เนื้อหาวันที่ : 2009-03-17 12:22:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3856 views

Chindia ขั้วอำนาจใหม่แห่งศตวรรษ

เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจโลกเผชิญหน้ากับฟองสบู่ในธุรกิจดอทคอม ขณะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาภัยคุกคามแบบใหม่ที่เรียกว่า "การก่อการร้ายสากล" ภายใต้การนำของ "กลุ่มอัลเควด้า" ของ นายโอซามา บิน ลาเดน ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลอเมริกันของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จึงเริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบ "เหยี่ยว" ใช้กองทัพสหรัฐเข้าปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายโดยเริ่มจากการโค่นล้ม "รัฐบาลตอลีบัน" ในอัฟกานิสถานตามมาด้วยทำลายล้างรัฐบาลของ "ซัดดัม ฮุสเซน" ที่ครองอำนาจในอิรักมายาวนานกว่า 25 ปี :รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 2)

เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจโลกเผชิญหน้ากับฟองสบู่ในธุรกิจดอทคอมหรือ Dot-Com Bubble ตามที่ผู้เขียนได้เล่าไว้ในฉบับที่แล้ว ขณะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาภัยคุกคามแบบใหม่ที่เรียกว่า "การก่อการร้ายสากล" (Terrorism) ภายใต้การนำของ "กลุ่มอัลเควด้า" (Al Qaeda) ของ นายโอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden)

 

ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลอเมริกันของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) จึงเริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบ "เหยี่ยว" กล่าวคือ กองทัพสหรัฐเข้าปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายโดยเริ่มจากการโค่นล้ม "รัฐบาลตอลีบัน" ในอัฟกานิสถานตามมาด้วยทำลายล้างรัฐบาลของ "ซัดดัม ฮุสเซน" ที่ครองอำนาจในอิรักมายาวนานกว่า 25 ปี

 

การก่อสงครามของ "บุช" นั้นได้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลในการพัฒนากองทัพและต้องส่งกองกำลังไปยังต่างแดนซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยประชาชนชาวอเมริกันแทบจะไม่ได้อะไรเลย หันมาพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจกันบ้างครับ ด้วยเหตุที่สหรัฐอเมริกามัวแต่วุ่นวายกับการทำสงคราม

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นประเทศยักษ์หลับอย่าง "จีนและอินเดีย" กำลังเร่งสปีดการพัฒนาโดยทั้งสองประเทศอาศัยจุดแข็งของตัวเองนั่นคือ "ประชากร" ที่มีจำนวนมหาศาลครับ

 
Chindia: China+India ขั้วอำนาจใหม่แห่งศตวรรษ

"เติ้ง เสี่ยว ผิง" ได้ทำให้จีนก้าวกลับมายืนบนเวทีโลกได้เต็มภาคภูมิด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ "สังคมนิยมแบบตลาด" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นโยบายสี่ทันสมัย" เติ้งมองเห็นจุดอ่อนของลัทธิสังคมนิยมแบบสุดขั้วซึ่งขัดกับ “สัญชาตญาณทางเศรษฐกิจ” ของมนุษย์ที่มุ่งหวังผลตอบแทนจากการทำงานแบบ "ใครทำใครได้" ด้วยเหตุนี้ทำให้เติ้งเริ่มมองว่า "โครงสร้างเศรษฐกิจ" ของจีนควรได้รับการปรับปรุงใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป

 

อย่างไรก็ดีคนที่อยู่เบื้องหลังแนวนโยบายสังคมนิยมแบบตลาด คือ นักเศรษฐศาสตร์จีนนามว่า "หวู จิงเหลียน" (Wu Jinglian) ครับ หวู จิงเหลียน หรือ "โปรเฟสเซอร์หวู" นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีนที่พยายามผสมผสานวิธีคิดแบบทุนนิยมและสังคมนิยมให้เข้ากันกับระบบเศรษฐกิจจีนจนทำให้มีคนจีนเรียกระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาดนี้ว่า Wu Shichang หรือ "ตลาดของหวู" (Wu Market) ครับ

 

 

หวู จิงเหลียน
(Wu Jinglian)
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสังคมนิยมแบบตลาดของจีน

 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในเอเชียเมื่อปี ค.ศ.1997 จีนซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็น "หัวเรือใหญ่" ของภูมิภาคเอเชียแทนที่ "ญี่ปุ่น" นอกจากนี้การที่จีนสามารถผลิตสินค้าและบริการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทำให้จีนสามารถสะสม "ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ" ได้เป็นจำนวนมากจนปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่สะสมทุนสำรองไว้มากที่สุดในโลกซึ่งการันตีความน่าเชื่อถือของ "เงินหยวน" ได้ดียิ่ง

 

การปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ประชากรจีนสามารถก้าวพ้นจากภาวะความยากจนได้ในเวลาไม่นานเนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอย่าง "เหมาอิสม์" (Maoist) ไม่ได้ช่วยให้ชาวจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแต่อย่างใดซ้ำยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและอดอยากมากขึ้น

 

ปัจจุบันจีนนับเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนะครับโดยล่าสุดตัวเลขขนาดเศรษฐกิจจีนได้แซง “เยอรมนี” ขึ้นไปครองอันดับสามของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

 

แม้ว่าจีนจะเดินหน้าเต็มตัวเข้าสู่การเป็นประเทศ "ทุนนิยม" ซึ่งจีนอ้างว่าเป็น "สังคมนิยมแบบตลาด" นั้น จีนต้องเผชิญปัญหาผลพวงจากการพัฒนาหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเจริญเติบโตแบบไม่สมดุล" (Unbalance Growth) กล่าวคือ การที่ภาคเมืองและภาคชนบทมีช่องว่างทางรายได้สูงมากทำให้เกิดอัตราการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดจีนอาจต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่มีปัญหา "ทวิลักษณ์" (Dualism) ในการพัฒนา

 

คราวนี้หันกลับมามองที่ "อินเดีย" กันบ้างครับ อินเดียนับเป็นแหล่งอารยธรรมและศูนย์กลางความรู้วิทยาการต่าง ๆ ของโลก อย่างไรก็ตามการที่อินเดียกลายเป็น "อาณานิคม" ของอังกฤษทำให้การพัฒนาอินเดียเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในฐานะ "เมืองขึ้น" ที่มีหน้าที่ป้อนทรัพยากรราคาถูกให้กับประเทศ "เมืองแม่" และเป็นแหล่งรองรับสินค้าส่วนเกินที่เมืองแม่ส่งออกมาขาย

 

ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ.1947 อินเดียได้เริ่มต้นพัฒนาประเทศตามแนวทางของตัวเองไม่ว่าจะเริ่มใช้แนวคิดของท่าน "มหาตมะ คานธี" หรือ Ghandian Economics ซึ่งเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญภายใต้ความเท่าเทียมกันของคนอินเดียโดยรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอินเดียให้เท่าเทียมกันนอกจากนี้รัฐจะต้องลดราคาสินค้าจำเป็นและขึ้นราคาสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อทำให้คนอินเดียทั้งหมดมีความเสมอภาคกันถ้วนหน้า

 

แม้ว่าแนวคิดของท่านมหาตมะ คานธี จะยึดมั่นที่การกระจายรายได้และขยายโอกาสของคนอินเดียให้เท่าเทียมกัน แต่อย่างไรก็ตาม "อินเดีย" มีปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังเกินกว่าที่จะเลือกเดินตามแนวคิดของท่านมหาตมะได้ ดังนั้นเมื่ออินเดียได้รับเอกราชสมบูรณ์แล้ว อินเดียต้องเผชิญความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม ทำให้ชาวมุสลิมแยกตัวออกไปตั้งประเทศปากีสถาน ขณะเดียวกันการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของเหล่านักการเมืองอินเดียและการคอร์รัปชั่นที่มีทั่วหัวระแหงทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ "ล้าหลัง" และเต็มไปด้วยคนจน

 

อย่างไรก็ตามอินเดียเริ่มมาลืมตาอ้าปากอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 90 ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีหนุ่มนามว่า "ราจีฟ คานธี" (Rajiv Gandhi) ซึ่งเริ่มต้นงานการเมืองต่อจากแม่ คือ นางอินทิรา คานธี (Indhira Gandhi) ที่ถูกลอบสังหาร ราจีฟได้ดำเนินนโยบายผ่อนปรนบทบาทของรัฐทางด้านเศรษฐกิจโดยแต่เดิม "รัฐ" เป็นผู้มีบทบาทควบคุมการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้นนโยบายของราจีฟได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้อินเดียใช้ "ระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี" อย่างเต็มตัวในการพัฒนาประเทศ

 

ต่อมาราจีฟ คานธี ถูกลอบสังหารทำให้ภาระหนักตกอยู่กับ นายนาราสิมหา ราว (Narasimha Rao) "ราว" ได้สานต่อนโยบายของราจีฟ คานธี จนทำให้เศรษฐกิจอินเดียได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจังทั้งนี้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย คือ ดร.มาโมฮานห์ ซิงห์ (Mamohan Singh) ขุนคลังคู่ใจของ "ราว" ซึ่งปัจจุบัน ดร.ซิงห์ ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียและเป็นผู้นำเอเชียที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง

 

ดร.มาโมฮาน ซิงห์
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย
นักเศรษฐศาสตร์และอดีตรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาล "ราว"
ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบบตลาดเสรี

 

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านไปตอนต้นแล้วนะครับว่า ในอดีตทั้งจีนและอินเดียเคยเป็น "มหาอำนาจ" แทบทุกด้าน มาวันนี้ทั้งสองได้กลายเป็น "แกน" หรือ "ขั้ว" เศรษฐกิจใหม่ที่ขึ้นมาเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอียู

 

นอกจากนี้ทั้งจีนและอินเดียถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ "บริคส์" (BRIC; Brazil, Russia, India, and China) ซึ่งประมาณการกันว่าทั้งสี่ประเทศนี้จะกลายมาเป็น "มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่" ในไม่ช้านี้ 

 

แต่อย่างไรก็ตามจีนและอินเดียดูจะได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษจากนักลงทุนทั่วโลกเนื่องจากทั้งสองเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกซึ่งหากบรรษัทข้ามชาติใดสามารถเจาะตลาดของทั้งสองได้นั่นหมายถึง "กำไร" มหาศาลรออยู่ข้างหน้า พร้อมกันนั้นจำนวนประชากรที่มากย่อมทำให้มี "แรงงาน" เหลือเฟือซึ่งนักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะแบกรับเรื่องต้นทุนค่าจ้าง

 

Chindia ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

 
สำหรับคำว่า "Chindia" นั้น เป็นการสนธิคำ (Portmanteau) ระหว่างคำว่า China กับ India ครับ โดยคนที่ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา คือ นาย "ไจราม ราเมช" (Jairam Ramesh) นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียครับ
 

นายไจราม ราเมช (Jairam Ramesh)
นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย
ผู้คิดคำว่า Chindia ขึ้นมาซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจยุคใหม่ที่นำโดยจีนและอินเดีย

 .

"ราเมช" มองเห็นจุดแข็งของทั้งสองประเทศในลักษณะที่จะมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน (Complementary) โดย "ราเมช" เห็นว่าจีนมีความสามารถในการผลิตสินค้าโดยเฉพาะพวกอุตสาหกรรมหนักหรือฮาร์ดแวร์ (Hardware) ทั้งหลายขณะที่อินเดียมีความสามารถในการผลิตบริการและคิดค้นซอฟท์แวร์ (Software) โดยเฉพาะงานทางด้านไอทีซึ่งอินเดียมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

.

"ราเมช" ยังได้ย้อนอดีตไปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเมื่อครั้งที่มีการสร้าง "เส้นทางสายไหม" (Silk Road) ของมาร์โคโปโล นักสำรวจชาวอิตาเลียน เส้นทางสายไหมป็นเส้นทางการค้าอันลือชื่อที่เชื่อมระหว่างยุโรป ผ่านเปอร์เซีย อินเดียโดยมีจุดหมายที่จีน

.

แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันแต่ทั้งสองมีความคิดที่เป็น "รากเหง้า" เดียวกันนั่นคือ ความเป็น "เอเชีย" หรือ "ความเป็นตะวันออก" (Oriental) นั่นเองครับ ซึ่งราเมชมองว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้การจับมือกันระหว่าง "จีนและอินเดีย" สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคเอเชียได้อย่างมาก

.

นอกจากนี้ "จีน" นับว่าเป็นพี่ใหญ่ของประเทศสังคมนิยมในอินโดจีนอย่างเวียดนามและลาว รวมทั้งเป็นที่เกรงอกเกรงใจของรัฐบาลทหารสล็อคของพม่า แถมยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับ สิงค์โปร์ มาเลเซียและประเทศไทยอีกด้วย จีนยังเป็นประเทศที่มีมิตรมากโดยเฉพาะมิตรจากแอฟริกาที่คบกับจีนอย่างจริงใจจนทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เรียก "Shino-African" ขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 แล้วครับ

.
ขณะที่อินเดียเองก็เป็นพี่ใหญ่ใน "เอเชียใต้" และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแม้ว่าจะนับถือคนละศาสนากัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ "ราเมช" มองว่า Chindia มีดีพอที่จะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจในศตวรรษนี้ครับ…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
.
เอกสารประกอบการเขียน
1. Jairam Ramesh. Making Sense of Chindia: Reflections on China and India.
2. ภาพและเอกสารประกอบการเขียนจาก
www.wikipedia.org