เนื้อหาวันที่ : 2009-06-04 15:49:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 925 views

NIDA-SCRI ชี้ถึงเวลา "Reshape" เศรษฐกิจไทย แนะรัฐปรับรูปแบบพึ่งพิงตลาดเอเชีย-เน้นดึงรายได้ภาคบริการ

NIDA Business School ผนึกกำลังสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ แนะถึงเวลาเปลี่ยนรูปร่าง ‘Reshape’ เศรษฐกิจไทย ชี้แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนและความแข็งแกร่งของภาคการเงิน

NIDA Business School ผนึกกำลังสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ แนะถึงเวลาเปลี่ยนรูปร่าง "Reshape" เศรษฐกิจไทย ชี้แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนและความแข็งแกร่งของภาคการเงิน  

.

ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียได้เปรียบ เหตุฐานะการเงินเข้มแข็งกว่า ฟันธงวิกฤตเศรษฐกิจผลักดัน “จีน”ผงาดขึ้นแท่นผู้นำ แนะรัฐบาลไทยปรับยุทธศาสตร์ เปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ หันยึดโยงจีนและเอเชียแทนตลาดสหรัฐฯ เน้นพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศและในภูมิภาค พร้อมเพิ่มรายได้ภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม

.

คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 7 ในหัวข้อ "Economics Reshape : Shift to Asia & Asean" ขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School เปิดเผยว่า

.

จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการณ์การเงินในรอบนี้ พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านพ้นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2552 โดยในขณะนี้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ภาคการเงินเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังไม่ได้อยู่ในภาวะเข้มแข็ง 

.

"ที่เราเห็นในขณะนี้ ก็คือ ปัญหาในภาคธุรกิจที่แท้จริงที่เป็น Real Sector เริ่มคลี่คลาย อัตราการว่างงานเริ่มคงที่ แต่ภาคธุรกิจยังประสบกับภาวะขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนและปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยาก ทำให้โดยรวมแล้วเชื่อว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบประมาณ 2.8% ในปี 2552 และเติบโตในอัตรา 0% ในปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้" คณบดี NIDA Business School กล่าว

.

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียนั้น หากพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียจะพบว่า เกิดขึ้นจากการลดลงของความต้องการในสินค้าคงทนและสินค้าทุน โดยเฉพาะรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศในเอเชีย ดังนั้น ผลที่ตามมาก็คือ การผลิตที่ลดลง

.

ตามมาด้วยการเลิกจ้างแรงงาน ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในเอเชียได้ถูกปรับลดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้ปรับตัวลดลง อย่างเช่น ประเทศจีนและอินเดีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการส่งออกเป็นสัดส่วนเล็กน้อย เพราะมีจำนวนประชากรมาก ส่วนใหญ่จึงเป็นการบริโภคภายในประเทศ

.

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าจะไม่มีปัญหาสถาบันการเงิน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง ตลอดจนการส่งออกและการลงทุนที่ลดลง ทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานและหลายกิจการต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

.

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรจะดำเนินการ ก็คือ การหันมาเพิ่มการพึ่งพิงกับเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและมีการเติบโตในขณะนี้ ซึ่งก็คือประเทศจีน เพื่อลดนํ้าหนักการพึ่งพิงเศรษฐกิจอเมริกา โดยในระยะยาว ควรหันมามุ่งเน้นตลาดภายในประเทศและตลาดในภูมิภาคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนที่การพึ่งพาการเติบโตที่เน้นด้านการลงทุน การท่องเที่ยวและการส่งออก

.

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดซึ่งมีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติเศรษฐกิจรอบ 70 ปี จะส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจและภาคการเงินของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คาดว่าจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ที่จะอาศัยความแข็งแกร่งทางการเมืองและการเงินในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในทุกด้านอย่างแท้จริง

.

"จากปัจจัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสถาบันการเงิน รวมถึงพฤติกรรมของชาวสหรัฐฯที่หันมาออมเงินมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ SCRI ประเมินว่า การบริโภคของสหรัฐฯและยุโรปในช่วง 1-2 ปีจากนี้ไปจะไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ประเทศในเอเชียที่เคยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น ไทย คงต้องเตรียมความพร้อมในการหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นอีก" นายสุกิจกล่าว

.

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยนครหลวงไทยได้ ประเมินว่า ธุรกิจในภาคบริการ อาหารและเกษตร ในเอเชียจะเป็นธุรกิจที่มีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่อาจไม่ฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบในธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะภาคโรงแรม โรงพยาบาลและกิจการอาหารแปรรูป เนื่องจากความพร้อมในเรื่องทรัพยากร และบุคลากร แต่สิ่งที่ยังคงขาด คือ การจัดการและกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

.

โดยสรุปแล้ว สถาบันวิจัยนครหลวงไทยได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปร่าง (Reshape) เพื่อที่จะรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในระดับไม่ต่ำกว่า 5% โดยรูปร่างใหม่ที่ประเมินได้ในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมาตลาดเอเชีย จากการพึ่งพารายได้จากการส่งออกมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น และจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมาเน้นภาคบริการ