เนื้อหาวันที่ : 2009-05-04 11:51:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1188 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดโรคระบาดส่งผลราคาสินค้าปรับสูงขึ้น แม้เงินเฟ้อติดลบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ยังติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุสินค้าอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท ประชาชนเมินกินหมู เพราะกังวลโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.ยังคงติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แม้จะลดลง 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สังเกตได้ว่าหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ระดับราคาสินค้ามีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง                                  

.

โดยในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นถึง 1% เมื่อเทียบกับ มี.ค. ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาด โดยเป็นผลมาจากสินค้าอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะพืชผักผลไม้เพิ่มขึ้นถึง 6.6% นอกจากนี้ยังมีผลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาในตลาดโลก                                   

.

"ระดับราคาสินค้าจากนี้ไปจะอยู่ในทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีแรงผลักดันจากราคาอาหารสดและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในด้านราคาอาหารสดมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นผลจากปัจจัยด้านสภาพอากาศและเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

สภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะราคาพืชผักน่าจะยังคงมีระดับสูง รวมทั้งทำให้ปศุสัตว์เติบโตได้ช้า จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าปศุสัตว์อาจขยับสูงขึ้น                 

.

อีกทั้งยังมีผลของการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  ทำให้ประชาชนอาจกังวลต่อการบริโภคเนื้อหมูแล้วหันไปบริโภคเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือสัตว์น้ำทดแทน แม้ว่าจะมีการยืนยันทางสาธารณสุขว่าการบริโภคเนื้อหมูไม่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคนี้และยังไม่มีการติดต่อจากหมูสู่คนก็ตาม   

.

ขณะที่หลายประเทศมีการห้ามนำเข้าเนื้อหมู ซึ่งอาจมีผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไก่หรืออาหารทะเลในตลาดต่างประเทศสูงขึ้น และผู้ประกอบการไทยหันไปส่งออกมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้า เช่น ไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วเนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น 

.

ส่วนราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังจากเครื่องชี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำมีสัญญาณบวกที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้    

.

จากทั้งเหตุผลในด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะความต้องการในประเทศจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาด และปัจจัยด้านการเก็งกำไรที่นักลงทุนในตลาดการเงินเริ่มมีความมั่นใจที่จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง รวมถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น 

.

สำหรับราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเท่ากับในปี 51 และโอกาสที่ราคาจะกลับขึ้นไปสู่จุดที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงประมาณเดือน ก.ค.51 ยังต้องใช้เวลาอีกหลายไตรมาส เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 2-3/52 ที่ยังอยู่ในสภาวะถดถอยแต่เป็นการถดถอยที่ชะลอตัวลง ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกอย่างช้าๆ 

.

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 52 จากการคาดการณ์ว่าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าเคยคาดไว้      

.

เนื่องจากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ไปได้เร็วกว่าที่คาด โดยคาดว่าทั้งปี 52 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่  0.0-0.5% จากเดิอยู่ที่ติดลบ 1.0% ถึงบวก 0.5%  ซึ่งป็นอัตราที่ลดลงจาก 5.5% ในปี 51  

.

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5-1.0% จากประมาณการเดิมที่ 0.0-1.0% โดยทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 0.0-3.5% 

.

อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจในปี 52 นี้หดตัวลงมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ อันจะทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีโอกาสหดตัวลงมากขึ้น

.

ดังนั้นการใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัวจึงยังเป็นแนวทางที่จำเป็นในการกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจให้ยังมีแรงขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องนี้ จะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ทางการยังสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้อีก และยังสามารถคงแนวนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปได้ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 52