หลัง ประชาธิปัตย์ พลิกขั้วมาเป็นรัฐบาล ได้ฉวยโอกาสหยิบ "นโยบายประชานิยม" มา "โมดิฟาย" ใหม่ จนกลายเป็น "อภิมหาประชานิยม" หวังดึงประชาชน "รากหญ้า" มาเป็นพวก จะเป็นการทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่อ้าง หรือเพื่อหาเสียงล่วงหน้ากันแน่ แต่คนที่ไม่ปลื้มคือ "ชนชั้นกลาง" ที่ต่อต้านนโยบายประชานิยม อภิสิทธิ์จะจัดการอย่างไรเมื่อต้องการหาฐานเสียงใหม่(ที่อาจไม่ได้) แต่อาจเสียฐานเสียงเดิม
ตั้งแต่ "พรรคไทยรักไทย" ประสบความสำเร็จ โดยสามารถเอาชนะใจประชาชนกว่า 19 ล้านเสียง ด้วยการใช้ "นโยบายประชานิยม" จนได้เป็นรัฐบาลนานกว่า 8 ปี |
. |
มาถึงยุคที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ได้พลิกขั้วมาเป็นรัฐบาล จึงไม่แปลกที่จะใช้จังหวะนี้ ฉวยโอกาสหยิบ "นโยบายประชานิยม" ของรัฐบาลเดิม มา "โมดิฟาย" เสียใหม่ จนกลายเป็น "อภิมหาประชานิยม" ฉบับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี |
. |
เป้าหมายหลักของ "โอกาส" ครั้งสำคัญ คือการดึงประชาชนฉบับ "รากหญ้า" ให้มาเป็นพวกเดียวกัน ถือว่าเป็นงานยากสำหรับ "นายกฯมือใหม่" อย่าง "อภิสิทธิ์" |
. |
นอกจาก "วิกฤตเศรษฐกิจโลก" ที่รุมเร้าจน "ฯพณฯ นายกฯ" ออกมายอมรับเองว่า "ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลก จนทำให้อัตราเติบโต จนต้องติดลบเรื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2552" รวมทั้ง ยังมี "วิกฤตการเมือง" ภายในประเทศ คอยป่วนซ้ายปาดขวา ให้ต้องคิดหาวิธีแก้กันตลอดเวลา |
. |
จนประเทศต้องประสบภาวะ "ติดลบ" รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ในที่สุด ไม่พ้นยื่นใบสมัครขอเป็น "ศิษย์อาจารย์กู้" จนฝ่ายค้านต้องยกฉายา "นักสู้กู้สิบทิศ" ให้กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไปครอบครองแล้ว |
. |
แม้ตัวเลข "8 แสนล้านบาท" ที่นำมาใช้ในโครงการ "ไทยเข้มแข็ง 2555" จะเป็นจำนวนเม็ดเงินที่ "นายกฯอภิสิทธิ์" มั่นอกมั่นใจว่าจะพาประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ แต่ก็ไม่มีอะไรมา "รับประกัน" ความเสี่ยงในครั้งนี้ได้ |
. |
หากดู "นโยบายประชานิยม" ที่พรรคประชาธิปัตย์เข็นลงสู่ประชาชนคนทุกระดับ จะเห็นว่าไม่ได้ช่วย "กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ" ได้อย่างที่ควรจะเป็นจริงตามที่ตั้งเป้าไว้...?? |
. |
ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เช็ค 2,000 บาทช่วยชาติ, นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, นโยบายเรียนฟรี 15 ปี, นโยบายเงินอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุข ที่อัดลงไปในระบบ เพื่อกระตุ้นรายจ่ายภาคครัวเรือน ตั้งแต่ชนชั้นกลางไปจนถึงระดับล่าง มาถึงวันนี้ยังไม่มีท่าทีจะกระเตื้องขึ้นมา และยังกระทบต่อ |
. |
จนในที่สุดต้องผุดแคมเปญใหม่ แผนปฏิบัติการ "ไทยเข้มแข็ง 2555" ขึ้นมาขับเคลื่อน โดยเน้น 7 โครงการหลักไม่ว่าจะเป็น 1.การบริหารจัดการน้ำ 2.ระบบขนส่งคมนาคม 3.ปรับปรุงด้านสาธารณสุข 4.พัฒนาการศึกษา 5.การท่องเที่ยวและบริการ 6.การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และ 7.การพัฒนาพื้นที่พิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ |
. |
แม้จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อ "ระบบเศรษฐกิจของประเทศ" แต่ไม่พ้นถูกวิจารณ์ว่า แผนปฏิบัติการเร่งด่วน 8 แสนล้านบาท อาจไม่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แต่กลับไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมเท่านั้น อันมีผลมาจาก "ปฏิบัติการรุมกินโต๊ะ" แบ่งสรรปันเปอร์เซ็นต์กันอิ่มอร่อยกันถ้วนหน้า!! |
. |
ส่วนที่มาของรายได้ "นายกฯมาร์ค" คาดหวังไว้กับ "การจัดเก็บรายได้" โดยเฉพาะบรรดาภาษีบาป เหล้า บุหรี่ แม้จะช่วยให้ภาพรัฐบาลดูดี แต่ในทางกลับกันรายได้ที่เคยได้จาก "ธุรกิจบันเทิงกลางคืน" รวมทั้ง "นักท่องราตรี" ผู้มีรายได้น้อย ที่อาจได้รับผลกระทบ จนไม่กล้าระเริงแสงสีก็เป็นได้ |
. |
ในขณะเดียวกัน "การจัดเก็บภาษีน้ำมัน" ที่ประชาชนคนจนได้รับผลกระทบ แต่การผุดแนวคิดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ที่เบนเข็มพุ่งเป้าไปที่ "คนรวย" ที่อาจจะเป็นการช่วยกระจายรายได้ จากคนรวยมาสู่คนรากหญ้าได้ |
. |
แต่ไม่วายที่ "ประชาธิปัตย์" อาจจะต้องกลับไปตามความคิดเห็นของกลุ่มทุนในสายของตัวเอง และถ้าเมื่อใดที่กลุ่มทุน "เซย์ โน" ก็มีความเป็นไปได้ที่กฎหมายฉบับนี้เป็นอันต้องพับเก็บยาวแน่นอน |
. |
การทำคลอด "นโยบายประชานิยม" ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลผกผันกับ "ฐานเสียง" ก็เป็นได้ เพราะอย่าลืมว่าคะแนนเสียง 12 ล้านที่ประชาธิปัตย์ได้มาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม "ชนชั้นกลาง" ที่ต่อต้านนโยบายประชานิยม ฉะนั้น การอัดเม็ดเงินสู่ระบบ แบบไม่ลืมหูลืมตา โดยการยัดประชานิยมใส่มือประชาชน อาจมีผลในทางกลับกัน |
. |
เมื่อการดำเนินการนโยบายที่รัฐบาลไม่ได้ "ประกันความเสี่ยง" ว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์หรือไม่ ก็แน่นอนว่าพรรคแกนนำอย่าง "ประชาธิปัตย์" อาจพบกับความเสี่ยงเสียเองที่นอกจากจะไม่ได้คะแนนเสียงจากคนระดับรากหญ้าแล้ว เพราะนโยบายไม่โดนใจ ยังอาจจะสูญเสีย "ฐานเสียงเดิม" ชนชั้นกลางถึงสูงที่เคยกาบัตรให้ประชาธิปัตย์ด้วยก็ได้ |
. |
ที่สุดแล้วทางออกของปัญหานี้ อาจจะมาคิดเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมของผู้คนในสังคม ที่จำต้องกระจายความมั่งคั่งจาก "คนรวย" อันเป็นฐานเสียงของพรรคไปสู่ระดับ "รากหญ้า" ฐานเสียงกลุ่มอำนาจเดิม |
. |
แล้วจัดสรรอย่างไรถึงจะเป็นธรรมและปลอดโปร่งจากกระแสคัดค้าน หรือว่า "นายกฯอภิสิทธิ์" ต้องเข็นเรื่องนี้พ่วงไปกับเวทีการปฏิรูปการเมืองในขณะนี้เสียในคราวเดียวกัน? |
. |
ที่มา : มติชนออนไลน์ |