เนื้อหาวันที่ : 2006-10-30 09:15:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2300 views

อุตสาหกรรมแป้งมันฯ เล็งเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ผลิตไบโอแก๊ส

โรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังหนุนโยบายรัฐใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ ขานรับเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ผลิตก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น หลังเห็นผลสำเร็จเกินคาดจากโรงงานต้นแบบ

สวทช.เปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง หนุนโยบายรัฐ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพในประเทศมากขึ้น ล่าสุด มีผู้ประกอบการแป้งมันฯ ให้ความสนใจ ขานรับเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ผลิตก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น หลังเห็นผลสำเร็จเกินคาดจากโรงงานต้นแบบ

.

.

จากความพยายามในการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จโดยเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ไม่ใช้อากาศประสิทธิภาพสูง หรือ AFFR แก่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียและกลิ่น ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาโดยตลอดของอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง

.

ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้มีนโยบายให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทยที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่เหลืออยู่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2551 เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพมากขึ้น โดยล่าสุด สวทช.ได้จัดสัมมนาโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549  เพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจถึงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว พร้อมนำชมเทคโนโลยี ณ บริษัท ชลเจริญ จำกัด โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  เปิดเผยว่า  จากความสำเร็จในพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับ บริษัท ชลเจริญ จำกัด ในฐานะโรงงานต้นแบบตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบันบริษัทฯ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้100%และไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเตาจากต่างประเทศอีกต่อไป  ทาง สวทช.จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอื่นๆที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในภาคการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 6 แห่งเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) , ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) , ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน) , ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) , ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) 

.

ด้าน นางสาว ชมพูนุช  อนุศาสน์สิทธิกิจ หัวหน้างานโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)  กล่าวว่า ปัจจุบันทาง สวทช.โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ มจธ.ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บ.ชลเจริญ , บ.ชัยภูมิพืชผล , บ.อุตสาหกรรมแป้งตะวันออกเฉียงเหลือ และ บ.สีมาอินเตอร์ โปรดักส์  โดยโรงงานแห่งแรกที่ทำได้สำเร็จก่อนคือ บ.ชลเจริญ จำกัด  ที่สามารถเดินระบบได้ 100%  ส่วนโรงงานที่เหลือจะเริ่มทยอยเดินระบบได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2549

.

.

ปัจจุบัน บริษัท ชลเจริญ จำกัด มีกำลังผลิต 240 ตันแป้ง/วัน ผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละ 20,000 ลบ.ม./วัน สามารถนำไปทดแทนน้ำมันเตาในการอบแห้งแป้งได้ถึงวันละ 10,000 ลิตร ช่วยให้โรงงานสามารถประหยัดค่าน้ำมันเตาลงได้ประมาณ 1.2 แสนบาท/วัน หรือประมาณ 28 ล้านบาท / ปี  นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังเตรียมนำก๊าซที่เหลือมาผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานอีกด้วย และจากการสำรวจพบว่า ยังมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังจำนวน 43 แห่งทั่วประเทศที่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย  ดังนั้น หากส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณของเสียได้ถึง 260 ล้าน ลบ.ม./ปี และช่วยประหยัดพลังงานในรูปของน้ำมันเตาได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,400 ล้านบาท  นางสาวชมพูนุช กล่าว

.

หัวหน้าโครงการ CD (สวทช.) กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานฯที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจาก สวทช. ซึ่งนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าการกู้ตามปกติ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่า และได้เปรียบในการแข่งขันแล้ว  ยังได้รับความช่วยเหลือทั้งในด้านเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาแนะนำ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สวทช.คอยติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นโครงการฯ โดยโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังนี้ ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2549 30 ก.ย. 2550 โดยจะดำเนินการก่อสร้างและเดินระบบให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 2551   

.

สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น สวทช. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำของไทย 6 แห่ง ให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงานแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศ จำนวน 43 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 เฟส  เฟสที่ 1 เป็นกลุ่มผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง (native starch)  มีจำนวน 23 โรง รวมวงเงิน 690 ล้านบาท  และ เฟสที่ 2  จะเป็นกลุ่ม ผู้ผลิตแป้งมันดัดแปร (modified starch) มีจำนวน 20 โรง รวมวงเงิน 600 ล้านบาท  

.

ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวมีงบประมาณค่าก่อสร้าง ประมาณ 45 ล้านบาทสำหรับโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่มีกำลังการผลิตขนาด 200 ตันแป้ง/วัน สามารถคืนทุนได้เร็วภายในเวลาเพียง 3-4 ปี โดยโรงงานฯที่เข้าร่วมโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว จะได้รับวงเงินกู้ไม่เกิน 75% ของงบประมาณโครงการทั้งหมด   อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% ระยะเวลาคืนเงินกู้ 4 - 6 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาคืนทุน) โดยมีระยะเวลาปลอดเงินต้นในช่วง 1 ปีแรก

.

ด้าน นายเม่งจั๊ว  แซ่อึ๊ง   ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชลเจริญ จำกัด  กล่าวว่า หลังจากนำก๊าซฯที่ผลิตได้มาใช้ในการอบแห้งแป้งแล้ว ยังคงเหลือก๊าซฯ อยู่หากเผาทิ้งก็น่าเสียดาย บริษัทฯจึงได้ลงทุนจัดซื้อเครื่องปั่นไฟขนาด 1 เมกกะวัตต์เป็นเงิน 15 ล้านบาท  เพื่อนำก๊าซที่เหลือมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน   คาดว่า จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1,500 กิโลวัตต์  ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้อีกทางหนึ่ง

.

.

หลังจากเดินระบบฯ มาตั้งแต่ต้นปี 2549  บริษัทฯ ทดลองนำก๊าซฯ ที่ผลิตได้ มาใช้ในการอบแห้งแป้ง โดยเริ่มนำมาใช้แทนน้ำมันเตาจากสัดส่วน 60% ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 80% จนเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำก๊าซฯ มาใช้ทดแทนน้ำมันเตาได้100% ทำให้บริษัทไม่ต้องใช้น้ำมันเตาอีกต่อไป จากเดิมที่จะต้องใช้น้ำมันเตาชั่วโมงละ 320 ลิตร แต่ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถประหยัดค่าน้ำมันเตาลงได้ถึงเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ( ราคาน้ำมันเตา ปัจจุบันอยู่ที่ ลิตรละ13 บาทกว่า)  และหลังจากนำก๊าซฯ มาใช้แทนน้ำมันเตาแล้ว ยังทำให้หมดปัญหาเรื่องของเขม่าอีกด้วย  นายเม่งจั๊ว กล่าว

.

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียนั้น ทาง มจธ.ยังคงไม่หยุดการพัฒนา โดยขณะนี้ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบลูกผสมขึ้น หรือ (Anaerobic Hybrid Reactor ) ซึ่งเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์ม โดยรวมข้อดีของระบบน้ำเสียแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้ให้ต่ำลง แต่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไป 

.

โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน(CD)