เนื้อหาวันที่ : 2009-06-08 21:20:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9243 views

เศรษฐกิจแบบดิจิตอล

กล่าวกันว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราให้กลายเป็นโลกที่เล็กลงนะครับ แต่ละประเทศเปรียบเสมือน "หมู่บ้านหนึ่ง" บนแผนที่โลกที่สามารถเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โลกาภิวัฒน์เติบโตได้ก็ด้วยแรงหนุนเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยเหตุนี้เองคอมพิวเตอร์จึงกลายเป็นปัจจัยที่หกของชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว (ตอนที่ 4)

รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 4)
เศรษฐกิจแบบดิจิตอล (Digital Economy)  

 

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

 

กล่าวกันว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราให้กลายเป็นโลกที่เล็กลงนะครับ แต่ละประเทศเปรียบเสมือน "หมู่บ้านหนึ่ง" บนแผนที่โลกที่สามารถเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว  โลกาภิวัฒน์เติบโตได้ก็ด้วยแรงหนุนเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ด้วยเหตุนี้เองคอมพิวเตอร์จึงกลายเป็นปัจจัยที่หกของชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว

 

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา คำว่า "อี" (E) ดูจะมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นนะครับ คำว่า "อี" ในที่นี้ย่อมาจาก "อิเล็กทรอนิกส์" (Electronic) ครับ ยกตัวอย่างเช่น E-Commerce, E-Banking, E-revenue, E-government เป็นต้น คำต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโลกเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ของเรานั้นถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญครับ ด้วยเหตุนี้เองคำว่า Digital Economy หรือเศรษฐกิจแบบดิจิตอลนั้นจึงได้กลายเป็นศัพท์ใหม่ทางเศรษฐกิจที่เราควรจะได้รู้จักกันครับ

 
Digital Economy: เศรษฐกิจแบบดิจิตอล

จริง ๆ แล้วคำว่า Digital Economy นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 แล้วครับ ทั้งนี้เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า The Emerging Digital Economy และรายงานฉบับนี้เองได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า "เศรษฐกิจแบบดิจิตอล" ครับ    

 

รายงานกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเรื่อง
The Emerging Digital Economy
จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจแบบดิจิตอล

 

ขณะเดียวกันอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ชูธง Digital Economy เช่นกัน ทั้งนี้คลินตันได้กล่าวถึงเศรษฐกิจแบบดิจิตอลในสังคมอเมริกันอยู่บ่อยครั้งคล้ายกับเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าโลกในศตวรรษหน้านั้นจะต้องปรับตัวไม่เฉพาะแค่อเมริกาประเทศเดียวเท่านั้น

 

อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton)
ผู้ชูธงเศรษฐกิจแบบดิจิตอล

 

โดยทั่วไปแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์มักเริ่มต้นอธิบายวงจรเศรษฐกิจ (Circular flow of Economy) ของระบบทุนนิยมว่าประกอบไปด้วยภาคครัวเรือน (Household) ภาคธุรกิจ (Firm) ภาครัฐบาล (Government) และภาคการต่างประเทศ (International) โดยทั้งสี่ภาคนี้ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กันภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) โดยมีภาคการค้าต่างประเทศเป็นตัวเชื่อมโลกเศรษฐกิจให้เข้าหากันครับ

 

อย่างไรก็ตามการติดต่อสื่อสารของทั้งสี่ภาคนี้ต้องมีต้นทุนที่เรียกว่า "ต้นทุนทางธุรกรรม" หรือ Transaction Cost เช่น ภาคครัวเรือนในฐานะผู้บริโภคมีต้นทุนทางธุรกรรมในการสั่งซื้อสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปซื้อสินค้าด้วยตัวเอง เดินทางไปทำธุรกรรมธนาคาร เช่นเดียวกับภาคธุรกิจผู้ผลิตที่มีต้นทุนทางธุรกรรมในการแสวงหาปัจจัยการผลิตราคาถูกที่สุด ภาครัฐมีต้นทุนธุรกรรมในการเก็บภาษี การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมทั้งสิ้นครับ ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการพัฒนามากขึ้น อัตราการขยายตัวการใช้เครื่องมือสื่อสารเพิ่มสูงขึ้น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างแพร่หลาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงมีส่วนช่วยลดต้นทุนธุรกรรมให้กับระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทุกภาคส่วนในวงจรเศรษฐกิจจึงได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศครับ

 

สำหรับโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจแบบดิจิตอลนั้นยึดโยงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศครับ โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวประกอบไปด้วยสี่เซคเมนต์ (Segments) ใหญ่ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารคมนาคม และอุตสาหกรรมด้านบริการ

 

อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์นั้นได้แก่การผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งฐานการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในจีนและภูมิภาคอาเซียนของเรา ทั้งนี้อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์เปรียบเสมือนฐานรากที่รองรับโครงสร้างของเศรษฐกิจแบบดิจิตอลครับ 

 

สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นได้แก่การผลิตและการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมต่าง ๆ การบริการและการดูแลรักษาตลอดจนการวางระบบการให้คำปรึกษา การประมวลผลข้อมูลการผลิตสื่อ การสร้างระบบเบ็ดเสร็จที่มีซอฟต์แวร์เป็นองค์ประกอบ การค้าส่งค้าปลีกซอฟต์แวร์ เป็นต้น ทั้งนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนเสาหลักของเศรษฐกิจแบบดิจิตอลครับ

 

ด้วยเหตุที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านต่าง ๆ สามารถประหยัดและลดต้นทุนการผลิต การบริโภค ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดินได้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันซอฟต์แวร์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ภายใต้โปรแกรมวินโดว์ของไมโครซอฟต์ การใช้โปรแกรมทางบัญชีในการทำบัญชี การใช้โปรแกรมด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ E-Auction หรือโปรแกรมการเสียภาษีทางอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากร เป็นต้น

 

โดยทั่วไปแล้วซอฟต์แวร์มีความสำคัญมากที่สุดในเศรษฐกิจแบบดิจิตอลครับเนื่องจากเป็นนวัตกรรม (Innovation) ทางความคิดที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและวิจัยเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตได้ไม่เต็มที่ซึ่งเรื่องลิขสิทธิ์ (Copyright) จึงกลายเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ

 

ปัจจุบันฐานการพัฒนาและผลิตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่สำคัญของโลกอยู่ที่ซิลิคอนส์ วัลเลย์ (Silicon Valley) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาและเมืองบังกะลอร์ (Bangalore) ประเทศอินเดียครับ

 

ใจกลางเมืองซานโฮเซ่ (San Jose) เมืองหลวงของซอฟต์แวร์
หุบเขาซิลิคอนส์ (Silicon Valley)  

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมได้แก่การผลิตอุปกรณ์ทางด้านโทรศัพท์สื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องมือสื่อสารคมนาคม ทั้งนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมด้านสื่อสารโทรคมนาคมนั้นเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 แล้ว ปัจจุบันการแข่งขันภายในตลาดของอุตสาหกรรมประเภทนี้มีมากขึ้น พิจารณาได้จาก "ยี่ห้อ" ของโทรศัพท์มือถือที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยฐานการผลิตส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดแวร์ทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมจะอยู่ที่จีนครับ    

.

โนเกียของฟินแลนด์และซีเมนส์ของเยอรมนี
สองผู้ยิ่งใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมผลิตโทรศัพท์มือถือ

.

สำหรับเซคเมนต์สุดท้ายที่อยู่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจแบบดิจิตอล คือ อุตสาหกรรมบริการใน Digital Economy ครับ โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวได้แก่ การให้บริการอินเตอร์เน็ต การให้บริการข้อมูลสื่อสารแบบออนไลน์ การให้บริการระบบวิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ ปัจจุบันอุตสาหกรรมส่วนนี้มีส่วนแบ่งการตลาดสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาเปิดเสรีทางด้านกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้รัฐบาลแต่ละประเทศมักจะใช้วิธีการให้สัมปทาน (Concession) กับธุรกิจผู้สนใจเข้ามาทำสัญญาประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทางด้านโทรคมนาคม

.

นอกจากเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมให้กับทุกภาคเศรษฐกิจแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศยังมีส่วนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวเพิ่มยิ่งขึ้น น่าสนใจนะครับว่าเศรษฐกิจแบบดิจิตอลนี้ถือกำเนิดขึ้นมาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับ "การค้าเสรี" (Free Trade) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้คือเรื่องของโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org
2. The emerging of digital economy, US Department of Commerce