เนื้อหาวันที่ : 2009-05-28 17:27:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1063 views

คลังคาด GDP Q2/52 หดตัวลดลง หลัง พ.ค. สัญญาณดีขึ้น

สศค. ยัน GDP ไตรมาสแรกติดลบ 7.1% ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย คาดไตรมาส 2/52 ติดลบน้อยลง ฟุ้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มเห็นผล การเมื่องนิ่ง ยิ่งทำให้จีดีพีติดลบน้อยลงอีก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยืนยันว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในไตรมาส 1/52 ที่ติดลบ 7.1% ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดว่าจีดีพีไตรมาส 2/52 จะเริ่มติดลบน้อยลง ส่วนไตรมาส 3/52 จากที่มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มเห็นผลและการเมืองเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ จะยิ่งทำให้จีดีพีติดลบน้อยลงอีก

.

ทั้งนี้ เป็นการประเมินจากภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ค.ที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจาก เม.ย.ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ที่สะท้อนการบริโภคภาคเอกชน จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เริ่มทรงตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายการลงทุนและขยายกำลังการผลิตสินค้า 

.

จากนั้นจีดีพีน่าจะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/52 หลังจากติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เงินงบประมาณปี 53 เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่ ต.ค.52 อีกทั้ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ก็น่าจะมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงประมาณการณ์จีดีพีปี 52 ไว้ว่าจะติดลบ 3.5% แต่จะทบทวนตัวเลขจีดีพีอีกครั้งตามกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้

.

นายสมชัย ยังมองว่า นโยบายที่รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนนโยบายการเงินก็ทำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จึงเหลือเพียงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่จะต้องมีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยเหลือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

.

"นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเราต้องดูว่า ประเทศเพื่อนบ้านเขาเปลี่ยนแปลงในระดับใด เราต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ใช่เขาอ่อนค่า 10% แต่เราอ่อนค่าแค่ 2% ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่  เชื่อว่าตอนนี้แบงก์ชาติทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง เราไม่อยากวิจารณ์ เขาคงมีข้อมูลที่ดีกว่า แต่เราพูดจากข้อมูลที่เรามี" ผู้อำนวยการ สศค.ระบุ 

.

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2-3 จะหดตัวน้อยลง และเริ่มกลับเป็นบวกในไตรมาส 4/52 ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ รายจ่ายของรัฐบาล ต้องมีการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย หรือเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมไปถึง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาทจะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้เห็นความสำคัญถึงความจำเป็นถึงการกู้เงิน อีกปัจจัยคือเรื่องการเมืองที่จะต้องมีเสถียรภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจนิ่ง และเริ่มผงกหัวขึ้นได้

.

"หาก พ.ร.ก.กู้เงินไม่ผ่าน ก็มีปัญหาแน่ๆ ดังนั้น ต้องส่งสัญญาณ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการกู้เงิน และเงินงบประมาณที่ต้องใช้กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง" ผอ.สศค. กล่าว 

.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า การที่สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิส(มูดี้ส์)เตรียมทบทวนเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบ โดยมั่นใจว่าขณะนี้ภาคสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยอยู่แล้ว         

.

ขณะนี้ระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 14.9% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และ ระดับ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)อยู่ที่ 5.5% ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่าหลายประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่ามีปัญหากังวล