เนื้อหาวันที่ : 2009-04-10 11:33:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1300 views

เวทีรมต.คลังอาเซียนหนุนแนวคิด Infrastructure Fund ลุ้น 3 ชาติเข้าร่วม

กรณ์ เผยที่ประชุม รมว.คลังอาเซียน ครั้งที่ 13 ลงมติสนับสนุนจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เสนอจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อบริหารกองทุนที่จะระดมทุนผ่านเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ลุ้นดึงภาคเอกชนในกลุ่มประเทศ +3 เข้าร่วมสมทบ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมรมว.คลังอาเซียน ครั้งที่ 13 มีมติเห็นพ้องสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพียงแต่เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษในลักษณะ SPV (Special Purpose Vehicle) เพื่อบริหารกองทุนที่จะระดมทุนผ่านเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก

.

ซึ่งจะให้กู้กับรัฐบาลของประเทศสมาชิกเพื่อใช้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่าน SPV และการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่อยู่ในกลุ่มประเทศ+3 สามารถส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้                                          

.

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงหลักเกณฑ์ของโครงการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินจาก SPV และการเปิดกว้างของการใช้เงินในโครงการดังกล่าวว่าจะเป็นในรูปแบบใดบ้าง หรือจะเป็นการให้เป็นการเฉพาะโครงการในลักษณะการเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น โครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟ หรือถนน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของอาเซียน 

.

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานของเลขาธิการอาเซียน จัดทำรายละเอียดต่างๆ ตามข้อเสนอดังกล่าวเพื่อนำเสนอในการประชุม รมว.คลังอาเซียนครั้งต่อไปในเดือน ต.ค.52   

.

"ที่ประชุมได้พิจารณาการหาวิธีการเชื่อมโยงศักยภาพของ Infrastructure Fund รวมถึงการหาวิธีการเพื่อให้ทั้ง ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย และไอเอ็มเอฟ เข้ามามีบทบาทเสริม ทั้ง Infrastructure Fund และ มาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่" นายกรณ์ กล่าว 

.

การจัดตั้งกองทุนการเงินอาเซียน วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์อยู่ภายใต้มาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ โดยประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศมีข้อตกลงร่วมกันที่พร้อมใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ(Reserve)สมทบจัดตั้งกองทุนวงเงินรวม 24,000 ล้านดอลลาร์ โดยประเทศอาเซียนขนาดใหญ่ 5 แห่งจะส่งเงินเข้ากองทุนในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของ Reserve เป็นเงินรวมกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประเทศไทย 4,768 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศขนาดเล็ก จะส่งเข้ากองทุนไม่เกิน 5% ของ Reserve 

.

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศ +3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ยังไม่มีข้อสรุปของการส่งเงินเข้าสมทบในกองทุนดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งตามแนวทางในเบื้องต้นกำหนดให้กลุ่มประเทศเหล่านี้จะต้องส่งเงินในสัดส่วน 80% ของวงเงินกองทุน หรือประมาณ 96,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีข้อสรุปในการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 ในเดือน พ.ค. 52                                    

.

รมว.คลัง กล่าวว่า การประชุม รมว.คลังอาเซียนครั้งที่ 13 ได้เสร็จสิ้นลงในวันนี้ โดยประเทศสมาชิกได้หารือถึงความท้าทายของภูมิภาคและการรับมือวิกฤติโลก และตกลงที่จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค และการรวมตลาดทุนเป็นอันดับแรก เพื่อบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ.2015 

.

"ที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมกันดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายขอบเขตการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเมื่อจำเป็น และพร้อมรักษาเสถียรภาพการคลังในระยะปานกลาง และยืนยันข้อตกลงที่จะต่อต้านการปกป้องการค้าและการกีดกันทางการเงินและผลักดันการเปิดเสรีการค้าต่อไป" รมว.คลัง กล่าว 

.

นอกจากนี้ ยังได้มีข้อตกลงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถของระบบระวังภัยของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยจัดตั้ง Strengthening of the Finance and Macroeconomic Surveillance Unit (FMSU) of ASEAN Secretariat เพื่อสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการปฏิบัติการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

.

และมีข้อตกลงที่จะอำนวยความสะดวกในการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะปานกลางและระยะยาว มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศในการระดมทุนและลดความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับสูง

.

โดยประเทศกลุ่มอาเซียนได้ร่วมมือกับ ธนาคารโลก จัดตั้ง Infrastructure Finance Network เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ภายในภูมิภาค พร้อมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิก หาแนวทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภคเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานภูมิภาค