เนื้อหาวันที่ : 2009-03-26 14:39:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3705 views

ทักษิโณมิคส์ ต้นตำหรับประชานิยมของไทยหรือข้อกังขาประชานิยม

"ทักษิโณมิคส์" นั้นเป็นนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยซึ่งบริหารประเทศไทยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 การบริหารประเทศภายใต้การนำของคุณทักษิณ ชินวัตร นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างให้กับประเทศไทย ด้วยรูปแบบการบริหารเศรษฐกิจผสมผสานการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยจากภาวะวิกฤต อีกทั้งออกนโยบายใหม่ ๆ ที่ "ถูกใจ" คนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย ทั้งในเมืองและชนบท จนทำให้ทักษิณเป็นผู้นำที่โดดเด่นและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม

พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้นตำหรับนโยบายแก้จน 

 

รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 3) "Thaksinomics" ข้อกังขาประชานิยม

 

ศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เขียนอยากแนะนำในตอนนี้ คือ "ทักษิโณมิคส์" (Thaksinonomics) ครับ อย่างที่เรารับรู้กันว่า "ทักษิโณมิคส์" นั้นเป็นนโยบายประชานิยม (Populism) ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยซึ่งบริหารประเทศไทยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2544-2549

 

"Thaksinomics" เป็นคำสนธิ (Portmanteau) ระหว่างชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย "Thaksin" กับคำว่า Economics ครับ ซึ่ง Economics หรือ วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายอีก นัยยะคือ "การจัดการครัวเรือน" นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อนำมาสนธิหรือผสมกับชื่อผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้นจึงมีความหมายไปในลักษณะที่ว่าการจัดการเศรษฐกิจในสมัยคุณทักษิณเป็นผู้นำประเทศนั่นเองครับ

 

ในอดีตที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์และสื่อมวลชนมักเรียก "นโยบาย" การบริหารเศรษฐกิจของผู้นำที่โดดเด่นและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมนั้น อาทิ ในสหรัฐอเมริกา คำว่า "นิกสันโนมิคส์" (Nixonomics) ได้กล่าวถึงการบริหารงานเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) "เรแกนโนมิคส์" (Reaganomics) ใช้อธิบายการบริหารเศรษฐกิจสมัยประธานาธิดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ซึ่งเน้นไปที่การลดภาษีธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

 

นอกจากนี้ "คลินโตโนมิคส์" (Clintonomics) ยังถูกนำมาเรียกการบริหารเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) เช่นเดียวกับ "บุชโนมิคส์" (Bushnomics) ที่ใช้เรียกนโยบายเศรษฐกิจสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) และล่าสุด "โอบาโนมิคส์" (Obanomics) กำลังได้รับการจับตามองว่าประธานาธิบดีผิวสีคนแรกนาย "บารัค โอบามา" (Barak Obama) จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงได้หรือไม่

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นชื่อเรียกที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามักใช้เรียกนโยบายการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละสมัยครับ นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วในอังกฤษชื่อของ "แทตเชอร์ลิซึ่ม" (Thatcherism) ได้ถูกนำมาเรียกการบริหารเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงสมัยนางมากาเร็ต แทชเชอร์ (Margaret Thatcher) เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสาระสำคัญของแทตเชอร์ลิซึ่มก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) เพื่อลดขนาดของรัฐบาลลงนั่นเองครับ

 

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ “ทักษิโณมิคส์” นั้นเราควรมาทำความเข้าใจกับ “นโยบายประชานิยม” กันก่อนว่า “ประชานิยม” คืออะไร และทำไมรัฐบาลส่วนใหญ่จึงชอบใช้นโยบายประชานิยมกันนักครับ

 
ประชานิยม สังคมเป็นสุข ??

"ประชานิยม" เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยครับ ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยโรมัน "จูเลียส ซีซาร์" คือ ผู้นำคนแรกที่ทำ "ประชานิยม" ด้วยการสั่งให้เปิดคลังหลวงเอาขนมปังมาแจกจ่ายให้คนยากคนจน สำหรับประชานิยมในโลกตะวันออกอย่าง "จีน" เวลาผลัดเปลี่ยนราชวงศ์นั้น ฮ่องเต้ราชวงศ์ใหม่มักจะลดภาษีให้กับราษฎรเพื่อ "ผูกใจ" ราษฎรไว้ไม่ให้คิดกบฏ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ "ประชานิยม" ด้วยกันทั้งนั้นครับ

 

ดังนั้น คำว่า "ประชานิยม" (Populism) จึงถูกจัดให้เป็นอุดมการณ์และแนวทางทางการเมืองที่มุ่งเน้นไปที่คนยากคนจนเป็นหลักครับ

 

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)
ต้นตำรับประชานิยมของแท้ดั้งเดิม
ในสมัยโรมันซีซาร์เคยสั่งให้เปิดคลังหลวงเอาขนมปังมาแจกคนยากคนจน

 

ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นโยบายประชานิยมได้ถูกเผยแพร่เข้าไปในกลุ่มประเทศโลกที่สามโดยเฉพาะแถบลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการนำนโยบายประชานิยมมาใช้นั้นกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงครับ

 

คราวนี้มาดูคำว่า "นโยบายประชานิยม" กันบ้างครับ นโยบายประชานิยม (Populism Policy) คือ นโยบายที่สนับสนุนประชาชนคนยากจนเป็นหลักเพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลหรือเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคมารองรับแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เองนโยบายประชานิยมจึงเป็นที่ "ถูกอกถูกใจ" มากกว่า "ถูกต้องตามหลักการ" ครับ

 

นโยบายประชานิยมแตกต่างจากการใช้ “นโยบายการคลัง”ทั่วไป (Fiscal Policy) นะครับ เพราะนโยบายการคลังจะถูกนำมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เช่น ช่วงใดที่เศรษฐกิจถดถอย (Recession) รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) ด้วยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมไปถึงลดภาษีเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากช่วงใดที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป (Overheat) จนอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ยากจะควบคุม รัฐบาลจำเป็นต้องแตะเบรกด้วยการใช้นโยบายการคลังหดตัว (Contractionary Fiscal Policy) ด้วยการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายภาครัฐลง

 

จะเห็นได้ว่านโยบายประชานิยมนั้นมีความแตกต่างกับนโยบายการคลังตรงที่วัตถุประสงค์ในการใช้ครับ นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายที่มุ่งเอาอกเอาใจและสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลักจนบางครั้งดูจะไม่สมเหตุสมผลกับฐานะทางการเงินการคลังของประเทศซึ่งตรงนี้เป็นผลร้ายของนโยบายประชานิยมครับ

 

นายพลฮวน เปรอง
อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนติน่า
ผู้ทำให้ชาวอาร์เจนไตน์เริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม

 

ในช่วงทศวรรษที่ 40 นั้น อาร์เจนติน่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำ "ประชานิยม" มาใช้ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีฮวน เปรอง (Juan Peron) และเปรองนี่เองทำให้ชาวอาร์เจนไตน์เริ่มเสพติดกับนโยบายประชานิยมมาตั้งแต่นั้นครับ อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าอาร์เจนติน่าประสบความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจมาตลอดกว่า 60 ปี ด้วยเหตุผลก็คือ "ประชานิยม" แบบไม่ประมาณตนซึ่งนับเป็น "ภาระ" ของลูกหลานชาวอาร์เจนไตน์ที่ต้องมาแบกรับ "หนี้" ที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

 

ถึงตรงนี้ต้องขออนุญาตแทรกเรื่องการ "ก่อหนี้สาธารณะ" (Public Debt) ไว้นิดนึงครับ โดยหลักการแล้วหากรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวจากการดำเนินนโยบายประชานิยมมากเกินไปแล้ว เมื่อรัฐไม่มีเงินเพียงพอต่อการออกนโยบายประชานิยมใหม่ สิ่งที่ตามคือรัฐต้องก่อหนี้ครับ หนี้ที่ว่านี้เราเรียก "หนี้สาธารณะ"

 

โดยหลักการแล้วการก่อหนี้สาธารณะนั้นควรเป็นการก่อหนี้เพื่อมาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นถัดไป หากการก่อหนี้เป็นไปตามหลักการนี้แล้วจะสอดคล้องกับ “หลักความเป็นธรรม” ในการก่อหนี้ นั่นคือ ก่อหนี้เพื่อทำประโยชน์กับคนรุ่นหลังและคนรุ่นหลังก็ควรรับรับภาระจากประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ

 

แต่การก่อหนี้ไม่ควรก่อเพื่อบริโภคสำหรับคนรุ่นปัจจุบันครับ เพราะถือว่าจะไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นหลังที่ต้องมาแบกรับหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ซึ่งแน่นอนที่สุดหากรัฐไม่สามารถก่อหนี้ได้อีกต่อไปแล้วรัฐก็ต้องเพิ่มการเก็บภาษีในอนาคต

 

ดังนั้นการใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางการเงินการคลังของตัวเองแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการก่อหนี้ครับ และผลของการก่อหนี้ก็คือ "ภาระ" กับลูกหลานเรานั่นเองครับ

 
ทักษิโณมิคส์ (Thaksinomics) ข้อกังขาประชานิยม

การบริหารประเทศของรัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของคุณทักษิณ ชินวัตร นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างให้กับประเทศไทยนะครับ 

 

ในแง่การเมืองแล้วรัฐบาลไทยรักไทยได้รับอานิสงค์จากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 จนทำให้มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศอย่างมั่นคงตลอดช่วงเวลา 5 ปี (2544-2549) สำหรับในแง่เศรษฐกิจนั้นรัฐบาลไทยรักไทยมีส่วนทำให้ประเทศไทยฟื้นกลับมาอีกครั้งจากการใช้ "นโยบายประชานิยม" ครับ

 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งวิกฤตครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ  ในเวลาต่อมารัฐบาลประชาธิปัตย์ได้เข้าบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลความหวังใหม่ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ (2540-2544) ได้พยายามประคับประคองประเทศด้วยการสร้างเสถียรภาพของภาคการเงินเป็นอันดับแรกก่อน

 

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลไทยรักไทยเข้ารับงานต่อจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายของภาครัฐบาลและสร้างรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางเงินเมื่อปี พ.ศ.2540

 

นักเศรษฐศาสตร์ไทยวิเคราะห์ว่าทักษิโณมิคส์นั้นเป็นการเน้นบทบาทของภาครัฐด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดทุกระดับตลอดจนมุ่งเน้นนโยบายการคลังมากกว่านโยบายการเงิน ผลดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลมีปริมาณสูงทั้งในรูปของเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินนอกงบประมาณที่ผ่านรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมของประเทศ (Aggregate Demand) เพื่อให้ได้อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

 

การกระตุ้นเศรษฐกิจของทักษิโณมิคส์ได้ใช้แนวทางการกระตุ้นไปพร้อม ๆ กัน 2 แนวทาง คือ กระตุ้นจากภายนอกและกระตุ้นจากข้างใน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dual Track Policy ครับ แนวทางแรกนั้นเป็นการกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวรวมไปถึงดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่แนวทางที่สองเป็นการกระตุ้นจากข้างในโดยเน้นการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของคนยากจน (คนกลุ่มรากหญ้า) ซึ่งเน้นไปที่เกษตรกร มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 

 

อาจกล่าวได้ว่า "ทักษิโณมิคส์" มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่งโดยมีรัฐเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้น แม้ว่าโดยหลักการแล้วไอเดียของทักษิโณมิคส์ดูจะน่าชื่นชมแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายประชานิยมแบบทักษิโณมิคส์ย่อมต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคตหากประเทศเราไม่สามารถหารายได้มาชดเชยกับงบประมาณรายจ่ายเหล่านั้นได้ทัน

 

ทักษิณ ชินวัตร
เจ้าตำรับ "ทักษิโณมิคส์"

 .

นโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทยนั้นเน้นไปที่กลุ่มชนชั้นคนจนในชนบทและ คนจนเมืองซึ่งจัดอยู่ใน "กลุ่มชนชั้นล่าง ของสังคมไทยครับ ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางก็ได้รับอานิสงค์บ้างจากทักษิโณมิคส์ 

 .

นโยบายที่โดนใจผู้คนส่วนใหญ่ คือ กองทุนหมู่บ้านละล้าน พักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน บ้านเอื้ออาทร SMEs&OTOP แปลงสินทรัพย์เป็นทุน รวมไปถึงสามสิบบาทรักษาทุกโรคครับ

 .

นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้เป็นนโยบายใหม่สำหรับสังคมไทยทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลทุกสมัยมักดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยมุ่งไปที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงไม่ได้เล่นเป็น “ผู้นำ” ในการบริหารเศรษฐกิจแต่อย่างใด

 .

แต่สำหรับ "ทักษิโณมิคส์" แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยได้ผสมผสานการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยจากภาวะวิกฤตอีกทั้งออกนโยบายใหม่ ๆ ที่ "ถูกใจ" คนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยนั่นคือกลุ่มคนจนทั้งในเมืองและชนบท

.

แม้ว่า "ทักษิโณมิคส์" จะไม่ได้แตกต่างจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดของเคนส์ (Keynesian) ที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐมีบทบาทในการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของประเทศ แต่สิ่งที่ทักษิโณมิคส์เพิ่มไปมากกว่านั้น คือ การเพิ่มบทบาทของรัฐในแง่ของการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) ให้กับประชาชน

.

ในการประชุมเอเปค (APEC) ที่กรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2546 นั้นประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย่ ของฟิลิปปินส์ได้เรียกแนวคิดประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทยว่า “ทักษิโณมิคส์” ซึ่งทำให้ “ทักษิโณมิคส์” กลายเป็นที่ติดปากของคนทั่วไปตั้งแต่นั้นมาครับ

.

ในทางวิชาการ "ทักษิโณมิคส์" ยังมีข้อกังขาอยู่หลายประการนะครับ โดยเฉพาะงบประมาณที่นำมาใช้ในนโยบายประชานิยมและการก่อหนี้นอกงบประมาณ แม้ว่า "ประชานิยม" จะได้กลายเป็นแนวทางหลักของพรรคการเมืองไทยในยุคถัดมาซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องเสพติดประชานิยมเหมือนที่คนอาเจนไตน์เคยเสพติดมาแล้วก็ได้นะครับ… พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารและภาพประกอบการเขียน www.wikipedia.org