เนื้อหาวันที่ : 2009-05-04 14:27:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1126 views

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์

คลัง เผยภาวะเศรษฐกิจไทยระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 1 พ.ค. 52 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเฉียด 40% ของจีดีพี ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวถ้วนหน้าเฉลี่ยร้อยละ -22.1 ต่อปี ขณะที่ผู้บริโภคต่างโอดครวญกับราคาผัก ผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,598.39 พันล้านบาทหรือร้อยละ 39.93 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 73.77 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เพิ่มขึ้นสุทธิ 78.44 พันล้านบาท จากการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 88.0 พันล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 12.70 พันล้านบาท                          

.

จากการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 8.0 พันล้านบาท และออกพันธบัตรวงเงิน 5.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ (สกุลเงินบาท) ที่ร้อยละ 89.09 และเป็นหนี้ระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) ที่ร้อยละ 92.15  

.

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ  -23.2 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 52 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยหดตัวร้อยละ -22.1 ต่อปี โดยสาเหตุที่การหดตัวมีอัตราที่ลดลงนั้น เป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในหมวดไก่แปรรูป กุ้งและเบียร์ เพิ่มขึ้น

.

ตลอดจนยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่เพิ่มขึ้นในหมวดอิเล็กรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก รวมทั้ง สินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทมีแนวโน้มทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ ปิโตรเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มภาพรวมของผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ            

.

ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กในประเทศเดือน มี.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -11.7 และ -53.2 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 1 ของปี 52 หดตัวร้อยละ -12.5 และ -47.3 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอลงมากส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศให้หดตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กหดตัวลง      

.

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2    

.

เนื่องจากราคาผักและผลไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในช่วงฤดูร้อนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับดัชนีในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี                  

.

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -15.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน (ธ.ค.51-เม.ย.52) โดยมีสาเหตุจากการลดลงของดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก รวมถึงหมวดซีแมนต์หดตัวร้อยละ -36.2 และ -2.4 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงในหมวดเหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณต่างๆ และในหมวดปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป ที่ใช้สำหรับการก่อสร้างเป็นหลักนั้น เป็นไปตามความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างที่ลดลง จากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำให้การลงทุนก่อสร้างภายในประเทศชะลอลงมาก

.

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค.52 เกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากดุลการค้าเกินดุล 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามมูลค่านำเข้าที่ลดลงมากกว่ามูลค่าส่งออก ขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาคเกินดุลเล็กน้อยที่ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้า

.

โดยคาดว่าสาเหตุมาจาก รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวร้อยละ -11.0 ต่อปี ทั้งนี้ไตรมาสที่ 1 ปี 52 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุล 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบริการเกินดุล 1.3  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ                   

.

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 52 มีจำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็นอัตราการหดตัวร้อยละ -11.0 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 52 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 3.7 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -14.7 ต่อปี สาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่สงบ และปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

.
Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินเยนและดอลลาร์ไต้หวันที่อ่อนค่าลง

.

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงค่อนข้างมากหลังจากทางการสหรัฐได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -6.1 (Q-o-Q annualized) ที่แม้ว่าจะหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาด                

.

แต่เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบจะพบว่า ภาคการบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวดีขึ้นมากที่ประมาณร้อยละ 9.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ให้ตลาดและนักเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าภาวะการถดถอยน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วและอาจจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวขี้น                            

.

โดยการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯ ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดมีความมั่นใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (risk appetite) จึงส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินเยนและดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ตามความต้องการที่จะถือเยนและดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ความปลอดภัยสูง (Safe Haven Asset) ลดลง  

.

ในขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ได้รับอานิสงค์จากปัจจัยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีทิศทางที่ดีขึ้นประกอบกับการประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและราคาบ้านในสหราชอนาจักรที่ปรับที่ตัวดีขึ้นได้ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

.

ด้านค่าเงินเยนในฐานะสกุลที่ความปลอดภัยสูง (Safe Haven currency) อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินสกุลอื่นๆ จากตามความต้องการที่จะถือสินทรัพย์ที่ความปลอดภัยสูงที่ลดลงตามความเชื่อมั่นต่อการลงทนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงของตลาดที่เพิ่มขึ้น

.

ด้านสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่นำโดยสกุลเงินวอนและรูปีย์แข็งค่าขึ้นตามแรงซื้อเพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัย risk appetite ข้างต้นประกอบกับค่าเงินวอนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขดุลการค้าในเดือน มี.ค. 52 ที่เกินดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯและตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจของเกาหลีใต้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงที่สุดในรอบ 11 เดือนเช่นกัน 

.

ในขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 และยังคงอยู่ในช่วงระดับ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

.

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์)ณ วันที่ 1 พ.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ1.47 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 1.43 

.

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.9) ยูโร (ร้อยละ 3.8) วอนเกาหลี (ร้อยละ 2.7) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.4) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 1.3) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -2.8) หยวน (ร้อยละ -1.7)ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ -1.6) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ -1.6) และเปโซฟิลิปปินส์(ร้อยละ -0.3) ตามลำดับ

.

Foreign Exchange and Reserves 

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 22 เม.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 120.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวถึงร้อยละ 1.64 และ -1.99       

.

ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน จึงทำให้ ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (17 เม.ย.52) ร้อยละ 0.07 จาก 35.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้   

.
Major Trading Partners’ Economies: This Week

GDP สหรัฐฯไตรมาสแรกปี 52 หดตัวลงร้อยละ -6.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) หรือร้อยละ -2.6 ต่อปี (yoy)หดตัวชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 51 ที่หดตัวถึงร้อยละ -6.3 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้จะเป็นการหดตัวที่รุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

.

ซึ่งในหมวดนี้ การบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 9.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวอย่างรุนแรงที่ร้อยละ -51.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว         

.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนเม.ย.52 อยู่ที่ระดับ 39.2 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26.9 (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.51 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคการเงิน

.

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไข้หวัดเม็กซิโกที่เริ่มลามมาถึงสหรัฐฯ อาจทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.ที่จะประกาศช่วงปลายเดือนหน้าปรับตัวลดลงอีกครั้ง                                    

.

ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน เม.ย.52 อยู่ที่ระดับ 67.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.7 และถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากที่เคยลดลงมา 10 เดือนติดต่อกัน

.

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีฯ เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนไตรมาส 2 ปี 52 น่าจะลดความรุนแรงลง

.

ญี่ปุ่นเผยตัวเลขมูลค่าขายปลีก (Retail Sales) เดือน มี.ค.52 ที่ 11.7 ล้านล้านเยน หดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าราคาถูกลง และมีแนวโน้มที่จะออมเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าประเภทหลักๆ ล้วนลดลงไม่ว่าจะเป็นหมวดเสื้อผ้า รถยนต์ เครื่องจักรกล และเชื้อเพลิงที่ลดลงร้อยละ -5.9 -6.3 -2.1 และ -16.4 ต่อปี ตามลำดับ

.

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย 52 ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.4 จาก 33.8 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าการผลิตเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในภาวะที่หดตัวเนื่องจากดัชนีฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สาเหตุจากอุปสงค์ต่อสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกยังคงอยู่ในภาวะหดตัว 

.

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของฮ่องกงเดือนมี.ค.52 หดตัวร้อยละ -21.1 ต่อปี หดตัวชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ -23.0 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดย re-export ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกรวม หดตัวที่ร้อยละ -20.5 ต่อปี ในขณะที่ domestic export หดตัวถึงร้อยละ-41.1 ต่อปี

.

ในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องโทรคมนาคมและสินค้าอุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ดหดตัวถึงร้อยละ -12.7 -29.3 และ -9.8 ต่อปีตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ หดตัวถึงร้อยละ-19.2 และ -23.3 ต่อปี ตามลำดับ          

.

ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนมี.ค.52 หดตัวที่ร้อยละ -22.7 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี เป็นสัญญาณว่าการ re-export ในอนาคตอาจหดตัวเพิ่มขึ้นโดยดุลการค้าฮ่องกงเดือนมี.ค. 52 ขาดดุลที่ -18.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -23.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

.

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของเกาหลีใต้เดือนเม.ย.52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -19.0 และ -35.6 ต่อปีตามลำดับ หดตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -22.0 และ -35.9 ต่อปี ตามลำดับ (ตัวเลขปรับปรุง) อย่างไรก็ตาม การส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น                           

.

โดยจะเห็นได้จากยอดส่งออกต่อวันทำการในเดือนเม.ย.52 ที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ 1.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.52 ที่ 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดุลการค้าเกาหลีใต้เดือนเม.ย.52 เกินดุลที่ 6.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขปรับปรุง)

.

ธนาคารกลางมาเลเซียและสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเลเซียอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0 โดยให้เหตุผลว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย.51 จากที่ระดับร้อยละ 3.50

.

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ช่วงร้อยละ 0-0.25 ผลจากภาคการเงินที่ยังคงมีปัญหาเรื้อรัง ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

.
ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office