เนื้อหาวันที่ : 2009-06-08 18:29:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2534 views

รฟม.ต่อรองค่าก่อสร้างสายสีม่วงสัญญา 1 เหลือ 14,842 ลบ.

บอร์ด รฟม. เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม CKTC Joint Venture ที่ได้มีการต่อรองราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ครั้งล่าสุดลงมาเหลือ 14,842 ล้านบาท คาดจะเปิดซองราคาสัญญา 2 ปลายเดือนนี้

คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม CKTC Joint Venture ที่ได้มีการต่อรองราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ครั้งล่าสุดลงมาเหลือ 14,842 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการเปิดซองราคาสัญญา 2 ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้  

..

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า วงเงินที่ต่อรองได้ดังกล่าว จะแยกเป็น ค่าก่อสร้าง หรืองานโยธา จำนวน 14,242 ล้านบาท และ ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 600 ล้านบาท โดยส่วนค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดจะจ่ายตามจริง ซึ่งจะจ่ายขั้นต่ำ 50 ล้านบาท ทั้งนี้จะมีการรายงานให้ครม.รับทราบต่อไป 

..

เดิม รฟม.ได้มีการเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 1 กับกลุ่ม CKTC Joint Venture ลงมาที่ 14,965 ล้านบาท ดังนั้นผลการเจรจาต่อรองราคาครั้งล่าสุดจึงปรับลดลงมาประมาณ 123 ล้านบาท 

..

นายสุพจน์  กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการเจรจาต่อรองในการปรับลดราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ในสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับสายตะวันออก ช่วงจากเตาปูน-พระนั่งเกล้า โดยกลุ่ม
CKTC Joint Venture ได้ปรับลดค่าก่อสร้างลง 

.

สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม.จะเสนอขออนุมัติจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศไทยแห่งญี่ป่น(ไจก้า)คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 3 สัปดาห์ จากนั้นจะเปิดซองราคาที่เหลืออีก 2 สัญญาภายในปลายเดือน มิ.ย. หรือไม่เกินต้นเดือน ก.ค.52 

.

นายสุพจน์ ยังกล่าวว่า เดิมกลุ่ม CKTC เสนอราคาต่ำสุดที่16,724.50 ล้านบาท และมีการต่อรองราคาจนปรับลดเหลือ 14,965  ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาค่าก่อสร้างบวกค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด แต่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าควรคิดเฉพาะค่าก่อสร้างงาน คือ 14,242  ล้านบาท และให้คิดค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดเพียง 50 ล้านบาท ดังนั้น วงเงินที่จะเสนอขออนุมัติจาก ครม.จะอยู่ที่ 14,292 ล้านบาท โดยหากก่อสร้างแล้วพบว่าค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดมากกว่า 50 ล้านบาทก็จะเสนอขอ ครม.ให้จ่ายตามจริง 

.

นายสุพจน์ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการเจรจารองอัตราค่าตอบแทนในการว่าจ้างนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม.ในอัตราเดือนละ 340,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินว่าจ้างนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟม. เนื่องจากในแผนการทำงานโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น ผู้ว่าคนใหม่ไม่ต้องรับผิดชอบในการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาเงินกู้

.

ส่วนขั้นตอนจากนี้จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอขออนุมัติจาก ครม.จากนั้นจะดำเนินการลงนามในสัญญาว่าจ้างและเริ่มงานได้ภายใน 1 เดือนหรือประมาณเดือน ก.ค.นี้