เนื้อหาวันที่ : 2009-04-01 19:13:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1139 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด H1/52 เงินเฟ้อหด 1-1.8% จับตาราคาสินค้า-ศก.โลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดช่วงครึ่งแรกของปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวลงประมาณ 1.0-1.8% และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/52 พาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 52 ลดลง 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าช่วงครึ่งแรกของปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวลงประมาณ 1.0-1.8% และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/52 ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 52 อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงลดลง 1.0% ถึงเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งลดลงจากปี 51 ที่อยู่ในระดับ 5.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่าเฉลี่ยทั้งปี 52 น่าจะยังคงเป็นตัวเลขบวก โดยคาดว่าอยู่ที่ 0.0-1.0% ลดลงจาก 2.4% ในปี 51                

.

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 52 ลดลง 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้ด้านหนึ่งจะเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ลดลง แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์ที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมหดตัวลงตามภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและผู้บริโภคบางกลุ่มมีรายได้ลดลง เห็นได้จากเดือน ก.พ. 52 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงถึง 7.1%             

.

ส่วนด้านราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบเดือน/เดือน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีทิศทางที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าอาหาร และหากไม่รวมผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลภายใต้ 6 มาตรการ 6 เดือน พบว่าอัตราเงินเฟ้อยังเป็นตัวเลขบวก   

.

สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าในเดือนถัดๆ ไป คาดว่าจะยังคงมีแรงผลักดันจากราคาสินค้าอาหารสดและพลังงานที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยอาจจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาพลังงานอาจมีทิศทางที่ผันแปรตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะมีความผันผวนขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสะท้อนว่าตลาดการเงินและเศรษฐกิจของโลกอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพขึ้นแล้วหรือยังคงถดถอยต่อเนื่อง                             

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ควรต้องติดตามในช่วงต่อไป คือ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลัก ๆ โดยเฉพาะสหรัฐและจีน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็นบ้างจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเครื่องชี้ส่วนใหญ่ที่ดีขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าภาคการเงินของสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนตัวไปสู่ความมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายยังไม่ปักใจเชื่อว่าสัญญาณเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปสู่การฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริงในเวลาอันใกล้นี้

.

ขณะที่ราคาและธุรกรรมในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกในขณะนี้มีความสัมพันธ์สูงอย่างมากกับทิศทางตลาดการเงิน ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคการเงินจึงอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ค่อยๆ ขยับขึ้นได้แม้ว่าอุปสงค์ต่อสินค้าเหล่านั้นจะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม

.

แต่จากแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อาจจะสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจจะค่อยๆ ส่งผ่านมาสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภคได้  ในขณะที่ สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงน่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าผู้บริโภคยังไม่สามารถขยับขึ้นได้มากนัก 

.

เศรษฐกิจไทยที่บ่งชี้ถึงการทรุดตัวลงรุนแรงจากการหดตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน  รวมถึงการหดตัวลงรุนแรงต่อเนื่องในภาคการส่งออกแล้ว อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้จมดิ่งลงลึกมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ทางการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้อีก เพื่อเสริมกับมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป