เนื้อหาวันที่ : 2009-06-28 09:52:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8209 views

Green New Deal กู้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าโลกของเราได้เผชิญมหันตภัยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมหันตภัยทางธรรมชาติ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเราพิจารณาให้ดีแล้วจะรู้ว่ามหันตภัยต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สมดุลทั้งสิ้น "Green New Deal" คำศัพท์ที่จะมีส่วนช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาแบบยั่งยืน (ตอนที่ 5)

รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 5)
รู้จัก Green New Deal กู้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน   

.

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าโลกของเราได้เผชิญมหันตภัยหลายต่อหลายเรื่องนะครับ ไม่ว่าจะเป็นมหันตภัยทางธรรมชาติ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและล่าสุดทั่วทั้งโลกกำลังตื่นตระหนกกับการระบาดของ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ซึ่งอาจจะคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้านคนได้หากเราไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ทันท่วงที

.

ทั้งหมดนี้หากเรายึดหลัก "อิทัปปัจจยตา" ของพุทธศาสนาแล้ว เราก็จะรู้ว่ามหันตภัยต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยทั้งสิ้นครับ ซึ่งเหตุปัจจัยที่ว่าก็มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สมดุลนั่นเอง

.

สำหรับซีรีส์ "รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21" ฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตแนะนำศัพท์คำว่า Green New Deal ครับ กล่าวกันว่าเจ้า Green New Deal นี่แหละครับที่จะมีส่วนช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

.
จาก New Deal ถึง Green New Deal

คำว่า New Deal นั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญพายุเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดหรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great Depression โดย New Deal เป็นแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ครับ

.

จุดประสงค์สำคัญของ New Deal คือ ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาการว่างงานก่อนเนื่องจากในเวลานั้นคนอเมริกันตกงานเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันแผนการ New Deal ได้ปฏิรูประบบการเงินการธนาคารของสหรัฐใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาธนาคารล้ม โดยแพคเกจ New Deal นั้นถูกผลักดันออกมาใช้ครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.1933-1935 ครับ  

.

นอกจากนี้แล้ว New Deal ยังสะท้อนให้เห็นบทบาทของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งโดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะต้องใช้นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) เป็นเครื่องมือหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ด้วยเหตุนี้เอง New Deal จึงเป็นต้นตำรับในการวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาดังกล่าวครับ

.

ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวสต์ (Franklin D. Roosevelt)
ต้นตำรับ New Deal แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 30

.

สำหรับ Green New Deal นั้น เกิดขึ้นจากข้อเสนอของนักคิด และนักวิชาการตะวันตกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงเพียงอย่างเดียว หรือ ไม่ใช่แค่ตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะวิกฤตที่เกิดคราวนี้เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผิดทิศผิดทางมาตลอดทศวรรษที่ 20 ดังนั้นการแก้ไขวิกฤตจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหาเสียใหม่ซึ่งนักคิดเหล่านี้เรียกแผนการกู้วิกฤตรอบนี้ว่า Green New Deal นั่นเองครับ

.

Green New Deal เป็นชื่อเรียกสั้น ๆ ที่ได้มาจากรายงานที่ชื่อ A Green New Deal: Joined-up policies to solve the triple crunch of the credit crisis, climate change and high oil prices โดยรายงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่โดย New Economic Foundation ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) ที่สนใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

.

โลโก้ของกลุ่ม Green New Deal

.

กลุ่ม Green New Deal ประกอบไปด้วยนักคิด นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการที่มีจุดยืนร่วมกันในการเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมให้เป็นไปอย่างยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้เองคนกลุ่มนี้จึงเลือกใช้คำว่า Green นำหน้าชื่อแผนการฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจ

.

ในรายงานที่กลุ่ม Green New Deal นำเสนอนั้น พวกเขาได้กล่าวถึงการล่มสลายสามประการที่กำลังจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 โดยการล่มสลายทั้งสามอย่างประกอบไปด้วย การล้มลงของระบบการเงินของโลกทุนนิยม (Financial meltdown), การถีบตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานและอาหาร (Soaring energy prices and food) และ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

.

การล่มสลายทั้งสามอย่างนี้ กลุ่ม Green New Deal เรียกมันว่า Triple Crunch ครับ ซึ่งเจ้า Triple Crunch นี่เองที่กำลังจะก่อตัวเป็นพายุลูกใหญ่ที่อาจทำให้โลกของเราวิบัติได้ในไม่ช้า

.

A Green New Deal: Joined-up policies to solve the triple crunch
 Of the credit crisis, climate change and high oil prices
แผนการกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน

.

แลรี่ เอลเลียต (Larry Elliot) บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของ The Guardian
หัวหอกกลุ่ม A Green New Deal

.
สำหรับข้อเสนอหลักของแผน Green New Deal ในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน มีดังนี้ ครับ

• รัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy efficiency) อาทิ การสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับชุมชนซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วยังช่วยลดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) อีกด้วย

.

• รัฐบาลควรเป็นผู้สร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจแบบ Low Carbon Economy กล่าวคือ รัฐจะต้องควบคุมดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ให้ก่อให้เกิดมลภาวะจนไปทำลายสิ่งแวดล้อม (Green jobs)

.

• รัฐบาลอาจจะต้องเลือกใช้มาตรการเก็บภาษีย้อนหลัง (Windfall tax) เฉพาะในส่วนกำไรของบริษัทน้ำมันหรือธุรกิจพลังงานเนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงรวดเร็ว โดยรัฐอาจจะเอารายรับดังกล่าวมาลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดสำหรับเอาไว้ใช้ในอนาคต

.

• รัฐบาลอาจจะใช้มาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาลงทุนในธุรกิจที่ปลอดมลพิษและประหยัดพลังงาน (Green investment)
• สำหรับภาคสถาบันการเงินแล้ว สถาบันการเงินทั้งหลายควรพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็น Green Banking นั่นหมายถึงการเป็นสถาบันการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงิน ไม่มีการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงมากจนเกินไป ขณะเดียวกันคำว่าความรับผิดชอบนี้ยังรวมไปถึงการที่ผู้บริหารสถาบันการเงินต้องมีคุณธรรม (Ethic) อย่างแท้จริง

.

• สำหรับภาคการเงินระหว่างประเทศนั้น ควรมีการวางกติกาขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้ภาคการเงินนำหรือข่ม (Dominate) ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคการผลิต (Real Sector) เนื่องจากเวลาที่ภาคการเงินประสบปัญหาขาดสภาพคล่องก็มักจะฉุดเอาภาคการผลิตหรือภาคเศรษฐกิจจริงไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงิน (Capital Control) ให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

.

• เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการลงทุนในตลาดตราสารอนุพันธุ์ (Derivatives) เนื่องจากตลาดดังกล่าวมีความผันผวนมาก
• ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยกำหนดให้ธุรกิจต้องรายงานงบการเงินอย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมารวมถึงกำหนดเขตปลอดภาษี (Tax havens) ให้ชัดเจน

.

แม้ว่าข้อเสนอเหล่านี้ดูจะเป็นข้อเสนอที่หลายคนทราบดีอยู่แล้ว แต่ทราบหรือไม่ครับว่าในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่มีชาติใดเอาจริงเอาจังหรือเข้มงวดโดยเฉพาะเรื่องของการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งในระยะหลังได้กล่าวถึงเรื่องธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล (Good Governance and Good Corporate) มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความคิดเหล่านี้มักปรากฏอยู่ในตำราหรือจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งเมื่อเอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครสามารถปฏิบัติได้ตามกติกาทางจริยธรรมที่วางไว้

.

Green New Deal เริ่มถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้นโดยเฉพาะเมื่อนายโทมัส แอล ฟรีดแมน (Thomas L Friedman) คอลัมนิสต์ชื่อดังแห่ง New York Times ได้เขียนถึง Green New Deal นั่นแสดงให้เห็นว่านักคิดนักวิชาการตะวันตกหลายคนเริ่มพยายามเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่สมดุลระหว่างตัวมนุษย์เอง สิ่งแวดล้อมและคุณธรรมของคนในสังคม ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะสายเกินไปหรือเปล่า… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

โธมัส แอล ฟรีดแมน (Thomas L Friedman)
คอลัมนิสต์ผู้ทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา
เจ้าของหนังสือชื่อดัง The World is flat
ฟรีดแมนเป็นคนแรก ๆ ที่พูดถึง A Green New Deal

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. 
www.neweconomics.org/
2. 
www.wikipedia.org