เนื้อหาวันที่ : 2009-05-06 11:15:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1453 views

พพ. เดินหน้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

พพ. เร่งส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ วางเป้าภายในปี 2565 กระตุ้นผู้ประกอบการติดตั้งให้ได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท หวังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดค่าน้ำมัน 1,300 ล้านบาทต่อปี

พพ. เดินหน้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี เร่งส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ วางเป้าภายในปี 2565 กระตุ้นผู้ประกอบการติดตั้งให้ได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 38 ktoe/ปี คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท/ปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 95,000 ตัน/ปี                  

 

นายมานะ นิติกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดสัมมนาโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน (สนับสนุนการจัดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์) ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 

 

นายมานะ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำร้อนในการประกอบกิจกรรมหลายประเภท ได้แก่ใน โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ซึ่งการผลิตน้ำร้อนนั้น สามารถผลิตได้จากการใช้พลังงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้มโดยใช้พลังงานจากก๊าซและไฟฟ้า หรือหากเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่จะใช้หม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

.

ซึ่งวิธีการดังกล่าวโดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำร้อน เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับคุณค่าของพลังงาน โดย พพ. ได้มีการส่งเสริมเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมในการผลิตน้ำร้อน จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผสมกับความร้อนเหลือทิ้ง (waste-heat) ด้วยการนำความร้อนทิ้งจากชุดระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น หรือ ปล่องไอเสีย เป็นต้น                 

.

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานแบบผสมผสาน สามารถลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้า และที่สำคัญคือเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติและพลังงานเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง  

.

ซึ่งที่ผ่านมา (ปี 2551) พพ. ได้ทำการศึกษาและพัฒนาถึงความเป็นไปได้ และทำการออกแบบเบื้องต้นระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่สถานประกอบการไปแล้ว จำนวน 100 แห่ง และได้ให้การสนับสนุนเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน เป็นจำนวน 21 แห่ง

.

รวมพื้นที่ในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนฯ ได้จำนวน 5,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินสนับสนุน 22.5 ล้านบาท(เงินสนับสนุนจาก พพ. 30%ของมูลค่าโครงการทั้งหมด) โดยเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90.3 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลประหยัดเป็นเงิน 22.8 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าการทดแทนน้ำมันได้ 700 ตัน/ปี ลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 1,800 ตัน/ปี 

.

"สำหรับโครงการดังกล่าว พพ. จะมีการสนับสนุนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการติดตั้งแผงรับรังสีดวงอาทิตย์ผลิตน้ำร้อนรวมจำนวน 40,000 ตารางเมตร มีเงินทุนช่วยสนับสนุน 30% และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี พพ. ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ให้สามารถติดตั้งได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 38 ktoe/ปี คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท/ปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 95,000 ตัน/ปี" นายมานะกล่าว