เนื้อหาวันที่ : 2009-05-26 15:33:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1267 views

นักวิชาการ-ชาวบ้านหนุนภาษีที่ดิน ระบุไม่มั่นใจรัฐบาลเดินหน้าได้จริง

นักวิชาการ - ชาวบ้าน หนุนถึงเวลาเก็บภาษีที่ดินแล้ว ระบุเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่จะดันกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เกิดขึ้น หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เอกชนแนะปิดจุดบอดให้มากที่สุด

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยรายการ "ตรงประเด็นกับกรุงเทพธุรกิจ" ทางคลื่นเอฟเอ็ม 102 จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ "ถึงเวลาต้องจัดเก็บภาษีที่ดินหรือยัง"  โดยผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ เห็นว่าถึงเวลาแล้ว และเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาล ที่จะผลักดันอย่างจริงจังในการตรากฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

.

พร้อม 100% เก็บภาษีที่ดิน

ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีทั่วไปมาจาก 3 ฐาน ได้แก่ ฐานรายได้ ฐานการบริโภค และ ฐานทรัพย์สิน แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน ที่ใกล้เคียงที่สุดคือภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือน และเป็นการจัดเก็บจากฐานรายปี 12.5% ของราคาประเมิน ทำให้เป็นช่องโหว่ให้คนเลี่ยงภาษี

.

นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้น ค่าลดหย่อนมาก ทำให้ฐานรายได้ไม่ชัดเจน อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้รายได้ภาษีดังกล่าวจัดเก็บได้ไม่มาก ทั้งราคาประเมินที่ใช้ก็กำหนดมาตั้งแต่ปี 2521-2524 ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ประเทศไทยจึงควรจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นการปฏิรูประบบภาษีของประเทศให้เป็นธรรม ส่วนหนึ่งจะส่งผลให้การใช้ทรัพยากรที่ดินของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

ดร.ดวงมณี กล่าวว่า จากผลการศึกษา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บจากฐานภาษีที่แท้จริง 3 ด้าน ได้แก่ 1.พื้นที่เกษตร เก็บไม่เกิน 0.05%  2.พื้นที่ที่อยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 0.1% และ 3.พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ เก็บไม่เกิน 0.5%

.

ขั้นตอนการจัดเก็บ จะมีคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณามาตราที่เหมาะสมในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และความจำเป็นของหน่วยงานท้องถิ่น ที่ต้องทำหน้าที่จัดเก็บ แต่ต้องไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ท้องถิ่นมีความอิสระทางการคลังมากขึ้น ตามแผนกระจายอำนาจ

.

"ถามว่าไทยพร้อมแค่ไหน บอกได้ว่าไทยพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะเริ่มหรือยัง บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องมีระบบต่างๆ มาช่วยดูแลการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถมีรายได้ในการทำประโยชน์ในท้องถิ่น สำหรับประชาชน"

.
เอกชนแนะปิดจุดบอดให้มากที่สุด

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลถือว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการปฏิรูปภาษี รัฐบาลต้องชี้แจงในประเด็นต่างๆ ก่อน เช่น ภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ดีหรือเปล่า เมื่อนำมาใช้แล้วจะกระจายรายได้หรือไม่ จะลดช่องว่างในสังคมได้จริงไหม และจะสามารถแก้ปัญหาการกักตุนที่ดิน รวมถึงแก้ปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าได้หรือไม่

.

"ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้ ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะมีกฎหมายภาษีที่ดินฯ ขึ้นมา เพราะจะเป็นประโยชน์ ทำให้คนนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่เราเห็นในไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ปลูกข้าวในเมือง เพราะเขาใช้พื้นที่ที่ว่างให้เป็นประโยชน์ทุกตารางนิ้ว"

.

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องของการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน รวมถึงราคาประเมินที่ดิน ที่ปัจจุบันนี้จะประเมินไม่ถึง 50% ของ 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะประเมินได้ครบ แถมการประเมินยังไม่ชัดเจน ไม่ได้ลงลึกรายละเอียดนัก

.

อีกทั้งอัตราภาษีควรกำหนดตามสภาพแวดล้อมของการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการกำหนดแนวทางการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ได้ด้วย

.
"พิเชษฐ"ติงไม่ควรให้ท้องถิ่นเก็บ

นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เขาไม่ได้เห็นด้วย หรือคัดค้านการออกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลรอบคอบก่อนออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง และรายได้ที่จะได้เข้ามานั้นคุ้มค่าหรือไม่ด้วย

.

ปัจจุบันภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ ได้จัดเก็บแต่ละปีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด จะพบว่า เป็นภาษีที่เก็บได้เฉพาะใน กทม. และเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่เมืองเล็ก หรือเขตชนบท มีเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น

.

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในการจัดเก็บ กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ ซึ่งถือว่าเป็นการโยนภาระไปให้ท้องถิ่น ที่อาจจะไม่ได้ผล ท้องถิ่นไม่กล้าจัดเก็บ จะเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ เพราะผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงฐานเสียงของตัวเอง ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้พบว่าที่ดินทั่วประเทศมากกว่า 50% ยังไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถไปจัดเก็บภาษีได้ ทางออกต้องให้กรมสรรพากร เป็นผู้ดำเนินการเหมือนเดิม แล้วส่งคืนให้ท้องถิ่น

.
ชาวบ้านชี้เข้าถึงที่ดินมากขึ้น

นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาษีที่ดินจะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถมีที่ดินทำกินได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันทรัพยากรที่ดินถูกดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยม บรรดานายทุนมุ่งครอบครองที่ดินไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมๆ กับถูกนำไปปั่นราคาจนชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้

.

"การคิดภาษีที่ดินก้าวหน้า น่าจะส่งผลให้นายทุนทั้งหลายชะลอการสะสมที่ดิน และการซื้อเก็บเก็งกำไร ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าถึงที่ดินได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีที่ได้ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายในการปฏิรูปที่ดิน เพราะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย"

.

เก็บภาษีตามราคาที่ดิน ประชาพิจารณ์หนุนเว้นที่อยู่อาศัย-เกษตร

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ภายหลังจากที่ได้ทำประชาพิจารณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นโดยตรง

.

โดยจากการจัดทำประชาพิจารณ์พบว่า อปท.ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักเพื่อไม่ให้รับภาระจากกฎหมายฉบับนี้มากนัก โดยเฉพาะในส่วนที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลักการในการจัดเก็บภาษีจะวัดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักจากเดิมที่วัดจากจำนวนที่ดินทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเนื่องจากที่ดินในแต่ละแปลงมีมูลค่าแตกต่างกัน

.

"หลักการที่ท้องถิ่นให้ความเห็นกับกระทรวงการคลังคือต้องไม่ซ้ำเติมผู้ที่มีรายได้น้อยและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะคนจนที่รัฐบาลไม่ควรต้องไปเรียกเก็บภาษี ซึ่งเดิมภาษีโรงเรือนและที่ดินจะจัดเก็บจากค่าเช่าหรือจำนวนที่ดินทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ของประชาชนที่ต้องเสียภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว" นายสมชัยกล่าว

.

สำหรับอัตราส่วนในการจัดเก็บภาษีนั้นในขั้นเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระบวนการของรัฐสภาจะยังไม่กำหนดอัตราการจัดเก็บออกมาเพราะหากกำหนดอัตราการจัดเก็บไว้ในกฎหมายแม่จะเกิดการถกเถียงกันในกระบวนการออกกฎหมายจนอาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ล้มในขณะที่ผ่านการพิจารณาของสภาได้

.

ดังนั้นในร่างกฎหมายจึงได้กำหนดคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีกลางโดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการกำหนดอัตราเพดานการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอัตราเพดานภาษีที่กำหนดขึ้นมาดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นที่รับผิดชอบจะจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าใด จะเก็บมากเก็บน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินของท้องถิ่น รวมทั้งท้องถิ่นที่มีอัตราความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมากมีมูลค่าที่ดินสูงก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากและเลี้ยงดูตัวเองได้

.

"ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ในท้ายกฎหมายถึงระยะเวลาที่จะจัดเก็บภาษีเพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัว โดยใน 2 ปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ปีที่ 3 เก็บในอัตรา 50% ของอัตราภาษีที่กำหนด ปีที่ 4 เก็บ 75% และในปีที่ 5 จัดเก็บเต็มตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูก และในสัปดาห์นี้จะเดินหน้าทำประชาพิจารณ์กฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานครเพื่อทำความเข้าใจที่ชัดเจนกับกฎหมายฉบับนี้กับทุกฝ่าย" นายสมชัยกล่าว

.

นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดี กรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีเวลา 2 ปีหลังจากที่ พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ในการประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นฐานภาษี โดยจะร่วมมือกับกรมแผนที่ทหาร กรมที่ดินในการจัดทำแผนที่ดินรายแปลงอย่างละเอียด เพื่อเป็นราคาจดสิทธินิติกรรม เพราะภาษีโรงเรือนที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นฐานภาษีจากค่าเช่า แตกต่างจากที่จะบังคับใช้ใหม่ที่เป็นราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงต้องปรับปรุงแบบประเมินอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ปัจจุบันมี 61 แบบเพื่อให้ตีมูลค่าในเชิงลึกออกมา

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดอัตราภาษีไว้ 3 อัตราคือ1.อัตราทั่วไปสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน 2.ที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สิน 3. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน

.

ส่วนกรณีพื้นที่ว่างเปล่า จะจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ ส่วนที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือ ที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้หาประโยชน์ วัด ฯลฯ นอกเหนือจากนั้นจะอยู่ในข่ายเสียภาษีทั้งหมด

.

ทั้งนี้ ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้ในปัจจุบัน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก เนื่องจากกรณีทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะ ในเขตกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่อาศัยขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่เจ้าของบ้านบางรายมีรายได้ค่อนข้างสูง

.

ขณะเดียวกันกลับเรียกเก็บภาษีประเภทที่ดินเช่าเพื่อก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อาคารสำนักงาน บ้านเช่า ฯลฯ ในอัตราภาษีสูงถึง 12.5% ของค่าเช่า/ปี ซึ่งเจ้าของที่ดิน เอกชน หรือ หน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะผลักภาระให้กับผู้ประกอบการที่เช่าที่ดินเป็นผู้เสียภาษีรายปีแทน และในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการที่พัฒนาอาคารให้เช่า จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่ใช้พื้นที่อีกทอดหนึ่ง 

.

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์ ASTV-ผู้จัดการ และเว็บไซต์ประชาไท