เนื้อหาวันที่ : 2009-06-11 18:26:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1150 views

ธปท.เผยปัญหาเศรษฐกิจ-การเมืองฉุดยอดรูดปื๊ด เม.ย. ลดลง

ธปท. เผยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในเดือน เม.ย.52 ลดลง 3.08% เหตุปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองป่วน คนระวังการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในเดือน เม.ย.52  มีการใช้จ่ายจริง 73,619 ล้านบาท ลดลง 2,267 ล้านบาท หรือลดลง 3.08% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน          

.

บัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาต่างประเทศ มียอดการใช้จ่ายลดลงมากสุดถึง 7.61%  รองลงมาคือ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank ) 2.46% และธนาคารพาณิชย์ไทย ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ลดลง 2.28% 

.

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศผ่านบัตรเครดิต มีทั้งสิ้น 3,678 ล้านบาท ลดลง 230 ล้านบาท  คิดเป็นลดลง 5.89% เป็นการลดลงจากการจ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ออกโดย Non-Bank ที่มียอดใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,404 ล้านบาท ลดลงมากสุด 9.278% รองลงมา คือ บัตรที่ออกโดยสาขาต่างประเทศ มีจำนวน 1,548 ล้านบาท ลดลง 9.21% และ บัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย มียอดใช้จ่าย 1,517 ล้านบาท ลดลง 0.65% 

.

ส่วนการใช้จ่ายในต่างประเทศ มียอดใช้จ่ายจริงทั้งสิ้น 51,334 ล้านบาท ลดลง 1,680 ล้านบาท คิดเป็น 3.17%  ซึ่งบัตรที่ออกโดยสาขาต่างประเทศ มียอดใช้จ่ายจริง 7,724 ล้านบาท ลดลง 637 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.62%  บัตรเครดิตของ Non-Bank มียอดใช้จ่ายจริง 17,393 ล้านบาท ลดลง 2.59%  และ บัตรที่ออกโดยธนาคารไทย มียอดใช้จ่ายจริง 26,217 ล้านบาท ลดลง 580 ล้านบาท หรือลดลง 2.17%

.

สำหรับการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต มีจำนวนทั้งสิ้น 16,338 ล้านบาท ลดลง 356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.14% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของบัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาต่างประเทศ โดยมียอดเบิกเงินสด 989 ล้านบาท ลดลงมากถึง 66 ล้านบาท หรือคิดเป็น  6.27% บัตรที่ออกโดยธนาคารไทยมียอดเบิกจ่ายเงินสด  11,772 ล้านบาท ลดลง 332 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74%  ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดย Non-Bank กลับมียอดการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 41 ล้านบาท หรือ 1.18% เป็นยอดเบิกเงินสดทั้งสิ้น 3,576 ล้านบาท 

.

อย่างไรก็ตาม ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นถึง 4,964 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.82% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารไทย มากที่สุดถึง 3,177 ล้านบาท คิดเป็น  5.22% หรือเป็นยอดสินเชื่อคงค้างที่ 64,086 ล้านบาท  ส่วนบัตรเครดิต Non-Bank มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 2,553 ล้านบาท  คิดเป็น 3.1% หรือเป็นยอดคงค้าง 83,350 ล้านบาท ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาต่างประเทศมียอดคงค้างลดลง 766 ล้านบาท คิดเป็น 2.22% หรือเป็นยอดคงค้าง 33,828 ล้านบาท 

.

"เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสถานการณ์ปัญหาการเมือง เมื่อ เดือนเม.ย. ที่มีการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง มีผลทางจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต แม้ในเดือนนี้จะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันก็ตาม" รายงาน ระบุ

.

รายงานจาก ธปท.ระบุอีกว่า ปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบมีจำนวน 13.129 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.023 ล้านใบ หรือเพิ่มขึ้น 8.45% เป็นการขยายตัวของบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารไทยมากสุดถึง 14.26% หรือจำนวน 654,855 ล้านใบ คิดเป็นจำนวนบัตรทั้งสิ้น 5.246 ล้านใบ บัตรเครดิตของ Non-Bank มีทั้งสิ้น 6.536 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 340,080 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 5.49% และจำนวนบัตรจากสาขาต่างประเทศ มีทั้งสิ้น 1.346 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 28,086 ใบ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.13% 

.

ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบมีทั้งสิ้น 223,974 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7,492 ล้านบาท คิดเป็น 3.46% เป็นการขยายตัวของธนาคารไทย 9,944 ล้านบาท คิดเป็น 10.55% ส่งผลให้มียอดคงค้างสินเชื่อจำนวน 104,212 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อจากสาขาต่างประเทศ ลดลง 22,201 ล้านบาท คิดเป็น 8.16% และ Non-Bank ลดลง 640 ล้านบาท คิดเป็น 0.64%