เนื้อหาวันที่ : 2009-04-07 13:09:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1206 views

นักเศรษฐศาสตร์คาดกนง.ลดอาร์พี 0.25-0.50% สศค.รับไม่ช่วยกระตุ้นใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่จะประชุมวันที่ 8 เม.ย. นี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25 - 0.50% สอดรับกับการคาดการของนักวิเคราะห์อื่น ๆ ยอมรับการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. อาจไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก แต่มีบทบาทสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจ

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะประชุมวันที่ 8 เม.ย.นี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.50% ซึ่งสอดรับกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อื่นๆ เนื่องจากมองว่าขณะนี้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจ ในช่วงที่นโยบายการคลัง ยังมีข้อจำกัด                                                                               

.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. อาจไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก แต่ถือว่าขณะนี้นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อของการดำเนินนโยบายการคลังที่ต้องรอเวลาการการใช้มาตรการต่างๆ และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งหลังจากนั้นแล้วนโยบายการเงินจะเริ่มลดบทบาทลง 

.

"เป็นไปได้ที่ กนง.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% คงต้องขึ้นอยู่กับการประเมินการปรับตัวเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ว่าจะถดถอยอีกหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็หวังให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ในปีหน้า" นางสาวเกวลิน กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"  

.

ทั้งนี้ คาดว่าจนถึงสิ้นปี 52 ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงสู่ระดับ 0.75-1.0% แต่คงไม่ปรับลดลงจนใกล้ระดับ 0% เหมือนดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ขณะที่ในระยะถัดไปช่วงปลายปี 52 ถึงต้นปี 53 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แม้ไม่ได้เป็นระดับที่รุนแรง แต่จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถปรับลดลงต่ำมากได้อีก 

.

นางสาวเกวลิน กล่าวอีกว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้ อาจทำให้ในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม แต่คงไม่มาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว อาจเป็น Flat Rate สำหรับเงินฝากหลายประเภท และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ยังมีโอกาสปรับลดลงจาก 0.50% เหลือ 0.25% ได้ในอนาคต แต่คงไม่ลงสู่ระดับ 0% 

.

"ยอมรับว่าครั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดอาจจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก่อนนี้ปี 2547 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อยู่ที่ 1% แต่เป็น Flat Rate แต่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ อยู่ที่ 0.75% " นางสาวเกวลิน กล่าว 

.

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เชื่อว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าภายในสิ้นปี 52 ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลงมาอยู่ในระดับ 0.50-1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% 

.

ส่วนในการประชุมครั้งนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตราใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าหากจะให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพก็ควรจะลดลงมากกว่าทื่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อดูแลเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการคลัง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะหดตัว 

 .

"ในความเห็นส่วนตัวมองว่าหากต้องการให้การลดดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพ ควรจะมีการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่มีการรับรู้กันล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์"นายเอกนิติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์" 

 .

นายเอกนิติ กล่าวยอมรับว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อาจไม่ได้มีผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง การลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมาก แต่จะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยของประชาชนและภาคเอกชน

.

ขณะเดียวกันเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรต้องเข้ามาดูแลกลไกดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งด้านเงินกู้และเงินฝากให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น                            

.

ทั้งนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% โดยที่ประเทศต่างๆ ยังคงใช้นโยบายการเงินในการดูแลวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น ในส่วนของไทยจากสมมติฐานของ สศค.คาดว่าภายในสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลงอยู่ระดับ 0.50-1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%

.

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจในอนาคตอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยลดลงอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ดังนั้น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการดำเนินนโยบายการเงินยังมีอีกหลายด้านที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินอ่อนลง หรือนโยบายการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน 

.

"นโยบายการเงินทั่วโลกคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถ้าดอกเบี้ยนโยบายใกล้ 0% ก็ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะใช้ เช่น ญี่ปุ่น ที่มีนโยบายซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน หรือเกาหลีเอง ก็ใช้นโยบายดอกเบี้ยควบคู่กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนของไทยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับ ธปท.และ กนง.ตัดสินใจ"นายเอกนิติ กล่าว