เนื้อหาวันที่ : 2009-06-04 11:10:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1274 views

สช.จี้รัฐตั้งองค์กรอิสระแก้ปัญหามาบตาพุด

สช.จี้รัฐบาลเดินหน้า ม.67 รัฐธรรมนูญตั้ง "องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" แก้ปัญหามาบตาพุด พร้อมจับตาประชุมคกก.อีสเทิร์นซีบอร์ด

สช.จี้รัฐบาลเดินหน้า ม.67 รัฐธรรมนูญตั้ง "องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" แก้ปัญหามาบตาพุด พร้อมจับตาประชุมคกก.อีสเทิร์นซีบอร์ดวันนี้

.

.

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง "มาตรา 67 ขจัดขัดแย้ง แก้ปมมาบตาพุด" ว่า ภายหลังจากที่ คสช. เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพกรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่จังหวัดระยองต่อคณะรัฐมนตรี 5 ข้อ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

.

โดย ครม.ได้มีมติเห็นชอบ 3 ข้อ คือ ให้มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพ จากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดและอำเภอบ้านฉาง รวมถึงเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและการสร้างสุขภาพในภาวะมลพิษให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง เสนอให้มีการจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมและการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมีระดับจังหวัด

.

ส่วนข้อเสนอที่เหลืออีก 2 ข้อ คือ ให้รัฐบาลทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน และขอให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้างฉาง ในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนา จ.ระยอง ที่เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ โดยทาง ครม. ได้มอบให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐตรี เป็นประธาน ในวันนี้ (4 มิ.ย.)

.

"ข้อเสนอที่ให้ชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่นั้น การที่ ครม.ยังไม่เห็นชอบ เนื่องจากยังมีข้อกังวลใจในเรื่องนี้จากภาคอุตสาหกรรม และที่ผ่านมาทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์เมืองไทย ออกมาขอให้ทบทวนข้อเสนอนี้ เพราะหากมีการชะลอการก่อสร้างตามที่ คสช. เสนอ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนกว่า 60 โครงการ ที่มีมูลค่ากว่า 4  แสนล้านบาทต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมติดลบนั้น ชี้แจงว่า ทาง คสช. ไม่ได้เสนอให้มีการระงับโครงการ แต่เสนอให้ชะลอจนกว่าจะมีการกำหนดแนวทางทำงานตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น" นพ.อำพลกล่าว

.

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน

.

รวมทั้งได้ให้ "องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" ที่ประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์