เนื้อหาวันที่ : 2009-04-28 09:32:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1978 views

เอกชนทุ่มร้อยล้านพัฒนาท่าเรือปัตตานี ตั้งเป้าศูนย์ขนส่งสินค้า-ยางมะตอยแดนใต้

เอส.บี.กรุ๊ป ทุ่มเม็ดเงิน 100 ล้านบาทผุดท่าเทียบเรือพร้อมโกดังสินค้าในท่าเรือปัตตานี หวังเป็นศูนย์กลางการส่งออกทางเรือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางนำเข้ายางมะตอยเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่

ที่มา: Patanipost
27 เมษายน 2552
.

วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซ้ำด้วยปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้การลงทุนหดหาย ธุรกิจน้อยใหญ่กำลังใกล้ตาย ผู้คนเริ่มทยอยตกงาน นั่นเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของประเทศไทย...

.

แต่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่ต้องเผชิญดูจะซ้ำซ้อนกว่านั้น เพราะยังมีสถานการณ์ความไม่สงบคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นไม่ให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย ทั้งๆ ที่ดินแดนแห่งนี้ก็มีศักยภาพไม่ได้ด้อยกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ

.

ทว่าท่ามกลางความมืด ก็อาจจะไม่ได้มืดมิดเสียทีเดียว หลายๆ ครั้งยังมีแสงสว่างลอดลงมาบ้างเหมือนกัน อย่างเช่นล่าสุดที่ปัตตานี กำลังมีกลุ่มธุรกิจเอกชนรายใหญ่ขอเช่าท่าเทียบเรือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (อบจ.ปัตตานี) เพื่อทำศูนย์กลางยางมะตอยและเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมหาศาลอย่างที่ผ่านมา

.

ข่าวกลุ่มบริษัทในเครือ เอส.บี.กรุ๊ป ทุ่มเม็ดเงิน 100 ล้านบาทผุดท่าเทียบเรือพร้อมโกดังสินค้าในท่าเรือปัตตานี หวังเป็นศูนย์กลางการส่งออกทางเรือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางนำเข้ายางมะตอยเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนในดินแดนแห่งนี้คึกคักขึ้นมาไม่น้อย

.

นายสัญญา หลีกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.บี.มารีนโปรดักส์ จำกัด และประธานบริษัทในเครือเอส.บี กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บริษัทขนส่งปฏิเสธที่จะเข้ามาส่งสินค้าในพื้นที่ หรือหากยอมขนส่งสินค้าให้ ก็จะคิดค่าบริการที่แพงมาก 

.

"ที่ทำกันส่วนใหญ่ก็จะทิ้งสินค้าไว้ที่โกดังหาดใหญ่ (จ.สงขลา) แล้วผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ต้องไปขนมาเอง ทำให้ระบบลอจิสติกส์ (ระบบขนส่งสินค้า) ในพื้นที่กลายเป็นอัตพาต ทั้งๆ ที่ปัตตานีมีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ"

.

อย่างไรก็ดี หากหวังจะ "บูม" ธุรกิจการขนส่งสินค้าในพื้นที่ ก็จะติดปัญหาเรื่องท่าเรือเก่าที่ไม่สามารถรองรับปริมาณเรือจำนวนมากได้ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเอส.บี.จึงประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ขอเข้าไปพัฒนาท่าเรือแห่งที่ 2 โดยใช้วิธีเช่าท่าเรือของ อบจ.เพื่อสร้างปัตตานีให้เป็นเมืองท่าสำหรับส่งออกสินค้าจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังจีน เวียดนาม เกาหลี และไต้หวัน โดยไม่ต้องผ่านท่าเรือปีนังของมาเลเซีย

.

"ท่าเรือแห่งใหม่นี้จะเปิดสายการเดินเรือในเดือน เม.ย. โดยเราร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ (ผู้ร่วมลงทุน) กับ คุณสุธรรม ตันไพบูลย์ เจ้าของบริษัทซีทรานซ์ ซึ่งให้บริการเรือเฟอร์รี่อยู่ที่เกาะสมุย (จ.สุราษฎร์ธานี) โดยในระยะเริ่มต้นจะมีเรือขนาด 600 ตัน 2 ลำก่อน ซึ่งจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของสามจังหวัดดีขึ้นในสายตาของนักลงทุนทั่วไป" ประธานบริษัทในเครือเอส.บี.กรุ๊ป ระบุ

.

เขาอธิบายว่า เรือทั้ง 2 ลำจะขนสินค้าจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะประสานกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีสินค้าที่สำคัญๆ เช่น ยางพารา ไม้ยางพารา ปลากระป๋อง เป็นต้น

.

ส่วนเรือขาเข้าจะขนยางมะตอยมากระจายให้กับผู้รับเหมาในพื้นที่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสามจังหวัด เนื่องจากค่าขนส่งจากกรุงเทพฯแพงมาก เชื่อว่ากลุ่มผู้รับเหมาทั้งจาก จ.ยะลา นราธิวาส และปัตตานี จะหันมาใช้บริการกับ เอส.บี.กรุ๊ป มากพอสมควร

.

"งบลงทุนเฟสแรกลงไปแล้ว 10 ล้านบาท โดยในส่วนท่าเรือยาว 100 เมตรเสร็จราว 90% แล้ว และมีเรือขนาด 600 ตันบริการลูกค้าอยู่ ขณะนี้เรากำลังดำเนินการเฟส 2 เพื่อเดินเรือเชื่อมระหว่างปัตตานี-แหลมฉบัง-ขนอม เนื่องจากบริษัทซีทรานส์มีท่าเรืออยู่ที่ขนอม (อำเภอชายทะเลของ จ.นครศรีธรรมราช)"

.

นายสัญญา ยังบอกด้วยว่า ท่าเรือปัตตานีซึ่งเป็นของเอกชนแห่งนี้ สามารถช่วยผู้ประกอบการรายเล็กในพื้นที่ได้มาก เพราะผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในปัจจุบันต้องเจอปัญหาสินค้าไปติดอยู่ที่ปาดังเบซาร์ (ด่านชายแดนที่ อ.สะเดา จ.สงขลา) หรือติดค้างที่ปีนัง บางครั้งไปไม่ทัน ฉะนั้นเมื่อท่าเรือใหม่พร้อม 100% 

.

ก็เชื่อว่าจะรองรับการขนส่งสินค้าเหล่านี้ได้ทั้งหมด ส่วนโครงการในเฟส 2 จะมีโกดังเก็บสินค้าซึ่งสามารถลงตู้คอนเทนเนอร์ได้ 400-500 ตู้ ในเนื้อที่ 16 ไร่ด้วย ขณะนี้มีเรือเครนแล้ว คาดว่าทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท

.

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี กล่าวว่า การตัดสินใจอนุมัติสัญญาเช่าท่าเทียบเรือของ อบจ.เป็นเรื่องที่ต้องผ่านสภา และได้พิจารณาข้อเสนออย่างละเอียดรอบคอบ เบื้องต้นทราบว่าทางเอส.บี.กรุ๊ป จะใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นศูนย์กลางขนส่งยางมะตอยในสามจังหวัด

.

ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการในพื้นที่มีปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะต้องนำยางมะตอยมาจากกรุงเทพ การที่ เอส.บี.กรุ๊ป ทำโครงการนี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ จึงได้อนุมัติสัญญาไปเป็นเวลา 30 ปี

.

"โครงการนี้สอดคล้องกับโครงการของจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมาขุดร่องน้ำบริเวณอ่าวปัตตานี เพื่อให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาจอดเทียบท่าได้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้และลดปัญหาว่างงานในจังหวัดได้มากทีเดียว

.

ทั้งยังลดต้นทุนของผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางต่างๆ ที่ประชาชนยังต้องการอยู่อีกมากด้วย เมื่อผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้ ก็จะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปได้โดยไม่ต้องลดคนงาน สุดท้ายคนในพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์" นายก อบจ.ปัตตานี ระบุ

.
ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการความหวังที่จะปลุกเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักจากความซบเซา...
.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม