เนื้อหาวันที่ : 2006-10-24 09:56:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1188 views

ม.สุรนารีเปิดตัวโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 100 กิโลวัตต์ ป้อนชุมชน 200 หลังคาเรือน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดตัว โรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดตัว โรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ดร.วีรชัย อาจหาญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

.

ดร.วีรชัย อาจหาญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ เนื่องมาจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในต่างประเทศ หรือ แม้กระทั่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มในการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุจูงใจให้เกิดการค้นคว้าและวิจัยหาแหล่งพลังงานใหม่มาทดแทนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ

.

สำหรับโครงโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ ได้เริ่มมีการวิจัยตั้งแต่ปี 2546 จากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และออกแบบระบบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ พร้อมสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก 510 กิโลวัตต์ โดยมุ่งหวังให้พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้จากการทดสอบระบบ พบว่าสัดส่วนขององค์ประกอบของก๊าซชีวมวลที่ผลิตขึ้นมีค่าความร้อนเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งเป็นต้นกำลังขับเคลื่อน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมันได้  

.

จากการวิจัยพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งนำไปสู่การร่วมมือกับนักวิจัยจาก บริษัท ซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จัดสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบขนาดกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์  ขึ้นภายในบริเวณฟาร์มมหาวิทยาลัย แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 เพื่อออกแบบ ศึกษารายละเอียด ปรับปรุง และทดสอบระบบที่เหมาะสมก่อนจะนำไปใช้งานจริง รวมถึงการนำไปใช้ในเชิงการค้าหรือส่งเสริมให้เป็นวิสาหกิจระดับชุมชนต่อไป ทั้งนี้ด้วยกำลังการผลิตดังกล่าวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับ ชุมชนได้ถึง 200 ครัวเรือน

.ระพ8193

นอกจากนี้ ได้ทำการวิจัยเทคนิคการบริหารจัดการวัตถุดิบ โดยการปลูกไม้โตเร็ว อาทิ กระถิน และยูคาลิปตัส ในพื้นที่  อ.ด่านช้าง   จ.สุพรรณบุรี จำนวน 2,000 ไร่ และพื้นที่ใน มทส. จำนวน 200 ไร่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อหมุนเวียนตัดมาเป็นเชื้อเพลิงป้องโรงไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี จึงมั่นใจว่าในอนาคต มทส. สามารถเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานระดับภูมิภาค รวมถึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การ ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป