เนื้อหาวันที่ : 2009-06-03 16:12:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1244 views

ธปท.ยอมรับเข้าดูแลค่าเงินบาทหลังแข็งค่าใกล้ 34.00 บาท/ดอลลาร์

ธปท. ยอมรับได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาท หลังบาทแข็งค่าขึ้นมาก หวังลดความผันผวน ชี้ไม่พบการเก็งกำไร ยันจะดูแลค่าเงินบาทให้เกิดความสมดุลทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและประชาชน

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาท หลังจากในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เพื่อลดความผันผวน แต่ยังไม่พบการเก็งกำไรในค่าเงินบาทในระยะนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทเพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและประชาชนให้เกิดความสมดุล เพราะสะท้อนถึงค่าครองชีพอย่างแท้จริง

.

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเห็นว่า ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค แม้ว่าบางช่วงค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่าสกุลอื่นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ จากสิ้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.9% ค่าเงินรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซีย แข็งค่า 8.5% เงินรูปีของอินเดียแข็งค่า 4% เงินวอนเกาหลีแข็งค่า 1.74% เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 1.5% ขณะที่เงินดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่า 0.7% เงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่า 0.5% และเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า 5.9%   

.

เช้าวันนี้เงินบาทเปิดที่ระดับ 34.08/10 บาท/ดอลลาร์ และเคลื่อนไหวแข็งค่า สำหรับสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าในระยะนี้เกิดจากมีเงินดอลลาร์ไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนกล้าที่จะหาผลตอบแทนสูงจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และแม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่า แต่มูลค่าส่งออกของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกคือกำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงิน ส่วนเรื่องราคาก็ต้องไปสู้กันในตลาด 

.

ในไตรมาส 1/52 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเกินกว่าที่คาดไว้ แต่ในไตรมาสต่อๆ ไปการนำเข้าอาจจะเร่งตัวขึ้น อาจมีการสะสมสต็อคสินค้าคงคลังทำให้ดุลการค้าขาดดุลได้ 

.

นางสุชาดา กล่าวว่า การติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ไม่ควรดูเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ด้วย และจากดัชนีค่าเงินบาทเฉลี่ย(NEER) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 77.22 อ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับ 77.32 เมื่อเดือน เม.ย.สะท้อนว่า NEER มีเสถียรภาพมากขึ้น 

.

พร้อมแนะให้ภาคธุรกิจป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging)เท่าที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบัน ธปท.พบว่าการทำ Hedging ทั้งด้านผู้ส่งออกและผู้นำเข้าลดลงเหลือ 25% เทียบกับไตรมาส 1/51 ที่ยังใช้มาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% พบว่าผู้ส่งออกทำ Hedging 50% และผู้นำเข้าอยู่ที่ 30-40%