เนื้อหาวันที่ : 2006-10-21 21:58:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1603 views

เอกชนเชื่อมั่นหน่วยไอพีเอ็มของ สนช.ทุ่มเงินกว่า 7 แสนบาท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เพื่อใช้เพิ่มผลผลิตในนาข้าวและนากุ้ง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เพื่อใช้เพิ่มผลผลิตในนาข้าวและนากุ้ง และพิธีลงนามในสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำเสนอตัวอย่างผลงานได้ที่รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สนช. ในการนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยของคนไทยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา

 

ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบัน การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ เพราะการจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาของประเทศให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดนั้นย่อมต้องอาศัยระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเลิศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรม ผ่านระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพันธมิตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาและสามารถนำไปใช้เป็นทรัพยากรในการเสริมสร้างความรู้ใหม่ได้ต่อไป ทำให้เกิดการสร้างความรู้อย่างต่อเนื่องและทำให้ศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น

a

นาย ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. การจัดตั้งโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management; IPM) เป็นร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สนช. เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองความต้องการของตลาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ได้มากขึ้น ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้ดำเนินการในระยะนำร่อง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อผลักดันการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาขึ้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

a

สำหรับกิจกรรมในงาน เทคโนมาร์ท นี้  IPM ได้จัดให้มีการเจราจาธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น และโครงการแรกที่ได้เจรจาตกลงกันสำเร็จเรียบร้อยในวันนี้ ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบคทีเรียสังเคราะห์แสงสำหรับเพิ่มผลผลิตในนาข้าวและนากุ้ง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีบริษัท อดินพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพสูง เป็นผู้รับเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาด โดยบริษัท อดินพ จำกัด ตกลงจ่ายค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือค่าใช้สิทธิให้กับเจ้าของเทคโนโลยี จำนวน 700,000 บาท และหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับส่วนแบ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนายศุภชัยฯ กล่าว

a

เกี่ยวกับโครงการ โรงงานผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต้นแบบ เป็นการพัฒนาการผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงในระดับโรงงานต้นแบบ ซึ่งแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะถูกเลี้ยงในถังปฏิกิริยาที่ถูกควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ตลอดระยะเวลาการหมัก 2 วัน โดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารหลักในการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสง กระบวนการผลิตและเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์เป็นการพัฒนาจากงานวิจัยของ รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์  ซึ่งเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่ได้จากโครงการจะถูกนำไปทดสอบยืนยันการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี และในพื้นที่ปลูกข้าวจริง