เนื้อหาวันที่ : 2009-05-26 16:43:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2340 views

องค์กรชาวบ้านค้านคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน เตรียมข้อเสนอภาคประชาชน

กลุ่มเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ชี้มาตรการกลไกคาร์บอนเครดิต REDD ซีดีเอ็ม ไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซจริง หวั่นกลายเป็นเครื่องมือปัดความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว เรียกร้องรัฐบาลไทยเป็นผู้นำลดคาร์บอนอย่างสมัครใจ

ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  กลุ่มเครือข่ายองค์กรชาวบ้านหลายสิบองค์กร  กว่า 70 ชีวิตจากทุกภาค  ได้เดินทางมาร่วมประชุมปรึกษาหารือถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเพื่อหาจุดยืนและข้อเสนอของภาคประชาชนระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2552  

.

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  กลุ่มรณรงค์และศึกษามลภาวะอุตสาหกรรม และเครือข่ายลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดประชุม กล่าวว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนในช่วงผ่านมา ภาคประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปร่วม  การกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกถูกกำหนดโดยคนเพียงหยิบมือเดียวในภาครัฐและภาคธุรกิจที่มีผลประโยชน์  แนวทางที่ผ่านมามีแนวโน้มก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

.

"ที่สำคัญ ในเดือนธันวาคมปีนี้ จะมีการประชุมของ UNFCCC ซึ่งจะมีการกำหนดสาระสำคัญที่จะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนหลังมีพิธีสารเกียวโต เราไม่เห็นว่ามีการลดการปล่อยก๊าซจริง แต่กลับเกิดกลไกตลาดเสรีเพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันความรับผิดชอบที่ประเทศพัฒนาแล้วก่อให้กับสิ่งแวดล้อม โดยกลไกคาร์บอนเครดิต  REDD ซีดีเอ็ม มาตรการเหล่านี้ยังไม่มีความโปร่งใส  และยังไม่ทราบว่าเมื่อนำกลไกเหล่านี้มาใช้จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมมากขึ้นไปอีกหรือเปล่า"

.

"กลุ่มประชาชนที่พึ่งพิงทรัพยากร มีชีวิตอยู่กับป่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ชนเผ่า ชาวประมง ชาวบ้าน ฯลฯ จะต้องเข้ามารับรู้เรื่องนี้และตามให้ทันการเจรจาบนเวทีโลกที่จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะเขาจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกฎกติกาที่จะเกิดขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าถ้าเราปล่อยให้การออกแบบมาตรการกลไกเหล่านี้อยู่ในมือคนไม่กี่คน เชื่อว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ 

.

เรามีมติร่วมกันว่าทิศทางพัฒนาเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การเคารพสิทธิและการเข้าถึงทรัพยากร ความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย และเราไม่เห็นด้วยกับการผลักภาระความรับผิดชอบต่อปัญหาให้กับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศผู้ก่อปัญหาควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบลดการปล่อยก๊าซภายในประเทศของตนเอง" นางสาวเพ็ญโฉมกล่าว

.

นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบฯ กล่าวถึงข้อเสนอของภาคประชาชนในส่วนภาคพลังงาน การขนส่งและอุตสาหกรรมว่า "ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เป็นผู้นำลดคาร์บอนอย่างสมัครใจ  ปรับปรุงการวางแผนพลังงานใหม่โดยหน่วยงานอิสระ เพื่อตัดตอนการหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากแผนพีดีพี ก่อนจะนำพาประเทศสู่กับดัก  หยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะใช้เป็นทางออกโลกร้อนไม่ใช่ทางออกที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะกากนิวเคลียร์  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน"

.

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี กล่าวเสริมว่า "อุตสาหกรรมสกปรก อุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก และอุตสาหกรรมที่เราไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง คือ ต้องนำเข้าทั้งหมด  อุตสาหกรรมเหล่านี้นำไปสู่การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นและการก่อมลพิษ  รัฐบาลต้องทบทวนเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม หยุดสนับสนุนอุตสาหกรรมสกปรก  รัฐบาลและบีโอไอควรต้องทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ"

.

นายธนเทพ กมศิลป์ สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จังหวัดชุมพร ในนามกลุ่มอนุรักษ์ทะเลอ่าวไทย  ซึ่งอยู่ในวงการประมงพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน  กล่าวว่า  แผนพัฒนาขนาดใหญ่มักใช้ทะเลเป็นเส้นทางลำเลียงวัตถุดิบ เป็นการทำลายการวางไข่ของปลาสร้างผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเล   

.

ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  สิ่งกีดขวางในทะเลจากโครงการเหล่านี้ยังทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง  สัตว์น้ำเคลื่อนย้ายที่อยู่  ทำลายวิถีชีวิตและความสามารถของชาวประมงในการพึ่งพาตนเอง  และโครงการเหล่านี้ยังเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ปัญหาโลกร้อนแย่ลง

.

ในประเด็นเกษตรกรรม  นางผา กองธรรม สมัชชาคนจนกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าโครงการขนาดใหญ่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายแหล่งป่าไม้ที่เป็นแหล่งดูดซับ  และทำลายระบบเกษตรพื้นบ้านซึ่งเป็นฐานทรัพยากรด้านอาหารและเป็นฐานสำคัญของการรักษาระบบนิเวศน์และความอุดมสมบูรณ์ของป่า 

.

รัฐควรต้องพิจารณาทุกโครงการที่ส่งผลต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม  ต้องมีมาตรการเก็บภาษีจากโครงการขนาดใหญ่ให้กับกลุ่มคนหรือชุมชนที่เสียประโยชน์  เช่น กรณีเขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้า ทั้งๆที่ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน  แต่ค่าไฟ ชาวบ้านยังต้องจ่าย

.

"ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกษตรรายย่อยทำเกษตรแบบยั่งยืนให้เป็นตัวอย่างของชาติ  ส่งเสริมให้ชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมและการเกษตรขนาดเล็กในพื้นที่นั้นๆ  มีกฎหมายรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการและตัดสินใจ  ส่วนคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องที่ชาวบ้านยังไม่เคยรับรู้  และโครงการต่างๆที่เข้ามาอาจจะกระทบกับชาวบ้านโดยที่ยังตั้งรับไม่ทัน"

.

นายนวพล คีรีรักษ์กุล เครือข่ายชนเผ่า จังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า "ในที่ประชุม  เราไม่เห็นด้วยกับการนำกลไกตลาดมาใช้ในการจัดการป่า การจัดการทรัพยากรต้องให้อำนาจสิทธิชุมชน ปลดล็อคกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายป่าสงวนและป่าอุทยาน  ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกทั้งหมด  แต่ควรจัดการโดยระบบโฉนดชุมชน  และให้สิทธิกับชุมชน"