เนื้อหาวันที่ : 2009-04-09 13:34:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1100 views

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.อยู่ที่ 66.0

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประเดือนมี.ค. 52 อยู่ที่ 66.0 ลดลงจากเดือน ก.พ. 52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 66.0 ลดลงจากเดือน ก.พ.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.2                                                                            

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 65.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.3 ดัชนีทุกตัวปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีหลายตัวมีค่าต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี(86 เดือน) เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่แย่ลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลว่าการจ้างงานจะแย่ลง 

.

ปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้น, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดตัวเลขประมาณจีดีพีทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ -2.5%, ความกังวลสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง, ตัวเลขส่งออกในเดือน ก.พ.52 ลดลง 11%, เงินบาทอ่อนค่า และ ความกังวลเรื่องค่าครองชีพจากปัญหาราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง

.

ณะที่ปัจจัยบวกสำหรับเดือนนี้มีเพียงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และการที่รัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ด้วยงบประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้า 

.

"ดัชนีลดลงทุกตัวติดต่อกันมา 2 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.และมี.ค. แสดงให้เห็นว่าช่วงฮันนีมูนของรัฐบาลเริ่มหมดแล้ว จริงๆ ดัชนีน่าจะลดลงไปมากกว่านี้ แต่ได้เช็คช่วยชาติมาเป็นปัจจัยบวกสำคัญ ส่งผลต่อจิตวิทยาเชิงบวกในการเพิ่มการใช้จ่ายให้ผู้บริโภค ในขณะที่เดือนมี.ค.นี้ยังมีปัจจัยลบอยู่มากกว่า" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ 

.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า การบริโภคยังขยายตัวไม่มากนักไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 100 ดังนั้นรัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และควรออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และพยายามทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพื่อผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้        

.

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองในประเทศ แนวโน้มอัตราการว่างงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในเดือนเม.ย. รวมทั้งราคาน้ำมันในประเทศที่ยังทะยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีทิศทางที่เป็นขาลง และในขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยใดที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นขาขึ้นได้

.

"ความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง ตอนนี้ยังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ภาคธุรกิจประสบปัญหายอดขายชะลอลงถึงไตรมาส 3 แต่หากการเมืองนิ่ง และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม สามารถเริ่มโครงการเมกะโปรเจ็กท์ได้ในไตรมาส 4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็อาจจะเงยหัวขึ้นได้" นายธนวรรธน์ ระบุ 

.

พร้อมมองว่า ในปีนี้แรงกระตุ้นของภาครัฐที่อัดฉีดผ่านมาตรการต่างๆ อาจยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคได้เท่าที่ควร ซึ่งต้องอาศัยการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐมาช่วยอีกทาง ตลอดจนการผลักดันโครงการการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ บมจ.ปตท.(PTT) เพื่อช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น

.

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางเจรจากับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะตราบใดที่การเมืองไร้เสถียรภาพจนอาจนำไปสู่การยุบสภาและทำให้ต้องมีรัฐบาลรักษาการณ์ 

.

เมื่อนั้นแล้วนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการขอกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพื่อจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป