เนื้อหาวันที่ : 2009-06-19 09:36:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4077 views

การคอรัปชั่นเชิงนโนบายกับสายสัมพันธ์โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่

การประมูลรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นชนะการประมูลถึง 2 โครงการ แต่มีอันต้องพับเก็บไปเพราะชาวบ้านต่อต้านขับไล่ ในที่สุดรัฐบาลกับบริษัทเจ้าของโครงการจึงย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการ มารวมเป็นโครงการเดียวในชื่อ "โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2" โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินที่ถูกต่อต้านอย่างหนักเพราะก่อมลพิษสูง

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

.

ชื่อบทความเดิม: ความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี 

.

.

ก. เกริ่นนำ

ในการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งแรก เมื่อปี 2537 บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด และบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งมีบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ 'เจเพาเวอร์' บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ 'เอ็กโก' เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว

.

ได้ชนะการประมูลไอพีพี จำนวน 2 โครงการด้วยกัน คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,400 เม็กกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกกำลังการผลิตติดตั้ง 700 เม็กกะวัตต์ ตามลำดับ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสองโครงการ 2,100 เม็กกะวัตต์

.

ต่อมา ภายหลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง คือ บ้านกรูดและบ่อนอก ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เพราะมีประชาชนในพื้นที่จำนวนมากต่อต้านขับไล่ ในที่สุดรัฐบาลกับบริษัทเจ้าของโครงการจึงได้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ด้วยการย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามาที่จังหวัดสระบุรี แล้วรวมเป็นโครงการเดียวในชื่อ 'โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2' ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 1,468 เม็กกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินที่ถูกต่อต้านอย่างหนักเพราะก่อมลพิษสูง

.

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยมีบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) [1] หรือ 'กัลฟ์อิเล็คตริกฯ' ดำเนินการบริหาร

.

ในการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งที่สอง เมื่อปี 2550 กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ได้ก่อตั้งบริษัทลูกชื่อว่าบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด (กัลฟ์ เจพีฯ) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการแข่งขันประมูล และได้ชนะการประมูลเป็นจำนวน 2 โครงการด้วยกัน คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และโครงการโรงไฟฟ้าเสม็ดใต้หรือบางคล้า ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 1,600 เม็กกะวัตต์ รวมสองโครงการเท่ากับ 3,200 เม็กกะวัตต์

.

ข. สายสัมพันธ์ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย

สำหรับการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งที่สอง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้มีคำสั่งที่ 8/2550 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ('คณะอนุกรรมการฯ')

.

โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน คือ นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตลอดจนประเมินและคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เหมาะสมเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ต่อไป มีข้อน่าสังเกตว่ากระบวนการประมูลครั้งนี้มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้ ดังนี้  

.

1) นายพรชัย รุจิประภา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน และเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐวิสาหกิจเข้าไปร่วมทุนหลายแห่ง กล่าวคือ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประธานกรรมการเอ็กโก

.

ซึ่งมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. และประธานกรรมการในบริษัทที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. เคมีคอล จำกัด(มหาชน) และบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด(มหาชน) และยังเป็นประธานอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอีกด้วย! ซึ่่งบุคคลดังกล่าวมี 'สองฐานะ' ในขณะเดียวกัน กล่าวคือ

.

หนึ่ง - เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เพราะว่าเอ็กโกและบริษัทลูกของเอ็กโก คือกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ เป็นบริษัทที่ยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลในครั้งนี้ด้วย ซึ่งทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนด้วย

.

สอง - เป็นผู้พิจารณาผลของการยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลนั้นเอง เพราะนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานอนุกรรมการฯ

2) 26 มิถุนายน 2550 คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดขายซองประมูลแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั่วไป ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี

.

26 กรกฎาคม 2550 กระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือเกี่ยวกับคุณสมบัติของประธานอนุกรรมการฯ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอหรือซองประมูล ว่ามีความเป็นกลางหรือไม่

.

ก่อนวันที่ 26 กันยายน 2550 คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่า

"นายพรชัย รุจิประภา ประธานอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอ หรือประธานกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนออยู่หลายแห่ง บุคคลผู้นี้จึงมีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณาและเป็นผู้พิจารณาผลของการยื่นข้อเสนอนั้นเอง

.

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงพิเคราะห์ได้ว่า การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอหรือประธานกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนออาจเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

.

กรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองย่อมไม่อาจทำการพิจารณาต่อไปได้ และต้องงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือต้องเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้น" [2] 

.

26 กันยายน 2550 ได้มีคำสั่งจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน แต่งตั้งนายวีรพล จิรประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นประธานอนุกรรมการฯ แทนนายพรชัย รุจิประภา

.

19 ตุลาคม 2550 ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้ทำการยื่นซองประมูลหรือข้อเสนอการผลิตและขายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐ ตามโครงการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

.

7 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้อนุมัติให้โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ของกัลฟ์ เจพีฯ เป็น 2 ใน 4 โครงการที่เป็นผู้ชนะการประมูลไอพีพี ครั้งที่สองนี้ในที่สุด

แผนผังความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดปัญหาการคอรรัปชั่นเชิงนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี

.

3) ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จะเห็นชอบให้ถอดนายพรชัย รุจิประภา ออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อลบข้อครหาจากสาธารณชนเรื่องการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณา แต่กระบวนการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในครั้งนี้ ไม่อาจหลุดพ้นสภาพ 'การเป็นผู้มีส่วนได้เสีย' หรือ 'ความไม่เป็นกลาง' หรือ 'การผูกขาด' เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่เป็นฝ่ายของตัวเองลงไปได้

.

เนื่องจากว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จะต้องเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ได้ส่งบริษัทในเครือของ กฟผ. เอง หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนด้วย คือเอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ มาเป็นผู้ยื่นซองประมูลหรือข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

.

ดังนั้น กฟผ. จึงเป็นหน่วยงานที่มีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณา และเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของตัวเองที่ผ่านการพิจารณาเข้ามา

.

4) มีกระบวนการคล้ายสมยอมกันขึ้นระหว่างเจเพาเวอร์ เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ เพื่อตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง กฟผ. และเอ็กโก กับกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ว่าทั้งสองบริษัทหลังนี้ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนอีกต่อไปแล้ว เพื่อให้พ้นมลทินเรื่องการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลในการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง

.

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 ก่อนที่คณะอนุกรรมการฯ จะเปิดขายซองประมูล มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายสำนักเป็นไปในทำนองว่ากัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะทำการขอซื้อหุ้นบริษัทตัวเองจากเอ็กโกที่ถืออยู่ 50% คืนทั้งหมด เพราะเกิดข้อขัดแย้งกัน เนื่องจากเอ็กโกขัดขวางการเจริญเติบโตของบริษัทโดยไม่ยอมให้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ยื่นซองประมูลโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง เพราะเอ็กโกก็แสดงความจำนงยื่นซองประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งนี้เช่นเดียวกัน เอ็กโกจึงเกรงว่าหากยื่นซองประมูลพร้อมกันทั้งสองบริษัทจะเกิดข้อครหาการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลได้

.

ในหนังสือพิมพ์หลายสำนักรายงานคล้ายๆ กันว่าเอ็กโกพร้อมเจรจาขายหุ้นกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ทั้งหมดให้เจเพาเวอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าเอ็กโกจะยังคงถือหุ้นในบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ที่ถือหุ้นอยู่ 99.99% โดยเอ็กโกต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นฯ อยู่ 50% (หรือยินดีซื้อเพิ่มเติมทั้งหมดก็ได้) แม้ว่าจะไม่ได้ถือหุ้นใน กัลฟ์อิเล็คตริกฯ แล้วก็ตาม

.

เนื่องจากกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นฯ เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ขนาดกำลังการผลิต 1,468 เม็กกะวัตต์ โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. ยูนิตแรก 734 เม็กกะวัตต์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา และจะจ่ายไฟฟ้ายูนิตสองเข้าระบบ กฟผ. อีก 734 เม็กกะวัตต์ ในเดือนมีนาคม 2551 เพื่อแลกกับการที่กัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะแยกตัวออกมาจากเอ็กโกอย่างเด็ดขาด และมีอิสระในการดำเนินการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง และครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตด้วยตัวเอง

.

ในท้ายที่สุด ถึงแม้โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่เอ็กโกยื่นซองประมูลทั้ง 3 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,800 เม็กกะวัตต์ จะผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคทั้งหมด แต่ในขั้นสุดท้ายก็ไม่อาจผ่านการอนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประมูลได้แม้สักโครงการหนึ่ง แต่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ของกัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทหน้าใหม่ในวงการ

.

เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 [3] (คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดขายซองประมูลแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั่วไป ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550) โดยบริษัทแม่คือกัลฟ์อิเล็คตริกฯ กลับเป็นผู้ชนะการประมูลได้ทั้งสองโครงการที่ยื่นซองประมูลเลยทีเดียว

.

จึงเป็นสิ่งที่น่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าเอ็กโก และกัลฟ์อิเล็คตริกฯ เล่นละครตบตาประชาชนหรือไม่ ทำไมเอ็กโกจึงไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สองได้แม้สักโครงการหนึ่ง หรือเป็นเจตนาคล้ายสมยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้กัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมา

.

โดยกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ซึ่งมีบริษัทแม่คือเจเพาเวอร์เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่อยู่ในทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง คือโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า กำลังผลิตติดตั้งรวม 3,200 เม็กกะวัตต์ แล้วให้เอ็กโกมีสิทธิ์เข้าไปถือหุ้นโดยตรงในโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แทน

.

การเล่นละครตบตาเช่นนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้แข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองรายอื่นๆ ได้คลายความกังวลสงสัยว่า กฟผ. เอ็กโกและกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ไม่ได้ถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลให้แก่บริษัทในเครือของตัวเองหรือบริษัทที่ตัวเองเข้าไปร่วมทุนด้วย และทำให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ไม่สามารถสาวโยงใยหรือสายสัมพันธ์ไปถึง ‘กระบวนการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูล’ ระหว่าง กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ได้อย่างง่ายดาย 

.

ค. ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เอ็กโกยังคงถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 50% ในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ อยู่เช่นเดิม และบริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง [4] และเมื่อดูรายชื่อกรรมการในเอ็กโกและกัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะพบว่ามีความสัมพันธ์เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ดังนี้ 

.

1) นาย วินิจ แตงน้อย ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีอำนาจลงนามของเอ็กโก และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [5]

.

2) นายศักดา ศรีสังคม ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน กรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการกำกับธุรกิจในเครือ และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของเอ็กโก และมีตำแหน่งเป็นกรรมการของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [6]

.
3) นายสกุล พจนารถ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารโครงการของเอ็กโก และเป็นกรรมการในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [7]   
.

ดังนั้น การสร้างข่าวความขัดแย้งในการแย่งชิงการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองของเอ็กโกและกัลฟ์ อิเล็คตริกฯ จนถึงขั้นที่กัลฟ์ อิเล็คตริกฯ จะขอซื้อหุ้นคืนจากเอ็กโกทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นอิสระไม่ถูกกีดกันจากเอ็กโกในการแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองและครั้งต่อๆ ไปในอนาคตนั้น จึงเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนทั้งประเทศ!

.

ภายหลังจากที่กัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ เป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองแล้ว มีกระบวนตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2551 มีข่าวออกมาว่ากัลฟ์ เจพีฯ บริษัทแม่ของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด และบริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง คือโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ตามลำดับ

.

เตรียมแยกตัวออกจากกัลฟ์อิเล็คตริกฯ หลังแจ้งเกิด 2 โรงไฟฟ้าใหม่กำลังผลิตรวม 3,200 เม็กกะวัตต์ เฉือนชนะเอ็กโก บริษัทแม่ของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ที่ไม่มีนโยบายให้บริษัทลูกเติบโตในธุรกิจไฟฟ้าอีกต่อไป โดยมีเจเพาเวอร์ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่เพื่อเตรียมลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทย ตั้งเป้าประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบต่อไป รวมไปถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือเอสพีพีด้วย

.

ข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ยังพบว่ากัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ยังมีสายสัมพันธ์เป็นบริษัทแม่-ลูกกันอยู่ ถึงแม้โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัททั้งสองมีสายสัมพันธ์โยงใยที่ดูเหมือนยุ่งเหยิงไปหมด เพื่อไม่ให้สามารถแกะรอยความสัมพันธ์บริษัทแม่-ลูกได้ชัดเจนก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัททั้งสองล้วนเป็นบริษัทลูกของเจเพาเวอร์ บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ กัลฟ์อิเล็คตริกฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจากเอ็กโก ด้วยสัดส่วนจำนวนหุ้น 49% คือ บริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติเนเธอร์แลนด์

.

ส่วนกัลฟ์ เจพีฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งคือบริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติไทย ซึ่งทั้งสองบริษัท คือ เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) สัญชาติเนเธอร์แลนด์และสัญชาติไทย ล้วนมีสำนักงานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน คือ เลขที่ 388 อาคารเอ็กเชนทาวเวอร์ ห้อง 2003 ชั้น 20 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย กรุงเทพฯ [8]

.

เมื่อดูรายชื่อกรรมการในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ก็ยังพบว่ามีสายสัมพันธ์เป็นบริษัทแม่-ลูก อยู่เช่นเดิม ดังนี้

1) นายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์ เจพีฯ ด้วย [9]

.

2) นายมาซาฮิเดะ ทาคาราย่า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์ เจพีฯ ด้วย [10]

.

ดังนั้นเอง เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ยังเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือเดียวกันหรือเป็นบริษัทแม่-ลูกกันทั้งในประเด็น 'ผู้ถือหุ้น' และ 'กรรมการบริษัท' ทั้งก่อนทำการประมูล ในขณะทำการประมูลและหลังจากเป็นผู้ชนะการประมูล ประกอบกับ กฟผ.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในเอ็กโก [11] (และเอ็กโกเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ) จึงทำให้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ มีสถานภาพเป็นบริษัทในเครือ กฟผ.หรือบริษัทที่ กฟผ.เข้าไปร่วมทุนอีกทางหนึ่งด้วย

.

จึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้ง 4 บริษัท ที่กล่าวมาไม่อาจลบล้างข้อครหาการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลลงได้ เพราะว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานที่มีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณา และเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของตัวเองที่ผ่านการพิจารณาเข้ามา  

.
ง. สรุป

1) การถือหุ้นไขว้และ 'ไขว้กรรมการบริษัท' ใน กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการฮั้วประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการสมคบคิดกันทำลายความเป็นธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลในสังคมไทย ทำลายความไม่เป็นธรรมในกิจการพลังงาน นำมาซึ่งการผูกขาด ปิดกั้นโอกาสของบริษัทหรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในพวกของตน ทำลายการค้าหรือการแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

.

2) กระบวนการไม่ชอบธรรมของการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองเช่นนี้ น่าที่จะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งแรกเมื่อปี 2537 ว่ามีลักษณะเข้าข่ายการถือหุ้นไขว้และการไขว้กรรมการบริษัทซึ่งนำมาฮั้วประมูลที่เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเช่นครั้งที่สองนี้หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้พฤติกรรมเช่นนี้ลอยนวลต่อไปเกรงว่าจะมีกระบวนการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเยี่ยงนี้ในการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งต่อๆ ไป ในอนาคตได้

.

3) ขณะนี้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ได้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าในจังหวัดสระบุรีเอาไว้ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าในจังหวัดสระบุรีถึง 8 แห่ง [12] ด้วยกัน คือ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือไอพีพี 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และหนองแซง รวม 3,068 เม็กกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือเอสพีพี 6 แห่ง ได้แก่

.

โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 หนองแคโคเจนเนอเรชั่น (นิคมฯหนองแค) สระบุรีเอ (ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง) สระบุรีบี (นิคมฯหนองแค) คอมไบน์ ฮีท แอนด์ เพาเวอร์ (นิคมฯเอสไอแอล) และอิสดัสเทรียล โคเจน รวม 650 เม็กกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 3,718 เม็กกะวัตต์

.

4) สาเหตุของการฮั้วประมูลเพื่อให้กัลฟ์ เจพีฯ ได้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สอง ทั้ง 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ก็เพราะบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองได้ทำการซื้อที่ดินกำหนดสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าเอาไว้ล่วงหน้าก่อนยื่นซองประมูลแล้ว และต้องการเป็นกลุ่มบริษัทผูกขาดการเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของจังหวัดสระบุรีด้วย

.

จึงทำการฮั้วประมูลด้วยวิธีที่แยบยลลึกซึ้งเพื่อให้ได้สิทธิในการผลิตไฟฟ้าตามโครงการไอพีพีครั้งที่สองนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้การซื้อที่ดินเอาไว้ล่วงหน้าต้องสูญเปล่าหากไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลขึ้นมา    

.

5) การกระทำการไขว้หุ้นและไขว้กรรมการบริษัทนำมาซึ่งการฮั้วประมูลและการผูกขาดการเป็นกลุ่มบริษัทรายใหญ่แห่งเดียวในการผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดสระบุรีได้ (หรือใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อผูกขาดการเป็นบริษัทรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าในจังหวัดอื่นๆ ได้ในอนาคต) จึงทำให้เห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทนี้จะไม่หยุดแค่เพียงโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 8 แห่ง ในจังหวัดสระบุรีอย่างแน่นอน

.

น่าที่จะมี 'โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง 2' หรือ 'โครงการโรงไฟฟ้าภาชี 1' ในเขตจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อติดกับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง 1 ที่ชนะการประมูลตามโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สองนี้

.

ดังนั้น ภาคประชาชนควรที่จะทำการต่อต้านการฮั้วประมูลและการผูกขาดในกิจการไฟฟ้าเช่นนี้ หากรัฐไม่แก้ไขปัญหานี้ก็เท่ากับว่าโครงการประมูลไอพีพีที่ผ่านมาทั้งสองครั้งและครั้งต่อๆ ไปส่อไปในทางล้มเหลว เพราะไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

.

จึงน่าที่จะเสนอทางออกเพื่อป้องกันการฮั้วประมูลและผูกขาดเช่นนี้ ด้วยการเสนอให้ยกเลิกโครงการประมูลไอพีพีในครั้งนี้และในรอบต่อๆ ไป และนำเสนอการผลิตไฟฟ้าทางเลือกใหม่ๆ ที่กลุ่มบริษัทรายใหญ่เหล่านี้จะไม่สามารถฮั้วประมูลและผูกขาดอีกต่อไปได้ นั่นก็คือการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ สะอาดและปลอดภัยมากขึ้น

.

เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น โดยเสนอให้จังหวัดสระบุรีและจังหวัดอื่นๆ ที่พบเห็นพฤติกรรมฮั้วประมูลและผูกขาดการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทต่างๆ เป็น ‘จังหวัดพลังงานแสงอาทิตย์’ หรือ ‘จังหวัดพลังงานลม’ หรือทั้งสองอย่าง เพื่อพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในระดับครัวเรือน ชุมชนและท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันการฮั้วประมูลและการผูกขาดที่ได้ผลดีที่สุด

.

และผลประโยชน์ทางอ้อมหรือทางตรงที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากจิตสำนึกต่อต้านการฮั้วประมูลและการผูกขาดเช่นนี้ ก็คือพลังงานสะอาดและปลอดภัยจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และลม โดยเฉพาะประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีและเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ล้วนแบกรับมลพิษอุตสาหกรรมที่อยู่รายรอบค่อนข้างสูงเหลือเกิน และกำลังจะมีมลพิษเพิ่มขึ้นมาอีกจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

.

6) ควรที่จะมีการตรวจสอบกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ว่ามีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติมากกว่าของไทยหรือไม่ กล่าวคือ กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ถือหุ้นโดยเอ็กโก 50% ที่เหลือถือหุ้นโดยเจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) สัญชาติเนเธอร์แลนด์ 49% และอีก 1% ถือโดยมิตรพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) ซึ่งถือหุ้นโดยคนญี่ปุ่นทั้งหมด [13] ซึ่งอาจจะเป็น ‘ผู้ถือหุ้นแต่เพียงในนาม’ หรือนอมินีให้กับเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ามีบริษัทต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ถึง 50% เท่ากับเอ็กโก

.

ส่วนกัลฟ์ เจพีฯ มีเจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) บริษัทจดทะเบียนในไทย ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งบริษัทนี้ถือหุ้นโดยเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง หากว่าเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นส่วนใหญ่ในเจเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) บริษัทจดทะเบียนในไทยจริงนั่นก็เท่ากับว่ากัลฟ์ เจพีฯ เข้าข่ายเป็นบริษัทต่างชาติ ไม่ใช่บริษัทของคนไทย

.

หากเป็นเช่นนั้นทั้งสองกรณี จึงน่าสงสัยว่าบริษัททั้งสองได้รับสิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนในกิจการไฟฟ้าอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องของภาษีนำเข้าและส่งออกของรายการเงินสด สินค้า อุปกรณ์ เครื่องจักร ฯลฯ ประเภทต่างๆ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีการค้า การแสดงงบกำไร-ขาดทุน การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ แก่รัฐและประชาชนไทย หรือมีความเป็นไปได้อย่างไรว่าหากบริษัททั้งสองเข้าข่ายเป็นบริษัทต่างชาติแล้วจะสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเสรีได้อย่างไร

.

7) การถือหุ้นไขว้และไขว้กรรมการบริษัท การฮั้วประมูล และการผูกขาดที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้การประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่ผ่านมานั้นเป็นโมฆะ

.

...........................................................................................................................................

.

[1] เดิมคือบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 โดยการร่วมหุ้นกันของบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ ‘เจเพาเวอร์’ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ 'เอ็กโก' จากประเทศไทย และบริษัท มิตรพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

.

ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 : 50 : 1 ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ภาครัฐ ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนและส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ (ข้อมูลออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://www.gulfelectric.co.th/www/th/about_company.html วันที่ค้นข้อมูล 20 พฤษภาคม 2552)

.

[2] บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง ความเป็นกลางของกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง : กรณีประธานคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอ. เรื่องเสร็จที่ 631/2550. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กันยายน 2550

.

[3] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012028021090068095111011066&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)

.

[4] บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด(มหาชน) ในวันประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551

.

[5] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012026018090067092103011071&mftype=a091 และ http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012029020090067092111008064&mftype=a091 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)

.

[6] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 5

[7] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 5

[8] บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552

.

[9] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012029020090067092111008064&mftype=a091 และ http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012028021090068095111011066&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)

.

[10] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 9

.

[11] ข้อมูลออนไลน์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=EGCO&language=th&country=TH (วันที่ค้นข้อมูล 10 มิถุนายน 2552)

.
[12] ข้อมูลออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://www.gulfelectric.co.th/www/th/about_company.html และ http://www.gulf.co.th/gulfjp/TH/aboutus/index.php (วันที่ค้นข้อมูล 20 พฤษภาคม 2552)
.

[13] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012029016090071091104014069&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท