เนื้อหาวันที่ : 2009-05-28 09:58:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1247 views

ลาวไฟเขียว ให้ไทยสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำโขง

กระทรวงพลังงานร่วมกับรัฐบาลลาว เตรียมร่วมทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ บริเวณแม่น้ำโขง ไทยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดส่วนลาวเปิดไฟเขียวแล้ว

นายมานะ นิติกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

.

นายมานะ นิติกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับรัฐบาลลาว เตรียมร่วมทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ  กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์  บริเวณแม่น้ำโขง มีจุดเชื่อมต่อฝั่งไทยที่ อ.ปากชม จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ได้รับงบประมาณ 60 ล้านบาท จ้างบริษัทเอกชนศึกษารายละเอียด ภายใน 18 เดือน  ก่อนเสนอนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน พิจารณาส่วนลาวนั้นเบื้องต้นรัฐบาลเห็นชอบดำเนินโครงการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสาร

.

"การศึกษารายละเอียดโครงการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมด้านพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ หากผลศึกษาผ่านความเห็นชอบทั้งประชาชนและรัฐบาลแล้ว ก็ต้องหารือการแบ่งปันผลประโยชน์ของไทยกับลาว รวมถึงประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง"

.

นายมานะ กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ เดิม พพ.ศึกษาไว้ 2 แห่งคือ อ.ปากชม จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ และ อ.บึงกุ่ม จ.เลย กำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ แต่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ อ.บึงกุ่ม ไม่สามารถตกลงกับลาว เรื่องการจ้างบริษัทก่อสร้างได้ ไทยจึงปล่อยให้เอกสนที่สนใจพัฒนาโครงการไป

.

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำนับว่าจำเป็น เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 26,000 เมกะวัตต์  ปริมาณการใช้ 22,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากเศรษฐกิจฟื้นตัวความต้องการใช้จะสูงขึ้นอีก หากไม่เตรียมแหล่งผลิตเพิ่ม อาจมีปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ ซึ่งไฟฟ้าพลังน้ำ ถือเป็นพลังงาน สะอาด หากสร้างที่ อ.ปากชม ได้ จะทดแทนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 1 เครื่อง

.

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน กล่าวว่า สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำบ้านกุ่ม ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม กับรัฐบาลลาว กำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท คาดเข้าระบบปี 2555 โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากชม จ.เลย กำลังผลิต 1,000 -1,100 เมกะวัตต์ คาดว่าใช้งบพัฒนาโครงการกว่า 5 หมื่นล้านบาท

.

ทั้งนี้แม่น้ำโขงมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้กว่า 21,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ลำน้ำสาขาผลิตได้อีก 23,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้ไม่เฉพาะไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศสนใจพัฒนาโครงการ เช่น จีน เวียดนาม เพราะ ต้นทุนต่ำสุด มีศักยภาพรองรับความต้องการไฟฟ้าในอนาคต

.

"ไทยมีข้อจำกัดเรื่องสรรหาทรัพยากร และการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ นอกจากนี้อัตราการใช้ไฟฟ้าเติบโต 1,400 -1,500 เมกะวัตต์ต่อปี ทำให้ต้องเน้นการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน"

.

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และเว็บไซต์ประชาไท