เนื้อหาวันที่ : 2009-06-09 15:41:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3000 views

ปฏิรูปที่ดิน เริ่มที่ลำพูน และปัญหารากเหง้า (ตอนที่ 1)

รัฐไทยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่ดิน เพื่อการจำกัดการถือครองที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานมาหลายยุคหลายสมัย ถือเป็นกฎหมายที่เป็นความหวังของชาวบ้านที่จะได้มีที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียมกัน แต่แรงสนับสนุนของชาวบ้านหรือจะสู้แรงเงินและแรงอำนาจของนายทุนและนักการเมือง

'ประชาธรรม' รายงาน : ปฏิรูปที่ดิน ตอนที่ 1 : เริ่มที่ลำพูน และปัญหารากเหง้า
สำนักข่าวประชาธรรม

.

.

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2497 รัฐไทยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่ดินโดยในหมวดหมู่หนึ่งมีใจความสำคัญคือ การจำกัดการถือครองที่ดินโดยให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้ปกครองประเทศในสมัยนั้นเพื่อจะจัดการทรัพยากรของประเทศใหม่ ดังข้อมูลส่วนหนึ่งใน บทความบางเรื่อง (อนุสรณ์ในพิธีเปิดอาคารใหม่ในกรมที่ดิน, 2511) ของนายศักดิ์ ไทยวัฒน์ อธิบดีกรมที่ดิน สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ชี้แจงถึงหลักคิดของกฎหมายฉบับนี้ว่า

.

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญอยู่หลายประการและลึกซึ้ง จะเป็นผลให้มีการจัดระเบียบการปกครอง การเศรษฐกิจ และระเบียบสังคมของชาติในอนาคตใหม่ แม้ว่ากฎหมายนี้จะหนักหรือเบาไปบ้างในบางประการก็ตาม แต่ก็เป็นบันไดขั้นต้นที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง เพื่อสวัสดิภาพของสังคมและเพื่อการกินดีอยู่ดีของราษฎรชาวไทยอันเป็นชาวกสิกร 90% โดยทั่วหน้า

.

แต่ภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ไม่นาน ด้วยข้อกฎเกณฑ์ที่แข็งและขัดแย้งกับสภาวะทางสังคมในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเหมือนกับปัจจุบันนี้ด้วย คือที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศถูกถือครองโดยผู้มีอำนาจ ในที่สุดจึงมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ แล้วนับตั้งแต่นั้นมาเมื่อประเทศเดินหน้าเต็มสูบเพื่อพัฒนาจากระบบการเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ดินก็หลุดมือจากเกษตรกรไปรวดเร็วดั่งใบไม้ร่วง

.

หลายสิบปีผ่านไป ปัญหาซ้ำเดิมยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่ลดอัตราเร่ง แล้วปัจจัยของยุคสมัยก็ยิ่งเพิ่มไฟที่สุมปัญหาให้หนักหนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งออกโฉนดในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เมื่อปี 2532 ธนาคารโลกได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทให้มีการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน เป็นผลให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า

.

การถือครองโดยระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกชนนำมาสู่ความเปราะบางในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร กล่าวคือที่ดินหลุดมือได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ถือครองมีกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จ ขาดการควบคุมโดยระบบเครือญาติและชุมชนที่ใช้ความเชื่อจารีตประเพณีเป็นการควบคุม

.

ดังนั้น แนวคิดทำที่ดินเป็นสินค้าจึงสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้ที่ดินกลายเป็นของนายทุน เหมือนเช่นนโยบายที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุน วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่ล้มยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจหลายๆ แขนง มีคนตกงานมากมายมหาศาล จำนวนมากในนั้นคือลูกหลานที่ต่างละทิ้งภาคการเกษตรมาเพื่อที่จะแสวงหาโภชย์ผลจากการพัฒนาภายในเมือง แต่เมื่อความฝันล่มสลายลงอย่างไม่เป็นท่า บ้านในชนบทที่เขาจากมาก็คือหลังอิงสุดท้ายเพื่อการดำรงชีวิตอยู่

.

แต่พวกเขาเหล่านั้นก็หารู้ไม่ว่าที่นา ที่ไร่ ที่สวน และแปลงผักเหล่านั้นที่เคยเป็นฐานหล่อเลี้ยงครอบครัวถูกมือที่มองไม่เห็นจากระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ อุตสาหกรรมตัวใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ดูดกลืนเอาไปจนหมด ซ้ำที่ดินที่เคยใช้สอยมาแต่เก่าก่อนในนามที่ดินสาธารณะก็ถูกมือที่มองเห็นไม่ว่าจะเป็นนายทุน เจ้าหน้าที่รัฐส่วนต่างๆ ช่วยกันอุ้มหายไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา คำถามที่มากมายก็ประดังเข้ามาในหัวว่า เมื่อปราศจากที่ดินทำกิน พวกเขาเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร

.

ลำพูน ปฐมบทชุมชนชำแหละกระบวนการฮุบที่ดิน

ดังกล่าวเอาไว้ข้างต้น เมื่อไม่มีที่ดินทำกินก็หมายความว่าไม่มีรายได้ ไม่มีข้าว ซึ่งก็คือไร้ชีวิต ในกรณีของชาวบ้านกลุ่มปัญหาที่ดิน จ.ลำพูน ปัญหาที่ดินบ้านแพะใต้ กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง นับเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ริเริ่มเข้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนด้วยแนวคิดที่ว่าที่ดินแปลงเหล่านั้นเป็นที่ดินสาธารณะ

.

ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำการเพาะปลูกได้ แต่ทว่าเมื่อลงมือปฏิรูปที่ดินกลับมีนายทุนมาแสดงความเป็นเจ้าของ กรณีที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินเหล่านั้นของนายทุนและพบว่า กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

.

กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มนายทุนจาก จ.เชียงใหม่ในนามบริษัทอินทนนท์การเกษตร จำกัด ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจ ทั้งนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรซื้อที่ดิน สค.1 และนส.3 จากชาวบ้านบางส่วนประมาณไม่กี่สิบไร่ แต่ฉวยโอกาสนำไปออกโฉนดที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

.

หลังจากนั้น บริษัทอินทนนท์การเกษตรนำพื้นที่ทั้งหมดไปจัดสรรเป็นรีสอร์ท สวนเกษตรขนาดใหญ่เพื่อแบ่งแปลงขาย และยังมีการมอบที่ดินที่กว้านซื้อนี้ให้ก่อตั้งศูนย์ราชการคือ กิ่ง อ.เวียงหนองล่องเพื่อกระตุ้นการซื้อที่ดินในแปลงจัดสรรของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรยังนำโฉนดที่ดินเข้าจำนองกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และธนาคารกรุงไทยมูลค่าอย่างน้อย 40 ล้านบาท จนเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ดินดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า

.

ดังนั้นปี 2540 ชาวบ้านแพะใต้จำนวน 99 ครอบครัวจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่บริษัทปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอ หลายครอบครัวยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน และจากการเข้าทำการปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นจึงนำไปสู่การค้นพบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

.

มีการประเมินกันว่า ภายหลังจากที่ชาวบ้านแพะใต้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 พบว่ามีการเพิ่มตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินขึ้นเป็นมูลค่านับแสนบาทจากที่เคยทิ้งร้างไว้ ทั้งนี้จากผลการวิจัยเรื่องการจัดการที่ดินในระดับท้องถิ่น(เขตพื้นที่ภาคเหนือ)ซึ่งทำการศึกษาระหว่างเดือน พ.ค.2545 เม.ย.2547 โดยมูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ที่ดินจำนวน 600 ไร่ที่ชาวบ้านแพะใต้เข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2540 นั้นสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนโดยรวมถึง 442,950 บาท

.

ข้อมูลที่ดินเมื่อปี 2545 ประมาณการว่า สาเหตุจากการใช้ที่ดินไม่เต็มที่ในประเทศไทย ทำให้ต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยการประเมินขั้นต่ำ 127,384.03 ล้านบาทต่อปี และการเก็งกำไรที่ดินที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังพบว่าที่ดินส่วนมากยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ประมาณว่าที่ดินร้อยละ 70 %ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย

.

สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นการกระจุกตัวของที่ดินนั้น ได้มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม แม้ว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 จะระบุว่า หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1)สำหรับที่ดินที่มีโฉนด เกินสิบปีติดต่อกัน 

.

(2)สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

.

เหลียวมองรากเหง้าปัญหาที่ดิน

ประยงค์ ดอกลำไย แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวว่า ทำไมชาวบ้านจึงมีปัญหาเรื่องที่ดิน ในความคิดตนแล้วจริงๆ มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องที่ดินไม่เพียงพอ เพราะว่าประเทศไทยมีที่ดินที่ประชาชนถือครองมากประมาณ 130 ล้านไร่ แต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้มันอยู่ที่ชาวไร่ชาวนาแค่เพียงส่วนน้อย

.

ที่ดินจำนวนมากไปอยู่ที่คนที่มีเงิน ประเทศไทยมีคน 60 ล้านคน หากเอาที่ดินมาแบ่งกันทั้งหมดจะได้ที่ดินคนละประมาณ 2 ไร่ เท่าๆ กับจำนวนที่ชาวบ้านปฏิรูปกันอยู่ในเวลานี้ หากครอบครัวหนึ่งมี 3 คนก็ได้ประมาณละ 6 ไร่ แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นแบบนั้น เพราะที่ดินกว่า 100 ล้านไร่อยู่ในมือของคนแค่ 6 ล้านคนเท่านั้น

.

ประยงค์ กล่าวต่อไปว่า คนส่วนน้อยที่มีความร่ำรวยกลับครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ ส่วนที่ดินที่เหลือที่ใช้ทำกินไม่ได้ก็เอาไปเข้าธนาคาร ซึ่งเป็นที่ดินส่วนมากที่ประชาชนเข้าไปทำประโยชน์ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่คือไม่ใช่ไม่มีที่ดิน แต่ที่ดินอยู่ในมือของคนรวย

.

ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ทำไร่ทำสวน ไม่ใช่คนที่ทำนาหรือว่าปลูกลำไยแบบชาวบ้าน แต่เป็นคนที่เป็นนักการเมือง อย่างเช่น นายมีที่ดินรวมแล้วราคาประเมินประมาณ 2,000 ล้านบาท เฉพาะที่ดินเท่านั้น เป็นชื่อของตัวเองกับภรรยาราคาแท้จริงอาจจะมากกว่านั้น เพราะเวลาที่เขาเป็นนักการเมืองเขาต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หากตีราคาว่าไร่ละประมาณ 5 แสนบาทเขาจะมีที่ดินประมาณ 4,000 ไร่

.

ปัญหาไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีที่ดิน แต่ปัญหาคือที่ดินส่วนมากอยู่ในมือของคนรวย แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์ จนกระทั่งเกิดปัญหา เพราะว่าที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้นมีการเอาเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อออก เอกสารสิทธิ์ อย่างที่ชาวบ้านเจอในกรณีที่ที่ดินเชียงใหม่ลำพูน จึงเป็นที่มาของการต่อสู้ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ ที่ไม่ชอบธรรม แล้วที่ที่ออกเอกสารสิทธิ์แล้วมันก็ไม่ใช้ประโยชน์กลายเป็นที่ดินที่รกร้าง ว่างเปล่า จึงเกิดการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนขึ้นมา. (โปรดติดตามตอนต่อไป)

.

ข้อมูลจำนวนการถือครองที่ดิน
ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี

มีที่ดิน 50 แปลง จำนวน มูลค่า 79,451,250 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 5,975,120 บาท

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และภรรยา

มีที่ดินรวมกัน 18 แปลง มูลค่า 121,171,800 บาท แยกเป็นใน กทม. 3 แปลง, ที่ ดงพญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 2 แปลง รวมกัน 48 ไร่, ที่ ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 5 แปลง รวม 74 ไร่เศษ, ที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 ไร่, ที่ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย 5 แปลง รวม 47 ไร่เศษ ฯลฯ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมกัน 5 หลัง มูลค่า 689,500,000 บาท เช่น บ้านพักตากอากาศที่ ต.ชะอำ อ.ชะอำ มูลค่า 10 ล้านบาท บ้านพักตากอากาศที่ ต.ชะอม จ.สระบุรี ฯลฯ มูลค่า 20 ล้านบาท

.

นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม และภรรยา

มีที่ดินรวมกัน 33 แปลง จำนวน 334 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ กทม., กระบี่, ระยอง และนราธิวาส มูลค่า 410,334,600 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 3 แห่ง รวมกันมูลค่า 40,500,000 บาท อาทิ ห้องชุดบ้านแสนสราญ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ มูลค่า 11.5 ล้านบาท, สนามเทนนิส พร้อมอาคารพัก 1 หลัง ที่เขตสวนหลวง กทม. มูลค่า 7 ล้านบาท เป็นต้น  

.
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และภรรยา

มีที่ดินรวมกัน 174 แปลง มูลค่า 60,845,950 บาท มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมกัน 7 หลัง มูลค่า 37,500,000 บาท

.
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และคู่สมรส

มีที่ดิน 9 แปลง จำนวน 52 ไร่เศษ รวมมูลค่า 69,141,600 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกสารสิทธิ น.ส.4 จ. เป็นของคู่สมรที่จังหวัดเชียงใหม่ และคู่สมรสมีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง มูลค่า 9,967,258 บาท

.
รมต.พรรคร่วมรัฐบาล

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และภรรยา
มีที่ดินรวมกัน 35 แปลง จำนวน 350 ไร่เศษ มูลค่า 47,145,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมกัน 18 หลัง มูลค่า 54,400,000 บาท

.
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และคู่สมรส

มีที่ดินรวมกัน 48 แปลง จำนวน 51 ไร่เศษ มูลค่า 546,930,000 บาท ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. นนทบุรี และลำปาง โดยเฉพาะที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เป็นแปลงย่อย 32 แปลงต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 5.6 ล้านบาท

.
นักการเมืองที่น่าสนใจ

นายบรรหาร ศิลปอาชา
มีที่ดินมูลค่า 1,707 ล้านบาท อาทิ ที่ดินบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ มูลค่า 176 ล้านบาท ที่ดินบริเวณถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน มูลค่า 180 ล้านบาท ที่ดินบริเวณ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มูลค่า 850 ล้านบาท คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา คู่สมรส มีที่ดินมูลค่า 354 ล้านบาท

.

*ภายหลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้ารับตำแหน่งการบริหารประเทศ ได้มีการประกาศจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปภาษีที่ดินเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าพร้อมที่จะอธิบายให้กับคนชั้นสูงที่ครอบครองที่ดินเป็นส่วนมากเข้าใจว่ามีสาเหตุอันใดที่จะต้องจัดเก็บภาษีมากขึ้น โดยนายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ออกมารับลูกว่าจะเร่งนำเรื่องนี้ไปศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ แต่ภายหลังที่มีเสียงคัดค้านออกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนร่วมพรรคเดียวกัน กระแสการปฏิรูปที่ดินเหล่านั้นก็เงียบหายไป

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท