เนื้อหาวันที่ : 2009-05-21 15:53:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4619 views

วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

วิกฤตโลกเกิดขึ้นและเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง อย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ยุค 2475 วิกฤตนี้พัฒนาไปภายในโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีที่รัฐต่างๆ นำมาใช้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเฉพาะในเรื่องการลดการควบคุมตลาดโดยรัฐ และการเปิดโอกาสให้มีการพนันหุ้นและราคาสินค้าข้ามพรมแดน

ชื่อบทความเดิม : ร่วมกันเข้าใจวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

.
วิกฤตโลกปัจจุบันเกิดจากอะไร?

มันมีหน้าตาเหมือนกับเป็น "วิกฤตการเงิน" แต่มันลึกกว่านั้น ในเดือนกันยายน-ตุลาคมปีที่แล้ว โลกเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง อย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ยุค 2475 วิกฤตนี้พัฒนาไปภายในโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีที่รัฐต่างๆ นำมาใช้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเฉพาะในเรื่องการลดการควบคุมตลาดโดยรัฐ และการเปิดโอกาสให้มีการพนันหุ้นและราคาสินค้าข้ามพรมแดน  

.

อย่างไรก็ตาม ต้นเหตุของวิกฤตนี้มาจากปัญหาอัตรากำไรระยะยาวในระบบทุนนิยมโลก ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 60 เพราะการฟื้นตัวของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 80 และ 90 ผ่านการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงาน (เช่นในสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีเรแกน) เป็นการฟื้นในระดับหนึ่งเท่านั้น มันไม่แก้ปัญหาเท่าไร

.

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูก ในขณะที่มีการกดค่าแรงต่อไป (หนี้ sub-prime) มีการซื้อขายหนี้คนจนและกอบโกยกำไรโดยธนาคาร แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก เกิดวิกฤตที่เราเห็น ก่อนหน้านี้มีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน

.

สมัยนี้ประเทศที่ใหญ่ที่สุด 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD คาดว่าในปี ค.ศ.2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นสองหลักในปีต่อไป คนงานสหรัฐ 6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชะลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38% จีนก็มีปัญหา มันไม่ใช่เรื่องเล่น

.

ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ ในช่วงท้ายปีที่แล้วและต้นปีนี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ คือการใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมหรือตลาดเสรีโดยสิ้นเชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด

.

เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก นักสังคมนิยม นักสหภาพแรงงาน และผู้ที่คัดค้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ต้องเรียกร้องให้รัฐยึดสถาบันการเงินโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้นายทุน และนำสถาบันดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องชีวิตของกรรมาชีพและคนจน รัฐต้องสร้างงานและยึดบริษัทที่จะปิดหรือเลิกจ้างคน เพื่อปกป้องการทำงาน

.

การปกป้องการทำงานสำคัญที่สุดเพราะเป็นการปกป้องรายได้คนส่วนใหญ่ และนอกจากนี้เป็นวิธีเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ การตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา การตัดค่าแรง การลดคนงาน หรือการขึ้นภาษีให้คนธรรมดา จะมีผลตรงข้ามคือทำให้เศรษฐกิจหดตัวอีกหลายเท่า เพราะกำลังซื้อจะลดลง การอุ้มบริษัทใหญ่และธนาคารไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้ 

.

ทุนนิยมโลกาภิวัตน์

การกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละรัฐบาลมีข้อจำกัดเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่มันเป็นวิกฤตสากลทั่วโลก ประเด็นสำคัญอันหนึ่งของวิกฤตปัจจุบันคือระบบเศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล สหรัฐ อังกฤษ และประเทศเล็กๆ ในยุโรป พึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศมากขึ้น 

.

เงินนี้มาจากธนาคารซึ่งนำกำไรการส่งออกของประเทศจีน ญี่ปุ่น และ เยอรมัน มาปล่อยกู้อีกที กำไรส่วนนี้มาจากการส่งสินค้าไปสู่สหรัฐและอังกฤษแต่เป็นสินค้าที่ซื้อมาด้วยเงินกู้แต่แรก มันเป็นวงจรอุบาทว์ซึ่งช่วยให้นายธนาคารกอบโกยจากฟองสบู่ที่ห่างเหินจากความเป็นจริง และมันแสดงให้เห็นว่าทุกส่วนของโลกเชื่อมกัน ลงเหวด้วยกัน

.

ไทยไม่มีวันรอดพ้นได้ เพราะไทยอาศัยการส่งออกสู่ประเทศที่มีวิกฤต และการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่การเพ้อฝัน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ยุคอยุธยา และการส่งเสริมให้คนจน “ประหยัด” เป็นการกดหัวคนจนให้จนลงไปอีก โดยไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

.
การกู้เงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์

มีหลายคนวิจารณ์การกู้เงินของรัฐบาลอำมาตย์ ประเด็นที่เราควรเข้าใจคือ การกู้เงิน การเพิ่มหนี้ หรือการใช้งบประมาณรัฐไม่ผิดในตัวมันเอง การที่รัฐบาลไทยรักไทยมีเงินกู้ให้หมู่บ้าน หรือเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐผ่านการกู้เงิน เพื่อนโยบายประชานิยมต่างๆ ไม่ผิด เพราะทำไปเพื่อประโยชน์คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ อย่าลืมว่าในยุคนั้นพวกอำมาตย์วิจารณ์ว่าเป็นการ "ขาดวินัยทางการคลัง" เราต้องไม่ใช้ชุดความคิดนี้ของอำมาตย์ เพราะพวกเขาไม่ชอบการกู้และจ่ายเงินโดยรัฐเพื่อคนจน แต่ถ้าเพื่อทหาร ธนาคารหรือบริษัทใหญ่ เขาชอบ

.

ดังนั้นในการวิจารณ์การกู้เงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราต้องถามว่ากู้มาเพื่ออะไร? เพื่อดูแลประชาชนหรืออุ้มธนาคารและบริษัท? กู้แล้วจะปกป้องงานไหม? หรือปกป้องคนรวย? และใครจะจ่ายหนี้จากการกู้เงิน? ถ้าการจ่ายหนี้มาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีบุหรี่และสุรา ก็เท่ากับคนจนจ่าย แต่ถ้ามาจากการขึ้นภาษีรายได้ มรดก ที่ดินและทรัพย์สินกับคนรวย รวมถึงพระราชวัง ก็เท่ากับให้คนรวยที่มีความสามารถสูงเป็นคนจ่าย ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีความเป็นธรรมมากที่สุด นอกจากนี้การจ่ายหนี้ควรมาจากการตัดงบประมาณทหารและพิธีต่างๆ เพื่อเพิ่มงบประมาณสวัสดิการ สาธารณสุขและการศึกษา

.
ข้อถกเถียงเรื่องทางออกในการแก้วิกฤตในหมู่ชนชั้นปกครองโลก

รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก กำลังพยายามจะแก้ไขปัญหาหลังจากที่เกิดวิกฤตในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่มีการร่วมมือกัน และมีข้อขัดแย้งกัน เช่น รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐกู้เงินมาเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศส เยอรมันและประเทศอื่นๆใน อียู นิ่งเฉยและหวังว่าจะส่งออกสู่สหรัฐมากขึ้น รัฐบาลจีนและญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็ยังก็มีการพึ่งพาการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอยู่ดี

.

บางประเทศเช่นอังกฤษมีความหวังว่าการลดค่าเงินจะทำให้สินค้าส่งออกถูกลง ประเด็นคือแต่ละรัฐบาลใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของตนเอง หรือประเทศตนเองเท่านั้น ซึ่งแปลว่ารัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถร่วมมือกันประสานนโยบายการเงินเพื่อให้ความสมดุลกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจโลก เราเลยเห็นการถกเถียงกันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในการประชุม G20

.

ตอนนี้ภายในอังกฤษและสหรัฐ ฝ่ายขวาเสรีนิยมสุดขั้ว ได้ความมั่นใจกลับมาบ้าง พวกนี้กลัวว่าถ้ารัฐกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจมาก จะติดหนี้จนท่วมหัว เขาเลยเสนอให้เปิดศึกกับประชาชนและสหภาพแรงงาน เพื่อกดค่าแรงและสวัสดิการ แต่ข้อเสนอนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัว ประชาชนเดือดร้อน และการฟื้นช้าลง อาจใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี

.

ความไร้สติของระบบเศรษฐกิจเห็นได้ชัดจากการที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่านโยบายของรัฐบาลจะใช้ได้ผลหรือไม่ แม้แต่นายทุนใหญ่ของธนาคารยังไม่ทราบเลยว่าลูกค้าของตัวเองจะสามารถจ่ายหนี้สินคืนได้ในปริมาณเท่าใด ดังนั้นธนาคารก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะจ่ายหนี้สินคืนให้รัฐบาลได้เมื่อไหร่ เมื่อนายทุนธนาคารสงสัยว่าจะมีปัญหาในอนาคตเขาจะพยายามปกปิดข้อมูลในบัญชีต่างๆ เพราะกลัวว่าจะกู้เงินจากที่อื่นไม่ได้ถ้าใครๆ รู้ว่าธนาคารของตนมีปัญหา

.

นี่คือสาเหตุที่การประเมินระดับการขาดทุนในสหรัฐมีหลายตัวเลขตั้งแต่ 4 แสนล้านดอลล่าถึง 1.6 พันล้านดอลล่า ถ้าตัวเลขหลังจริงก็จะต้องมีธนาคารสหรัฐที่ล้มละลายในอนาคต ซึ่งจะเป็นการขยายปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจ คนที่ปกป้องระบบทุนนิยมมักจะปลอบใจตัวเองว่าในวิกฤตเศรษฐกิจที่แล้วมานั้น ในที่สุดก็จะมีการฟื้นตัว แต่ปัญหาคือมันอาจจะใช้เวลานาน ในยุค ค.ศ.1930 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต้องผ่านสงครามโลกและวิกฤตกว่า 10 ปี

.
รากฐานปัญหาคือการลดลงของอัตรากำไร

ในหนังสือ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" คารล์ มาร์คซ์ กับ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ อธิบายว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดโรคระบาดที่เหลวไหลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนคือ การผลิตล้นเกินท่ามกลางความอดอยาก ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักพยายามหาสาเหตุเฉพาะหน้าเสมอสำหรับวิกฤต เช่นการโทษธนาคารว่าปล่อยกู้โดยไม่ระมัดระวัง หรือการโทษคนจนว่ากู้เงินเกินกำลังจ่ายของตนเอง ฯลฯ นักวิชาการคนส่วนใหญ่มักมองข้ามสาเหตุพื้นฐานของ วัฏจักรวิกฤตทุนเสมอ มีแต่ลัทธิมาร์คซ์เท่านั้นที่อธิบายว่าทำไมเกิดวิกฤตได้  

.

คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายในหนังสือ ว่าด้วยทุน ว่า ระบบทุนนิยมมีความขัดแย้งภายในของมันเองในเชิงวิภาษวิธี โดยจะเห็นได้ว่ากลไกการแข่งขันในตลาดระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการผลิตทั้งปวงและการหมุนเวียนของทุน มีผลทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงพูดได้ง่ายๆ ว่า "อุปสรรคที่แท้จริงของระบบการผลิตทุนนิยมคือตัวทุนเอง"

.

วิกฤตของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นจากสิ่งที่มาร์คซ์เรียกว่า "กฎแห่งแนวโน้มในการลดลงของอัตรากำไร" มาร์คซ์ อธิบายว่า อัตรากำไร เป็นสิ่งที่นายทุนทุกคนจะต้องใช้ในการวัดว่าการลงทุนแต่ละครั้งจะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าคุ้ม (อัตรากำไรสูง) ก็จะเกิดการลงทุน แต่ถ้าไม่คุ้ม (อัตรากำไรต่ำจนเกือบจะไม่ได้ต้นทุนคืน) ก็จะไม่มีการลงทุน การลดลงของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้อย่างไร

.

ในระบบทุนนิยมจะมีการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ ผ่านกลไกตลาด ซึ่งบังคับให้นายทุนทุกคนต้องขยายการผลิตและลงทุนในการซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดเวลา ถ้านายทุนคนไหนไม่ลงทุนแบบนี้จะล้มละลายเพราะสินค้าจะล้าสมัย คุณภาพต่ำ ราคาสูง และผลิตในระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาคือเครื่องจักรมันแพงขึ้นเรื่อยๆ

.

สัดส่วนระหว่าง "ทุนคงที่" (ทุนซื้อเครื่องจักร) กับ "ทุนเปลี่ยนแปลง" (ทุนที่ใช้จ้างคนงาน) จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เพราะกำไรมาจากการจ้างคนให้ทำงาน กำไรไม่ได้มาจากการซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยการทำงานของกรรมาชีพเท่านั้น

.

เมื่ออัตรากำไรลดลง นายทุนจะลังเลใจในการลงทุน การผลิตจะชะลอตัว อาจมีการถอนทุนจากตลาดหุ้นหรือบริษัท ซึ่งมีผลทำให้คนงานส่วนหนึ่งถูกพักงานหรือลอยแพ คนงานเหล่านั้นจะขาดรายได้ซึ่งทำให้เขาซื้อสินค้าน้อยลง สินค้าที่ผลิตในโรงงานอื่นๆ จึงล้นตลาดเพราะขายไม่ออก วิกฤตก็เลยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

.

ในหลายกรณี แทนที่นายทุนจะลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เขาจะเลือกลงทุนในการซื้อที่ดินสร้างอาคาร ปล่อยกู้ ค้าขายหนี้สิน หรือในการเล่นการพนันในตลาดหุ้น (ปั่นหุ้น) เพราะกิจกรรมเหล่านี้ ในระยะแรก จะให้อัตรากำไรมหาศาล แต่ในที่สุดเกิดปัญหาฟองสบู่ 

.

การผลิตล้นตลาด นอกจากจะมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในรูปแบบที่พูดถึงข้างบนแล้ว ยังมาจากการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ เพื่อทุ่มเทสินค้าเอาชนะคู่แข่งในตลาดในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะนายทุนทุกคนมีความหวังที่จะผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อแย่งตลาดจากนายทุนหรือกลุ่มทุนอื่นๆ แต่สินค้าที่นายทุนทั้งหมดผลิตเพื่อแย่งชิงตลาดกันจะไม่มีวันขายได้หมด สาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้เกิดปัญหานี้คือการที่กรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามูลค่าที่เขาผลิตเอง

.

ในอดีตการรื้อฟื้นอัตรากำไรเกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทล้มละลาย บริษัทอื่นจึงสามารถซื้อเครื่องจักรในบริษัทล้มละลายในราคาถูก แต่ในปัจจุบันถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ล้มละลายแม้แต่คู่แข่งก็จะได้รับผลกระทบในด้านลบ เพราะทุกบริษัทเชื่อมโยงกัน ดังนั้นแม้แต่รัฐบาลฝ่ายขวาก็ยอมไม่ได้ที่จะให้บริษัทเหล่านี้เจ๊งไป มันเป็นการปกป้องไม่ให้เศรษฐกิจทั้งหมดลงสู่เหวแต่ในขณะเดียวกันมันทำให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นยากขึ้น

.

เราต้องเข้าใจว่าความสามารถของรัฐบาลใดๆ ในการปกป้องกลุ่มทุนของตนเองขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองในเวทีโลกอีกด้วย รัฐบาลสหรัฐมีปัญหาตรงนี้มาก ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐภายใต้รัฐบาล บุช และพวก นีโอคอน ที่จะสร้าง "ศตวรรษใหม่แห่งอเมริกา" ประสบความล้มเหลวเพราะสหรัฐมีปัญหามากในสงครามกับอิรักและอัฟานิสถาน

.

นักการเมืองฝ่ายขวาในสหรัฐจึงมองว่าประธานาธิบดี โอบาม่า จะต้องประนีประนอมกับอิหร่าน รัสเซีย เวเนซูเอล่า และคิวบา แต่ในด้านตรงข้ามวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันหมายความว่านายทุนสหรัฐต้องพึ่งรัฐที่มีภาพของความเข้มแข็งมากขึ้น นี่คือสาเหตุที่สหรัฐเพิ่มจำนวนทหารในอัฟกานิสถาน ขยายสงครามสู่ปากีสถานและรักษากำลังทหารไว้ในอิรักเพื่อ "ฝึก" กองทัพอิรัก

.

ในขณะเดียวกันมหาอำนาจอื่นๆ พยายามจะฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของสหรัฐ เช่น จีน ขยายอิทธิพลในอัฟริกาและรัสเซียฟื้นอิทธิพลของตัวเองในอดีตรัฐโซเวียตรอบรัสเซีย การที่วิกฤตเศรษฐกิจทำลายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในทุกภูมิภาค ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอในเอเชียใต้ เอเชียกลาง ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง หรือในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟริกา  

.
สรุปปัญหาในสังคมไทย

เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลใช้นโยบายที่กระตุ้นกำลังซื้อและปกป้องอาชีพการทำงานของคนธรรมดา และเราต้องย้ำว่าประชาชนไม่ควรจะผู้แบกภาระในการกอบกู้สถานการณ์ เหมือนกับที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40

.

นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนี้ น้อยเกินไป ไม่มีความชัดเจนและไม่ตรงจุดที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพลเมืองส่วนใหญ่ ที่ร้ายกว่านั้นคือรัฐบาลพยายามจะตัดงบประมาณสาธารณสุข และเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับคนจนในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้าบุหรี่ ฯลฯ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลนี้ไม่จริงใจในการกระตุ้นกำลังซื้อและการปกป้องคนจนแต่อย่างใด

.

ที่สำคัญคือเราจะต้องผนวกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปกป้องรายได้และอาชีพของคนจน ไปกับข้อเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เราจะต้องเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและวิกฤตโลกว่าเป็นปัญหาของระบบทุนนิยมทั้งระบบ ที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และเราจะต้องไม่หลงคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ "นายจ้างฉวยโอกาสไล่คนงานออกเท่านั้น" ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น

.

การขอให้รัฐบาลใช้โครงการฝึกฝีมือให้กับคนตกงานจะไม่มีประโยชน์เพราะเขาหางานทำไม่ได้อยู่แล้ว รัฐบาลจะต้องนำภาษีที่มาจากประชาชน มาใช้เพื่อปกป้องงานของเรา โดยการนำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นของรัฐและการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ที่สำคัญประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบภาษีไปใช้ระบบภาษีอัตราก้าวหน้า

.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม