เนื้อหาวันที่ : 2009-06-13 12:33:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2716 views

8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับเข้ารอบชิงชนะเลิศ

ซีเกท ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และเอไอที ประกาศรายชื่อ 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท

.

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ประกาศรายชื่อ 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยทั้ง 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 50,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถอัจฉริยะเพื่อเข้าชิงรางวัลในรอบชิงชนะเลิศ ของการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย  2552 ในวันที่ 29 กรกฏาคม  ศกนี้  

.
8 ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายได้แก่

1. ทีมขึ้นช่าย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)  รถวิ่งได้ระยะทาง  1,849 เมตรและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ 9 จุด
2. ทีมผักชี  สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)  รถวิ่งได้ระยะทาง 1,849 เมตรและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ 8 จุด
3. ทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู (Air Force II) โรงเรียนนายเรืออากาศ   รถวิ่งได้ระยะทาง 1,849 เมตรและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้  7 จุด
4. ทีมดั๊ค ไรเดอร์ส (Duck Riders) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  รถวิ่งได้ระยะทาง  1,849  เมตรและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้  6 จุด

.

5. ทีมดาร์ค ฮอร์ส (Dark Horse) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  รถวิ่งได้ระยะทาง  598.78 เมตร และหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้  2 จุด
6. ทีมซิกแซ็ก (Zigzag) มหาวิทยาลัยขอนแก่น รถวิ่งได้ระยะทาง  287.2 เมตร
7. ทีมแบล็คลิสต์ (BlackList) มหาวิทยาลัยนเรศวร   รถวิ่งได้ระยะทาง  284.24 เมตร
8. ทีมอะไรฟว์-ทู   มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  รถวิ่งได้ระยะทาง  280 เมตร

.

.

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 และ อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า "ในปีนี้ มีทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับจำนวน 21  ทีมจาก 19 สถาบันการศึกษา เข้าร่วมการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 รอบคัดเลือกซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการจัดการแข่งขัน 

.

หลาย ๆ ทีมสามารถวิ่งได้ระยะทางที่ไกลมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลการแข่งขันใน 2 ปีที่ผ่านมาพร้อมทั้งยังสามารถหลบหลีก สิ่งกีดขวางได้อย่างดี สำหรับ 8 ทีมที่เข้ารอบเป็น 8 ทีมที่วิ่งได้ระยะทางรวมไกลที่สุด ซึ่งทีมต่าง ๆ นี้จะต้องมาพิสูจน์        ความฉลาดและความเร็วในรอบชิงชนะเลิศซึ่งเป็นการแข่งความเร็วแบบมีการน็อครอบกันของรถไร้คนขับ" 

.

การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งที่สาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการทำโครงการรถอัจฉริยะ

.

นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "กิจกรรมครั้งนี้ เราได้เห็นการแสดงศักยภาพจากการประมวลความรู้เป็นผลงานของนักศึกษา พัฒนาการและความร่วมมือกันทำงานเป็นทีม ซึ่งถือว่าเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขัน   

.

และตรงตามนโยบายหลักของซีเกทมีความมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและกระตุ้นให้พวกเขาเป็นนักคิดและนักพัฒนาตลอดจนแสดงออกซึ่งความสามารถและได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะอันจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยียานยนต์และหุ่นยนต์ ตลอดจนการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป" 

.

สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฏาคม ศกนี้ บริษัทซีเกทสนับสนุนการจัดการแข่งขันและรางวัล สำหรับทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ได้รับรางวัลดังนี้คือ รางวัลชนะเลิศ 300,000 บาท  รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 200,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม      เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลความคิดสร้างสรรค์ เงินรางวัล 50,000 บาทและ  รางวัลออกแบบประหยัดพลังงานยอดเยี่ยม เงินรางวัล 50,000 บาท

.

.
สัมภาษณ์ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ "ทีม Air Force II (แอร์ ฟอร์ซ ทู  - โรงเรียนนายเรืออากาศ"

รายชื่อสมาชิกในทีม
1. นนอ. จักรพันธุ์ ขาวสำรวย
2. นนอ. สิทธิชัย นาคประเสริฐ
3. นนอ. สถาพร อยู่เย็น

.
1.  มีขั้นตอนในการพัฒนารถอย่างไร ก่อนที่จะส่งผลงานเข้าแข่งขันในรอบคัดเลือก

ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน  ทีมแอร์ ฟอร์ซ ทูได้ศึกษาเทคนิคต่าง ๆ จากทีมที่เข้าแข่งขันเมื่อปีก่อน   นอกจากนี้  ยังมีการนำ GPS  ซึ่งทางโรงเรียนนายเรืออากาศใช้สำหรับเฮลิคอปเตอร์ มาปรับใช้กับรถอัจฉริยะไร้คนขับที่พวกผมพัฒนาขึ้นด้วยครับ    ในการใช้เซ็นเซอร์ เราได้ศึกษาว่าการใช้เซ็นเซอร์เพียงตัวเดียวอาจทำให้รถมีปัญหาได้ 

.

ดังนั้น เราจึงนำอินฟราเรดมาใช้ควบคู่กันไป  เช่น ถ้ารถตกจากถนนแล้วเซ็นเซอร์ไม่เตือน ตัวอินฟราเรดก็จะทำงาน  ก่อนส่งรถเข้าร่วมการแข่งขัน  เรายังมีการทดสอบรถในหลายสภาพอากาศ เช่น การวิ่งในช่วงเช้า-ช่วงเย็น และการทดสอบรถในขณะที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก เป็นต้น 

.

สำหรับการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล ทีมของเราใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซีเกท อีอี 25 เพื่อลงโปรแกรม คอมพิวเตอร์ที่มช้ในการควบคุมหรือสั่งการรถให้ทำงานได้โดยอัตโนมัติ  รวมถึงบันทึกข้อมูลตำแหน่งของจีพีเอส ด้วย

.
2. จุดเด่นของทีมที่ทำให้เป็นหนึ่งใน 3 ทีมที่มีคะแนนสูงสุด
จุดเด่นของทีมคือการมี GPS ที่มีความละเอียดสูง  และมีเลเซอร์ที่ให้ความละเอียดสูง
.
3. ระหว่างที่น้อง ๆ พัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับเพื่อเข้าแข่งขัน คิดว่าอะไรเป็นความท้าทายระหว่างการพัฒนารถคันนี้บ้าง

พวกผมคิดว่าการพัฒนารถเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันมีความท้าทายมาก  เพราะเราต้องทำให้ระบบทุกอย่างสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การหลบหลีกสิ่งกีดขวางและการวิ่งอย่างไรจึงจะไม่ตกถนน

.
4. คาดว่าในอนาคต รถอัจฉริยะที่น้อง ๆ สร้างขึ้นมาจะมีบทบาทสำคัญอะไรบ้างในการนำไปปรับใช้จริง

ในการนำรถอัจฉริยะไปปรับใช้จริง พวกผมคิดว่าน่าจะมีการนำไปใช้เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการขับขี่ เช่น ผู้ที่ดื่มสุราไม่สามารถขับรถได้  ก็สามารถใช้รถอัจฉริยะไร้คนขับมาช่วยในการขับขี่  นอกจากนี้  เมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยกับการขับขี่ ก็สามารถขับขี่ต่อไปได้ด้วยระบบของรถอัจฉริยะไร้คนขับ