เนื้อหาวันที่ : 2009-06-03 16:41:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1408 views

บลจ.ไอเอ็นจี รุกปรับนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลุยรูปแบบ 'มาสเตอร์ ฟันด์' เพิ่มทางเลือกลงทุนสมาชิก กฟผ.

บลจ.ไอเอ็นจี เดินหน้ารุกธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกาศพร้อมปรับเปลี่ยนการลงทุนรองรับรูปแบบ MASTER FUND กฟผ.มั่นใจหลังเปิดทางสมาชิกเลือกแผนลงทุนได้เหมาะสมกับตัวเอง ส่งผลสมาชิกสนใจมากขึ้น

บลจ.ไอเอ็นจี เดินหน้ารุกธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกาศพร้อมปรับเปลี่ยนการลงทุนรองรับรูปแบบ MASTER FUND ที่มีความหลากหลายของนโยบาย ยอมรับสถานการณ์แวดล้อมทำให้การลงทุนต้องการความยืดหยุ่นสูง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันได้ปรับรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน กฟผ.ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ด้าน กฟผ.มั่นใจหลังเปิดทางสมาชิกเลือกแผนลงทุนได้เหมาะสมกับตัวเอง ส่งผลสมาชิกสนใจมากขึ้น

.

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด

.

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเดิมสามารถจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับกองทุน โดยจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภท "มาสเตอร์ ฟันด์" (MASTER FUND) ที่มีนโยบายลงทุนหลายนโยบาย (SUB FUND) เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมนั้น

.

ขณะนี้ ทาง บลจ.ไอเอ็นจี มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นการเลือกที่จะนำเงินทั้งก้อนไปลงทุนในนโยบายการลงทุนใดนโยบายหนึ่ง หรือเลือกที่จะแบ่งสัดส่วนของเงินกองทุนเพื่อนำไปลงทุนในนโยบายการลงทุนหลายๆ แบบตามที่ต้องการได้ ซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการ

.

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น หลังจากที่นายจ้างนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนแล้ว บริษัทจัดการก็จะนำเงินนั้นไปลงทุนตามนโยบายที่ระบุไว้ในสัญญา โดยมีคณะกรรมการกองทุนทำหน้าที่ติดตามการทำงานของบริษัทจัดการว่า มีการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่   

.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุนตามความเหมาะสมของตนเอง (Employee's choice) หรือระบบลูกจ้างเลือกลงทุน เพื่อให้สมาชิกสามารถเลือกลงทุนในนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับวัย ผลตอบแทนที่ต้องการ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่การจะนำระบบลูกจ้างเลือกลงทุนมาใช้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเข้าใจในเรื่องของการเลือกนโยบายการลงทุนของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและความพร้อมด้านระบบงานของนายจ้างเป็นหลัก

.

"ในขณะนี้ต้องยอมรับว่า ท่ามกลางความตกต่ำและการเข้าสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก ความยืดหยุ่นและความหลากหลายของนโยบายลงทุน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา รูปแบบการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะกำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนและกำหนดเป็นนโยบายเดียวสำหรับสมาชิกทุกคน ทำให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการ  

.

ดังนั้น หลังจากที่ ก.ล.ต.เปิดให้สมาชิกมีโอกาสเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง จึงถือเป็นเรื่องที่ดี โดยในส่วนของ บลจ.ไอเอ็นจี ก็มีความพร้อมในการกำหนดนโยบายให้มีความหลากหลายขึ้น โดยล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าว

.

นางสินีนาถ สิทธิรัตนะรังษี รองผู้ว่าการบัญชีและการเงิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว กล่าวว่า ทางกองทุนฯ ได้มอบหมายให้ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ดำเนินการจัดทำ Employee's Choices ร่วมกัน ในรูปแบบ MASTER FUND

.

ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ กฟผ.สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ด้วยตนเอง ตามระดับการยอมรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน  โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2552 ซึ่งก่อนหน้านี้ กองทุนฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่สมาชิกและเผยแพร่ข่าวสาร ซึ่งในเบื้องต้นนี้ได้รับความสนใจต่อสมาชิกเป็นอย่างดี

.

และทางคณะกรรมการกองทุนฯ คาดหวังว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีที่สามารถสร้างอิสระการตัดสินใจลงทุนให้กับตัวสมาชิกเอง เพียงแต่คณะกรรมการจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลความรู้ด้านการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้น สมาชิกจึงได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสร้างวินัยการลงทุนและการติดตามผลการดำเนินการของกองทุนที่ตนเลือก ซึ่งทำให้สามารถสร้างความรู้เรื่องการลงทุนให้กับพนักงานการไฟฟ้าได้ดีขึ้น