เนื้อหาวันที่ : 2006-03-02 17:46:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13090 views

ตามรอยแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ขุมทรัพย์พลังงานสำรองของไทย

การแสวงหาแหล่งทรัพยากรทางด้านพลังงานจึงไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้เรามีพลังงานใช้ไปได้ตลอด จิตสำนึกของประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญ

 

ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยเรา ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นจำนวนเงินมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว อีกทั้งมีแนวโน้มในการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้พลังงานน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากนั้น มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อก่อน ผู้บริโภคอาจจะไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากนัก เพราะภาครัฐได้เข้ามาช่วยในการพยุงราคาน้ำมันเอาไว้ ส่งผลให้เงินตราสำรองในกองทุนน้ำมันของประเทศลด น้อย ลงจนถึงจุดวิกฤติ ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องประกาศมาตรการลอยตัวน้ำมันขึ้น ด้วยสภาวะเหล่านี้เอง ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยน้ำมันเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนกระบวนการนั้น จำเป็นต้องแบกรับภาระกับราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อแบกรับเอาไว้ไม่ไหว ก็ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคอย่างผมและคุณผู้อ่าน ได้ช่วย ๆ กันแบกไว้คนละแรงสองแรงจนถึงบัดนี้ แต่ไม่เป็นไร ถือว่าเราช่วยประเทศชาติก็แล้วกันครับ

 

สำหรับคอลัมน์ Plant Tour ฉบับนี้ ผมจะพาท่านไปพบกับแหล่งขุมทรัพย์พลังงานของประเทศไทยแห่ง หนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยในการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลงได้บ้าง ที่มีชื่อว่า แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบสำรองบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้การดำเนินงานตาม โครงการ เอส 1 ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยการเยี่ยมชมในครั้งนี้ทางทีมงานได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมเกียรติ ทองเถาว์ รักษาการรองผู้จัดการใหญ่ โครงการ เอส 1, คุณกิติศักดิ์ นวลจันทร์ฉาย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ โครงการ เอส 1 และทีมวิศวกรของ ปตท.สผ. ได้มาอธิบายให้เราทราบถึงความเป็นมา ขั้นตอนและกระบวนการผลิตน้ำมันดิบบนบก แผนการดำเนินงานและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมของโครงการ เอส 1 มาทำความรู้จักกับขุมทรัพย์พลังงานแห่งนี้กันเลยครับ

 

ความเป็นมาของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์

โครงการเอส 1 แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ เป็น หนึ่ง ในทั้งหมด 29 โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ซึ่งแต่เดิมนั้น บริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซพลอเรชันแอนด์โปรดักชัน จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2522 จากนั้นในเดือนธันวาคม 2524 ได้มีการสำรวจพบน้ำมันปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ที่หลุมสำรวจ ลานกระบือ เอ 01 ในอำเภอลานกระบือ จ.กำแพงเพชร จึงได้ทำการผลิตน้ำมันดิบครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2525 ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถว่า แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อ 12 มกราคม 2526 นับได้ว่าแหล่งน้ำมันสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำมันบนบกเชิงพาณิชย์ แหล่งแรกและแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบแหล่งน้ำมันเล็ก ๆ อีกหลายแหล่งในโครงการ เอส 1 ซึ่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากโครงการ เอส 1 นี้เรียกว่า น้ำมันดิบเพชร โดยตั้งชื่อตาม จ. กำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันดิบ ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2528 ปตท.สผ.ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการสำรวจและพัฒนาสัมปทานโครงการ เอส 1 ในสัดส่วนร้อยละ 25 กับบริษัท ไทยเชลล์ ฯ และในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ไทยเชลล์ ฯ โดยผ่าน บริษัท ปตท.สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ มีผลให้ ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ถือสิทธิทั้งหมด รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการในโครงการ เอส 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา

 
แหล่งน้ำมันดิบสำรองบนบกใหญ่ที่สุด

โครงการเอส 1 แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ มีอาณาบริเวณครอบคลุมในจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1,249 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุด เดิมทีนั้นได้มีการประมาณการไว้ว่าปริมาณน้ำมันดิบที่จะสามารถผลิตได้ทั้งหมดจากแหล่งนี้จะมีเพียง 28 ล้านบาร์เรลเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว น้ำมันดิบจากแหล่งนี้มีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะจนถึงขณะนี้ ปตท.สผ. สามารถทำการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งนี้มาได้แล้วไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาร์เรล และคาดว่าจะมีน้ำมันดิบสำรองที่จะสามารถผลิตขึ้นมาได้อีกประมาณ 60 ล้านบาร์เรล โดยในแปลงโครงการ เอส 1 นั้น มีจำนวนหลุมที่ทำการขุดเจาะทั้งหมด 340 หลุม จากฐานการผลิตทั้งหมด 58 ฐาน (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2548) โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมดรวมกันทั้งสิ้นจะได้น้ำมันดิบประมาณ 18,000 - 20,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังมีก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ได้จากแปลงโครงการ เอส 1 อีกด้วย

 
 ดำเนินงานด้วยความสามารถของคนไทย

หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ถือสิทธิทั้งหมดแทนบริษัทไทยเชลล์ ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา นับเป็นความภูมิใจสูงสุดของการดำเนินงาน โดยพนักงานส่วนหนึ่งนั้น ปตท.สผ.รับมอบมาจากบริษัท ไทยเชลล์ ฯ เดิม ซึ่งพนักงานทั้งหมดที่นี่เป็นคนไทยที่มีความสามารถทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทุกอย่างทั้งในเรื่องของการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียม พนักงานที่ปฏิบัติงานในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์แห่งนี้ จะมีมาตรฐานการทำงานในระดับสากล โดย ปตท.สผ. จะให้ความสำคัญในเรื่องของบุคลากรเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องของมาตรฐานการทำงาน ความปลอดภัย สวัสดิการ การให้ในเรื่องของการพัฒนาด้านความรู้และเทคโนโลยี ให้บุคลากรเป็นทั้งคนเก่งและคนดีควบคู่กัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการเจริญเติบโตขององค์กร และพร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป

 

แสวงหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อคนไทย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทรัพยากรน้ำมันที่เป็นปิโตรเลียม เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นเมื่อมีการนำมาใช้แล้ว อัตราการผลิตก็มีแต่จะลดลง เช่นเดียวกันกับแหล่งน้ำมันสิริกิติ์แห่งนี้ ซึ่งมีอายุการผลิตมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้มีอัตราการผลิตที่ลดลงทุกปี แต่ ปตท.สผ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการเร่งสำรวจและทำการขุดเจาะเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน เพื่อรักษาระดับของปริมาณน้ำมันที่ได้จากการขุดเจาะให้คงที่ที่ 18,000-20,000 บาร์เรลต่อวันเอาไว้ เพื่อให้คนไทยได้มีแหล่งน้ำมันสำรองเพื่อใช้ในประเทศไปได้นานที่สุด

 

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เร่งค้นหาและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งบนบกและในอ่าวไทย รวมทั้งจัดหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมจากต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานซึ่งขยายตัวสูงขึ้นทุกปี ปตท.สผ. จึงได้มีการขยายการลงทุน ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมศักยภาพสูง ได้แก่ มาเลเซีย สหภาพพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย โอมาน และแอลจีเรีย ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ. มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมสูงที่สุดในประเทศ

 

 
ทำงานปลอดภัย ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี

ความปลอดภัย ความมั่นคง สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายหลักที่ ปตท.สผ.ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงาน โดยองค์กรแห่งนี้ได้นำเอาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสากล ISO 14001 เข้ามาใช้ในการปฏิบัติ ทั้งในส่วนของพนักงานของ ปตท.สผ. เองและในส่วนของผู้รับเหมาจากภายนอก ทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาจิตสำนึกอย่างเพียงพอตั้งแต่ระดับผู้บริหารมาจนถึงระดับปฏิบัติการ ในเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ภายใต้สภาพแวดล้อมในการทำงานของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์แห่งนี้ จะถูกจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกคนในการป้องกันและรายงานอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ สภาพการปฏิบัติงานและสภาวะที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการมีระบบรองรับเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ฉุกเฉินและวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นเหล่านั้น ซึ่งมิใช้เพียงแต่การป้องกันเท่านั้น องค์กรแห่งนี้ยังได้จัดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของ ปตท.สผ. จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณชนและสภาพแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในการแยกน้ำมัน ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและลดมลพิษ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่จากการขุดเจาะสำรวจ อัดฉีดน้ำที่เกิดจากการผลิตกลับลงสู่ชั้นหินกักเก็บใต้ดิน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในแบบยั่งยืนอีกด้วย

 

 เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับสังคม

กว่า 20 ปีที่แหล่งน้ำมันสิริกิติ์แห่งนี้เติบโตมา ซึ่งแน่นอนว่าการเติบโตนี้ต้องเป็นไปพร้อมกับสังคมรอบข้าง ปตท.สผ. จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป จึงได้เป็นส่วน หนึ่ง ในการพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเหล่านี้ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สังคมและชุมชนเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน บนวิถีแห่งการพึ่งตนเอง ก่อเกิดเป็นโครงการหลาย ๆ โครงการในอาณาบริเวณแหล่งน้ำมันสิริกิติ์นี้ เช่น การเสริมโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนโดยการมอบทุนการศึกษา ปตท.สผ. โครงการ เอส 1 ให้แก่นักเรียนในบริเวณ, ทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โครงการเพชร เอส 1, โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และผลิตภัณฑ์ OTOP ของกลุ่มแม่บ้านลานกระบือ, โครงการร้าน 4Rs Shop ซึ่งเป็นการเสริมสร้างแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงในพื้นที่แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ในชุมชน และนำสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์และรายได้, โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นโครงการที่ ปตท.สผ. ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนในจังหวัดกำแพงเพชร ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาโภชนาการและขาดแคลนอาหารกลางวันได้มีอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ, โครงการ Mini Farm ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาการใช้ที่ดินและแหล่งน้ำที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีจำนวนจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด, กิจกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัยแก่ชุมชน และรวมไปถึงสนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีและกีฬาแก่เยาวชนอีกด้วย

 

จากกระบวนการซึ่งให้ได้มาแห่งน้ำมันปิโตรเลียมนั้น เราจะเห็นว่ามีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งนัก หรือแม้แต่กระบวนการก่อกำเนิดน้ำมันปิโตรเลียมเองก็กินระยะเวลาหลายสิบหรือหลายร้อยล้านปีเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน เมื่อเรานำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมอย่างเช่น น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเบนซินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์นั้น เราใช้ระยะเวลาเผาผลาญเพียงไม่กี่นาที จึงทำให้ทรัพยากรที่หามาได้ยากเหล่านี้หมดไปอย่างรวดเร็ว

 

 
 

แม้ว่าวันนี้ ปตท.สผ. จะเจริญเติบโต และมุ่งมั่นในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศก็ตาม แต่นั่นก็เป็นส่วนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศ การแสวงหาแหล่งทรัพยากรทางด้านพลังงานจึงไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้เรามีพลังงานใช้ไปได้ตลอด จิตสำนึกของประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ที่จะคิดว่าเราควรจะใช้พลังงานอย่างไรให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน คงจะเป็นทางออกอีกทางที่จะช่วยแก้วิกฤติในเรื่องพลังงานที่เกิดขึ้นได้ และสิ่งสำคัญนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของใครคนใดคนคนหนึ่งในประเทศเท่านั้น แต่เป็นความสำคัญของประชาชนคนไทยทั้งชาติที่จะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นเกิดความสมดุลและสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป และนี่ก็คงจะเป็นอีกทางที่คนธรรมดาอย่างผมและคุณผู้อ่าน จะช่วยประเทศชาติได้ในเรื่องของพลังงานครับ

 
กำเนิดปิโตรเลียม

ปิโตรเลียม (Petroleum) คือสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจนและคาร์บอน มักพบอยู่ในชั้นหินตะกอน (Sedimentary Rocks) ทั้งในสภาพของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ปิโตรเลียมเกิดจากซากของสิ่งมีชีวิตตกทับถมกันในทะเล ทะเทสาบ หนอง บึงที่มีน้ำนิ่ง ซึ่งมีดินตะกอน (Sediments) ตกทับถมอยู่เป็นเวลาหลายล้านปี น้ำหนักของดินตะกอนประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโดยแบคทีเรีย (Anaerobic Bacteria) ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นปราศจากออกซิเจน เหลืออยู่แต่สารประกอบไฮโดรเจนและคาร์บอน ในระยะแรกสารไฮโดรคาร์บอนจะมีความหนืดสูง เมื่อมีดินตะกอนตกทับถมมากขึ้น จะทำให้สารไฮโดรคาร์บอนค่อย ๆ จมลึกลงไป ด้วยน้ำหนักของดินตะกอน และความร้อนที่สะสมมากขึ้น ทำให้สารไฮโดรคาร์บอนกลายเป็นน้ำมันและก๊าซในที่สุด

 

การเกิดแหล่งปิโตรเลียมจะต้องประกอบด้วยหินต้นกำเนิด (Source Rocks) ซึ่งเป็นหินดินดาน เมื่อถูกทับถมมาก ๆ เนื้อหินของหินต้นกำเนิดจะแน่นขึ้น จนทำให้ปิโตรเลียมเคลื่อนตัวไปสะสมอยู่ในหินอุ้มปิโตรเลียม (Reservoir Rock) และจะพยายามซึมขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นการเกิดปิโตรเลียมจะต้องมีหินปิดกั้นปิโตรเลียม (Cap Rock) มาปิดกั้นไว้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม (Petroleum Trap) ตามลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาต่อไป

 

การสำรวจหาปิโตรเลียม

ขั้นตอนเบื้องต้นของการสำรวจหาปิโตรเลียม คือ การสำรวจทางธรณีวิทยา ซึ่งจะเริ่มด้วยวิธีการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) คือการศึกษาสภาพพื้นที่บริเวณกว้างด้วยภาพถ่ายดาวเทียม หรือภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมองหาบริเวณพื้นที่ที่เป็นแอ่ง (Basin) ร่วมกับการสำรวจลักษณะชนิดของหินที่ปรากฏบนผิวดินในบริเวณนั้น และเก็บตัวอย่างหินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยนักธรณีวิทยา ซึ่งผลการสำรวจและวิเคราะห์ลักษณะทางธรณีวิทยาดังกล่าวจะทำให้เข้าใจลักษณะและขนาดของแอ่งปิโตรเลียม ลักษณะของชั้นหินในแอ่งปิโตรเลียมว่ามีโอกาสที่เหมาะสมที่จะเกิดปิโตรเลียมหรือไม่ และรวมไปถึงศักยภาพในการกักเก็บปิโตรเลียมไว้ได้ ผลที่ได้จากการสำรวจและศึกษาดังกล่าวจะทำให้สามารถประเมินวิเคราะห์อัตราเสี่ยงและวิเคราะห์ผลตอบแทนในการลงทุนได้

 

การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เป็นอีก หนึ่ง วิธีการในการสำรวจ โดยขั้นต้น จะใช้วิธีวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็กทางอากาศ เพื่อหาขอบเขตและความลึกของลุ่มแอ่ง จากนั้นจึงทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ขั้นรายละเอียด โดยวัตถุระเบิด (Seismic Explosive) เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นไหวสะเทือน ส่งพลังงานในรูปคลื่นไปยังชั้นหินใต้ดิน แล้วสะท้อนกลับมายังผิวโลก เข้าสู่ตัวรับสัญญาณ (Geophone) และส่งผ่านสัญญาณไปยังเครื่องประมวลผล แปรสัญญาณด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพตัดขวางใต้พื้นดิน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดและโครงสร้างทางธรณีวิทยาและชั้นหินที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม

 

การเจาะสำรวจ เป็นขั้นตอนสำรวจขั้นสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่า ผลจากการศึกษาวิเคราะห์และคาดการณ์ไว้เกี่ยวกับพื้นที่และโครงสร้างนั้น จะมีปิโตรเลียมสะสมอยู่ตามเป้าหมายที่คาดไว้หรือไม่ โดยหลุมที่เจาะสำรวจนั้นโดยทั่วไปจะเรียกว่าหลุม Wild Cat  จะทำการขุดเจาะเป็นหลุมตรงจากผิวดิน (Vertical Well) ลงไปสู่โครงสร้างชั้นหินที่ต้องการ จากนั้นจะมีการวัดและบันทึกข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพหลาย ๆ อย่างของชั้นหินด้วยวิธีการหยั่งธรณี (Logging) โดยการส่งอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ลงไปในหลุม ข้อมูลที่ได้จะบ่งชี้ว่าโครงสร้างชั้นหินนั้น ๆ มีปิโตรเลียมกักเก็บอยู่หรือไม่ โดยหลุมสำรวจในบริเวณพื้นที่นั้น ใหม่ ๆ อาจจะมีหลายหลุม เรียกว่าหลุมประเมิน (Appraisal or Delineation Wells) กระจายรอบหลุมสำรวจภายใต้โครงสร้างเดียวกัน เพื่อประเมินหาขอบเขตของแหล่งกักเก็บนั้นว่ากว้างขวางเพียงใด และมีปริมาณปิโตรเลียมมาก น้อย แค่ไหน หากข้อมูลที่ได้พบว่าเป็นแหล่งปิโตรเลียม จึงจะวางแผนเจาะหลุมพัฒนา (Development Well) ในขั้นต่อไป

 
การเจาะหลุมปิโตรเลียม

เมื่อทราบตำแหน่งที่แน่นอนแล้ว จะเริ่มเจาะเปิดปากหลุม (Spudding) จากนั้นจึงเจาะด้วยหัวเจาะที่มีขนาด 17 1/2นิ้ว ในระหว่างการเจาะ หัวเจาะจะค่อย ๆ บดและตัดชั้นหินลึกลงไปเรื่อย ๆ โดยอาศัยแรงกดจากก้านเจาะ ความคมของหัวเจาะ และแรงอัดของน้ำโคลน (Drilling Mud) ซึ่งเป็นของเหลวที่มีส่วนผสม ของสารเคมีและน้ำ น้ำโคลนจะทำหน้าที่ช่วยลดความร้อน และเป็นตัวหล่อลื่นที่หัวเจาะ ช่วยป้องกันการพังทลายของผนังหลุมในระหว่างการเจาะและยังควบคุมความดันภายในหลุมอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นตัวนำเอาเศษหินที่ถู กบ ดและตัดแล้ว ขึ้นมายังพื้นผิวเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ต่อไป และลงท่อกรุพื้นผิว (Surface Casing) ขนาด 13 3/8 นิ้ว แล้วจึงอัดซีเมนต์ลงไปรอบหลุมเจาะ ในช่องว่างระหว่างท่อกรุและผนังหลุม เพื่อป้องกันการทลายของขอบหลุม และการไหลย้อนกลับของน้ำโคลน

 

จากนั้นจึงเจาะด้วยหัวเจาะ 12 1/4 นิ้ว แล้วลงท่อกรุช่วงกลาง (Intermediate Casing) ขนาด 9 5/8 นิ้ว อัดซีเมนต์รอบหลุม เพื่อป้องกันการทลายของขอบหลุมอีกครั้ง หนึ่ง และยังเป็นการกันการไหลของของเหลวจากชั้นหิน หนึ่ง ไปยังอีกชั้นหิน โดยผ่านทางหลุมเจาะด้วย

 

ในพื้นที่ที่คาดว่า จะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมนั้น จะทำการทดสอบเจาะด้วยหัวเจาะขนาดเล็ก 81/2 นิ้ว ก่อน หลังจากการเจาะจะพอทราบคร่าว ๆ แล้วว่าที่ความลึกนั้น มีหินชนิดใด และมีของเหลวชนิดใดกักเก็บอยู่ ขนาดของหัวเจาะและความลึกในการเจาะแต่ละช่วงจะสัมพันธ์กับสภาพของชั้นหินและความดันในชั้นหินนั้น ซึ่งวิศวกรจะต้องเตรียมแผนการไว้ เพื่อจะได้เจาะหลุมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 
 

การบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในระหว่างเจาะหลุมมีความสำคัญมากต่อการวิเคราะห์ชั้นหิน (Formation Evaluation) เพื่อหาบริเวณที่เป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียม จะมีการวัดหาคุณสมบัติทางกายภาพของชั้นหิน เช่น ความพรุนและความหนาแน่นและของเหลวในชั้นหินนั้น ๆ ว่ามีลักษณะเป็นน้ำมันหรือน้ำ หรือก๊าซ ผลของการวัดนี้ เมื่อผ่านขั้นตอน การแปลความหมายแล้ว จะบอกได้ชัดเจนว่า ที่ความลึกระดับใดมีปิโตรเลียมกักเก็บอยู่ แต่เพื่อให้แน่ใจยิ่งขึ้นและเพื่อเป็นการทดสอบความสามารถในการผลิตปิโตรเลียม จึงจำเป็นต้องทำการทดสอบการผลิต โดยทำการผลิตปิโตรเลียมผ่านก้านเจาะ โดยปกติแล้วการทดสอบนี้จะใช้เวลานานหลายวัน เพราะข้อมูลที่ได้จดบันทึกไว้ไม่ว่าจะเป็นอัตราการไหลหรือ ความดันของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอย่างมาก

 
 อุปกรณ์สำคัญภายในหลุมผลิตน้ำมัน
  • ท่อกรุและซีเมนต์ (Casing and Cement) ท่อกรุหลุมปิโตรเลียมจะเป็นท่อเหล็กที่ใส่ไว้ภายในหลุมและอัดด้วยปูนซีเมนต์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังหลุม และป้องกันไม่ให้น้ำมัน น้ำ และก๊าซไหลขึ้นมาทางด้านข้างของหลุมได้
  • ท่อผลิต (Production Tubing) เป็นท่อเหล็กที่มีความยาวประมาณท่อนละ 10 เมตร ต่อกันด้วยเกลียวลงไปจากปากหลุมจนถึงชั้นหินใต้ดินที่มีปิโตรเลียม เป็นทางผ่านของน้ำมัน น้ำและก๊าซ จากก้นหลุมขึ้นสู่ปากหลุม
  • Side Pocket Manderel with Gas-lift Valve เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนท่อผลิตที่มีกระเปาะด้านข้างและมีรูข้างกระเปาะ กระเปาะด้านข้างนี้จะใช้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการผลิตบางชนิด ที่แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ กระเปาะนี้จะใช้ติดตั้ง Gas-lift Valve ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดก๊าซที่อัดลงไปจากปากหลุมทางด้านนอกของท่อผลิต สามารถเข้าไปผสมกับน้ำมัน และน้ำภายในท่อผลิตได้ในปริมาณที่ต้องการ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการช่วยให้การไหลของน้ำมันจากก้นกลุมขึ้นสู่ปากหลุมเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีปริมาณมากขึ้น เราเรียกวิธีการนี้ว่า Gas Lift
  • Packer เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยวงแหวนยาง และเขี้ยวโลหะ ที่จะสามารถทำให้ขยายตัวออกได้ จนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Packer ใหญ่เต็มท่อกรุด้วยกลไกภายใน เขี้ยวโลหะจะทำหน้าที่ยึด Packer ให้ติดอยู่กับที่กับผนังภายในท่อกรุ ส่วนวงแหวนยางที่ขยายตัวเต็มท่อกรุนั้น จะทำหน้าที่อุดช่องว่างระหว่างท่อผลิตกับท่อกรุ เพื่อบังคับให้ปิโตรเลียมจากแหล่งกักเก็บไหลขึ้นสู่ปากหลุมได้ทางท่อผลิตเท่านั้น
  • Perforated Joint คือท่อผลิตที่มีรูที่ผนังท่อเป็นจำนวนมาก ใช้เป็นทางผ่านให้ปิโตรเลียมไหลเข้าสู่ท่อผลิตได้ ในกรณีที่ปิโตรเลียมไม่สามารถไหลเข้าสู่ปลายล่างสุดของท่อผลิตได้ เช่นในกรณีที่มีการแขวนมาตรวัดความดันไว้ใน Landing Nipple
  • Landing Nipple เป็นท่อผลิตซึ่งผนังท่อภายในจะมีรูปร่างที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสามารถใช้แขวนอุปกรณ์บางชนิดไว้ภายในท่อผลิตได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับแขวนมาตรวัดความดัน เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของความดันของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
  • Wireline Entry Guide จะเป็นท่อส่วนที่อยู่ปลายล่างสุดของท่อผลิต ส่วนปลายล่างของอุปกรณ์ชิ้นนี้จะตัดเป็นรูปโค้งมนเป็นพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การดึงสายเคเบิล และอุปกรณ์ต่าง ๆ (ที่อาจจะหย่อนจากปากหลุมผ่านท่อผลิตลงไปในบริเวณใต้ท่อผลิตเพื่อวัดข้อมูลต่าง ๆ) กลับเข้าสู่ท่อผลิตได้โดยไม่ติดขัด
  • Perforations คือรูที่เจาะทะลุผ่านท่อกรุซีเมนต์เข้าไปในชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บ ปิโตรเลียมเพื่อเป็นทางผ่านให้ปิโตรเลียมที่อยู่ในชั้นหินสามารถไหลเข้ามาภายในหลุม และขึ้นสู่ปากหลุมผ่านทางท่อผลิตได้ การเจาะรู Perforations เหล่านี้จะใช้วัตถุระเบิดยิงให้ทะลุเข้าไป
การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
  • ลังจากการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมได้รับการยืนยันจากการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินแล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียม ในแหล่งนั้น ๆ ก็จะได้รับการประมาณการจากข้อมูลที่ได้จากหลุมขุดเจาะต่าง ๆ หากปริมาณสำรองมีมากพอที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ การวางแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนั้น ๆ ก็จะเริ่มขึ้นโดยคร่าว ๆ การวางแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนั้นจะครอบคลุมถึง
  • การกำหนดจำนวนและเป้าหมายของหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ต้องการนำปิโตรเลียมจากแหล่งขึ้นมาใช้ให้ได้มากที่สุด และคุ้มทุนที่สุด
  • การกำหนดจำนวนและตำแหน่งของฐานขุดเจาะ เพื่อที่จะขุดหลุมผลิตที่ต้องการได้ทั้งหมดโดยใช้จำนวนฐานให้ น้อย ที่สุด เพื่อลดการใช้พื้นที่และต้นทุน
  • การคำนวณออกแบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการผลิตปิโตรเลียมจากหลุมผลิตทั้งหลาย รวมทั้งสถานีผลิตปิโตรเลียม
  • การกำหนดวิธีการขนส่งปิโตรเลียมจากหลุมผลิตไปยังสถานีผลิตและจากสถานีผลิตไปส่งยังผู้ซื้อ รวมทั้งการออกแบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง
  • การศึกษาถึงผลกระทบของแผนการพัฒนาดังกล่าวที่อาจจะมีต่อสภาพแวดล้อม และต่อความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งการวางแผนป้องกันและแก้ไขผลกระทบเหล่านั้น
  • การคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับ
 

โดยปกติแล้วการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจะทำเป็นช่วง ๆ โดยที่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเพิ่มเติมจากการขุดเจาะ และใช้งานหลุมผลิตในการพัฒนาช่วง หนึ่ง จะถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงแผนการพัฒนาในช่วงต่อไปให้แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติต่าง ๆ ภายในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมหลังจากได้รับการพัฒนาไปในช่วง หนึ่ง แล้ว ก็อาจจะมีผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาในขั้นต่อไป ทั้งนี้ตัวเลขปริมาณสำรองปิโตรเลียม ก็จะมีความถูกต้องและเชื่อถือได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีข้อมูลจากหลุมผลิตจำนวนมากขึ้น

 

การผลิตปิโตรเลียม

หลังจากการทดสอบการผลิตเสร็จสิ้นลง หากพบว่าในพื้นที่ดังกล่าว มีปิโตรเลียมที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ก็ทำการลงท่อกรุเตรียมผลิต (Production Casing) และอัดซีเมนต์เพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลเข้ามาภายในท่อกรุได้ จากนั้นจึงทำการเจาะรู (Perforate) ในท่อกรุ ให้ทะลุผนังเหล็กและซีเมนต์ในบริเวณที่มีปิโตรเลียมกักเก็บอยู่ เพื่อให้ปิโตรเลียมสามารถไหลเข้ามาในท่อกรุสำหรับเตรียมการผลิตต่อไป

 

ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการลงท่อผลิต โดยปกติท่อผลิตจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-4 ½ นิ้ว แต่จะใช้ขนาดใดขึ้นอยู่กับผลของการทดสอบที่ได้ทำไปแล้ว เมื่อลงท่อผลิตแล้ว จะทำการติดตั้งระบบควบคุมความดันบนพื้นผิว (Christmas Tree) และระบบควบคุมการไหล (Choke) เพื่อให้สามารถวางแผน การผลิตปิโตรเลียมผ่านท่อผลิตสู่พื้นผิวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

หากจะกล่าวแล้ว การเจาะหลุมปิโตรเลียมแต่ละครั้งนั้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือการเจาะหลุมแต่ละหลุมมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเจาะหลุม นั้น ๆ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยของขนาด และความลึกของหลุมเจาะด้วย ซึ่งแหล่งน้ำมันสิริกิติ์แห่งนี้อยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 1.5 - 2.5 กิโลเมตร

 
ปิโตรเลียมกับชีวิตประจำวัน

ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ปิโตรเลียมมีบทบาทมากมาย ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขับเคลื่อนยานพาหนะหรือหล่อลื่นเครื่องยนต์เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่าง นอกจากนี้ ปิโตรเลียมยังสามารถนำไปใช้หุงหาอาหารในรูปแบบของก๊าซหุงต้ม และเป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ยา เครื่องสำอาง ไปจนถึงพลาสติกต่าง ๆ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากปิโตรเลียมทั้งสิ้น

 

ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมันดิบในแง่การนำไปใช้ประโยชน์

น้ำมันดิบแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เมื่อนำไปกลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติต่างกันและปริมาณไม่เท่ากัน นอกจากนั้นปริมาณของผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ที่ได้จากกลั่นยังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและประสิทธิภาพของโรงกลั่นอีกด้วย โรงกลั่นสมัยใหม่จะสามารถกลั่นเอาผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพสูง เช่น น้ำมันเบนซิน (Gasoline) ออกมาได้มากกว่าโรงกลั่นธรรมดา

 

น้ำมันดิบเพชร ปัจจุบันส่งไปกลั่นที่โรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นไทยออยล์ โดยน้ำมันดิบเพชรนี้จะมีคุณสมบัติที่จะให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยคร่าว ๆ ได้ดังนี้

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  •  www.pttep.com เว็บไซต์รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด
  • ศูนย์ปริชาตินิทรรศ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (แหล่งน้ำมันสิริกิติ์)
  • ความเป็นมาของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ และการซึ่งน่าจะเป็นไปได้ในอนาคต โดย พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา