เนื้อหาวันที่ : 2009-06-01 08:53:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1948 views

จับตา GM ยื่นล้มละลายวันนี้ หลังแต่งตั้ง อัค คอชนั่งผู้บริหารฝ่ายปรับโครงสร้าง

จีเอ็มเตรียมยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายในวันนี้ ก่อนเวลา 08.00 น.ตามเวลานิวยอร์ก และจะขายสินทรัพย์เกือบทั้งหมดให้กับบริษัทแห่งใหม่ โดยมีนายอัล คอช เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปรับโครงสร้าง

แหล่งข่าววงในของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า จีเอ็มเตรียมยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายในวันจันทร์ที่ 1 มิ.ย. ก่อนเวลา 08.00 น.ตามเวลานิวยอร์ก และจะขายสินทรัพย์เกือบทั้งหมดให้กับบริษัทแห่งใหม่ โดยจีเอ็มได้แต่งตั้งนายอัล คอช เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปรับโครงสร้าง                                                               

.

รายงานระบุว่า นายคอชซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารของบริษัท AlixPartners LLP จะรายงานผลการปรับโครงสร้างองค์กรต่อนายฟิทซ์ เฮนเดอร์สัน ซีอีโอของจีเอ็ม และหลังจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของจีเอ็มถูกขายให้กับบริษัทแห่งใหม่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว นายคอชจะยังคงรับหน้าที่ขายสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ 

.

คณะกรรมการบริหารของจีเอ็มได้ประชุมร่วมกันเป็นเวลา  2 วันเพื่อสรุปแผนยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการยื่นขอล้มละลายที่มีการเตรียมการอย่างรอบคอบที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจสหรัฐ และจะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐ รองจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และเวิลด์คอม อิงค์ 

.

ที่ผ่านมานั้นจีเอ็มได้เจรจาให้เจ้าหนี้ยอมแลกหนี้เป็นหุ้น ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มรวม 27 พันล้านดอลลาร์ โดยจีเอ็มต้องการให้เจ้าของหุ้นกู้ 90% ยอมแลกหนี้เป็นหุ้นที่จะมีสัดส่วน 10% ในบริษัทที่ปรับโครงสร้างใหม่ แต่เมื่อถึงกำหนดเส้นตายเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา กลับมีผู้ถือหุ้นกู้จำนวนน้อยรายที่ยอมรับข้อเสนอนี้ ซึ่งก็เท่ากับว่าจีเอ็มแทบจะไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเดินเข้าสู่กระบวนการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายภายใต้มาตรา 11 เช่นเดียวกับ "ไครสเลอร์" หนึ่งในค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรีที่ได้ยื่นล้มละลายไปก่อนหน้านี้

.

นักวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นในจีเอ็มทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อาทิ มาตรการภาษีที่จะใช้กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถใหม่แทนรถเก่า รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะการที่รัฐบาลลงทุนในจีเอ็มและไครสเลอร์ก็อาจจะออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อค่ายรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง ขณะที่ "บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์" จะเสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 

.

ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นจีเอ็มปิดที่ระดับ 75 เซนต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) เมื่อ 80 ปีก่อน

.

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะร่างนโยบายในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการประกาศยื่นล้มละลายของจีเอ็ม ซึ่งอาจเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ซัพพลายเออร์และบริษัทขนาดเล็กที่มีปัญหาด้านการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทและเครือข่ายต้องล้มละลายไป สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน