้อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง พาดหัวตัวโต "หมอหวั่นโรงแยกฯแพร่มะเร็ง" ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นผู้ที่ต้องสัมผัสกับคนไข้ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

.

"ประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ชุมชนรู้สึกได้ว่า มีส่วนกระทบต่อชุมชนในที่นี้ ก็คือ เรื่องกลิ่น ชุมชนคิดว่ามีกลิ่นเหม็น ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นชาวบ้านมีการบอกกล่าวกับโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว โรงแยกก๊าซก็รับทราบ แต่ปัญหาไม่ถูกแก้ไข….ปัญหาคือกลิ่น นี่คือสารอะไรโรงแยกรู้หรือไม่ พยายามเข้าไปหาแล้วหรือยังว่า เป็นสารอะไร ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเขาพอจะเดาได้บ้าง แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ"

.

ปัญหาเรื่องกลิ่น เป็นปัญหาที่โรงแยกก๊าซยังไม่สามารถแก้ไขได้ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ระยะยาวเชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน รับรู้ข้อมูลมาว่า แผนการดำเนินขั้นตอนไปโรงแยกก๊าซ จะวางระบบท่อน้ำเสียจากโรงแยกก๊าซผ่านบ้านสะกอม ก่อนที่จะปล่อยสู่ทะเล หากเป็นเช่นนี้การโฆษณาคำโตว่า ห่วงใยสิ่งแวดล้อมคงไม่ถูก

.
ขนก๊าซธรรมชาติเหลว (NGL) ก่อนแก้ไขอีไอเอ (EIA)

โรงแยกก๊าซทำผิด EIA ในการขนก๊าซ NGL จากการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA ) ระบุว่า จะมีการขนส่งทางทะเลไปยังจังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งต่อให้ประเทศมาเลย์ แต่ในความเป็นจริง การดำเนินการที่ผ่านมา ทางโรงแยกก๊าซใช้วิธีการขนส่งทางรถยนต์ โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่

.

ก่อนหน้านี้ ใช้เส้นทางจากอำเภอจะนะไปยังอำเภอสะเดา แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่ประท้วงเพราะหวั่นอันตราย ซึ่งนายจรูญฤทธิ์ ขำปัญญา ผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัททีทีเอ็ม ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า "มีการขนส่ง NGL ตั้งแต่ปี 2547 เดิมทีมีการทำ EIA ไว้ให้มีการขนส่งทางเรือ เพราะคาดว่าจะทำโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 2 โรง จึงมีปริมาณก๊าซจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้สร้างโรงแยกก๊าซเพียงโรงเดียว ปริมาณก๊าซ NGL จึงไม่มากพอที่จะขนส่งทางเรือ เพราะไม่คุ้มทุน"

.

นายจรูญฤทธิ์ ระบุว่า มีการขนส่งวันละ 11 เที่ยว พร้อมทั้งปัดความรับผิดชอบว่า "เรามีหน้าที่รับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ ความรับผิดชอบของเราหมดลง ตั้งแต่จุดซื้อขายแล้ว ส่วนที่เหลือ คือ การขนส่ง เป็นเรื่องของลูกค้า คือ บริษัท เปโตรนาส ของมาเลเซีย เมื่อรถออกจากโรงแยกก๊าซแล้วก็เป็นเรื่องของลูกค้าที่ต้องรับผิดชอบ"

.
ภาษีที่อ้างว่าชุมชนจะได้กลับขอลดหย่อนภาษี

นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า บริษัททีทีเอ็มพยายามขอลดหย่อนภาษีจาก 3,493,096 บาท เหลือ 1.9 ล้านบาท อ้างว่าได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคมแล้ว แต่ทางคณะกรรมการฯ ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจะนะ แต่งตั้งขึ้นมาพิจารณา ไม่ยินยอม ในที่สุดบริษัททีทีเอ็ม จำใจต้องจ่ายภาษีตามที่ประเมิน เป็นการขอลดหย่อน ทั้งที่ก่อนดำเนินโครงการมีการประชาสัมพันธ์ว่า คนในพื้นที่จะมีงานทำ และมีรายได้จากภาษีเข้าสู่ชุมชน

.

ปรากฏว่าความจริง คือ คนในชุมชนเป็นได้พียงกรรมกรก่อสร้างโรงแยกก๊าซ ยาม และแม่บ้าน โรงแยกก๊าซใหญ่โตเงินลงทุนหลายหมื่นล้าน แต่มีการจ้างงานภายในโรงแยกก๊าซประมาณร้อยกว่าคน เท่านั้น และเป็นคนงานนอกพื้นที่ มาจากอำเภอหาดใหญ่ มีรถรับส่งเช้าเย็น น่าสังเกตบริษัทไม่ให้คนงานพักในพื้นที่

.

ในความเป็นจริงกองทุนที่ตั้งขึ้นมา ไม่สามารถจัดการปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นได้ กองทุนไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพียงซื้อการยอมรับ และปิดปากชุมชนไม่ให้โวยวายเสียงดัง เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์โรงแยกก๊าซเสียหาย

.

ฉันเพียงอยากสื่อสารข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอีกด้านสู่สังคมว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างไร ยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาในมิติอื่น เช่น ด้านสังคมที่สร้างความแตกแยกในชุมชน จนยากที่จะสมานให้คงเดิม รวมถึงมิติการละเมิดหลักการศาสนาอิสลาม โดยการรังแกพี่น้องมุสลิมกรณีการฮุบที่ดินวะกัฟ (ที่ดินสาธารณประโยชน์) ไปใช้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซ และอื่นๆ อีกมากมาย

.

ที่สำคัญยอมรับกับการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทไม่ได้ ที่มาสร้างภาพ "ร่วมฉลอง 2,000,000 ชั่วโมง การทำงานอย่างปลอดภัย สร้างคุณภาพ ตะหนักความปลอดภัย ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม"

.

ทั้งที่ในความเป็นจริงมีอีกด้านที่ซ้อนไว้ โดยงานนี้มีกระแสข่าวพูดคุยกันว่า การเกณฑ์คนในชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วม มีรถรับถึงบ้าน และให้โรงเรียนรอบโรงโรงแยกก๊าซพาเด็กนักเรียนเข้าไปร่วมฉลองกับความสำเร็จ โดยบอกว่าถ้าชวนผู้ปกครองเข้าร่วมได้ก็ยิ่งดี

.

นี่คือ กระบวนการสร้างภาพและสร้างการยอมรับของคนในชุมชน โครงการยักษ์ใหญ่นี้ร่วมทุนระหว่างไทย - มาเลย์ฝ่ายละ 50 : 50 แต่ประเทศไทยเสียเปรียบทั้งรายได้และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะโรงแยกก๊าซตั้งอยู่ประเทศไทย มลพิษเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ประเทศมาเลเซียได้ก๊าซไปใช้ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซแห่งนี้

.

แม้แต่ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าจะนะ ก็เป็นการเข้าใจผิดว่า เป็นการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซ ทั้งที่ความจริงแล้ว โรงไฟฟ้าใช้ก๊าซดิบจากแหล่งเจดีเอ ที่ไม่ผ่านกระบวนการแยกของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียแต่อย่างไร

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท